เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด

‘สตรอว์เบอร์รีปลูกได้แม้ในอากาศร้อน’ หนึ่งในนวัตกรรมฟื้นฟูความหวังการเกษตรยุคใหม่ จากเวทีเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดฯ ปีที่ 10

อาหารกับความยั่งยืน นับเป็นประเด็นที่ทั่วทั้งโลกต่างให้ความสนใจและตั้งความหวังกันไว้ว่าจะเป็นทางรอดของมวลมนุษยชาติ ในขณะที่เราผ่านยุคที่การบริโภคของเราได้สร้างขยะ มลพิษ และทำร้ายโลกอย่างมหาศาล

เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย ที่แต่เดิมขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรายได้จากการเกษตรเป็นหลัก แม้ปัจจุบันจะหันมาพึ่งพาอุตสาหกรรมเป็นหลักแล้วก็ตาม แต่การเกษตรก็นับว่ายังเป็นตัวแปรสำคัญที่หากมุ่งมั่นพัฒนาโดยใช้องค์ความรู้ควบคู่กับนวัตกรรมรวมทั้งการผสานความร่วมมือ ก็น่าจะเป็นความหวังที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การบริโภคที่สร้างความยั่งยืนได้เช่นกัน

เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด

 

     โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด โดย บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) หนึ่งในโครงการที่ยืนหยัดสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในบ้านเรามาอย่างต่อเนื่อง จนก้าวสู่ปีที่ 10 โดยครั้งนี้ได้ชูแนวคิด ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน’ หนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทำเกษตรแม่นยำและการตลาดออนไลน์ ส่งเสริมการสร้างเครือข่าย เปลี่ยนภูมิทัศน์ภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนปูทางสู่ประเทศไทย 4.0

     สำหรับผลงานที่เข้าตากรรมการจนเอาชนะผู้เข้าประกวดคนอื่นๆ ไปได้มาจากเกษตรกรสาวนามว่า นางสาวพิมพ์วรัตน์ เรืองประชา เกษตรกรไร่สตรอว์เบอร์รี จากจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ปลูกพืชเมืองหนาวในพื้นที่เขตร้อน ทำให้สตรอว์เบอร์รีที่ขึ้นชื่อว่าจะงอกงามเฉพาะในเขตที่มีอากาศหนาวสามารถเติบโตและออกดอกผลที่แสนเอร็ดอร่อยได้แม้ในพื้นที่ร้อนที่สุดเขตหนึ่ง จนชนะใจกรรมการคว้ารางวัลชนะเลิศเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2561 ชูจุดเด่น ‘ความกล้าคิดต่าง สานพลังชุมชน ฝ่าฟันอุปสรรคด้วยงานวิจัย’

 

เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด

 

สตรอว์เบอร์รีที่งอกงามในเขตร้อน

     รางวัลชนะเลิศของเวทีประกวดฯ ในปีนี้เป็นของ นางสาวพิมพ์วรัตน์ เรืองประชา เกษตรกรผู้ทำให้การปลูกสตรอว์เบอร์รีในเขตร้อนที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำได้จนสร้างความทึ่งให้กับใครหลายๆ คน เธอคือผู้บุกเบิกการปลูกพืชเมืองหนาวอย่าง ‘สตรอว์เบอร์รี’ และ ‘หม่อน’ ในพื้นที่เขตร้อนอย่างจังหวัดสุพรรณบุรี บ้านเกิดของเธอเอง

     ความสำเร็จนี้เกิดจากการนำเทคโนโลยีและงานวิจัยทางการเกษตรจากสถาบันวิจัยเกษตรดอยปุย มาเอาชนะข้อจำกัดทางธรรมชาติของพืชพันธุ์เมืองหนาว ซึ่งก็ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนในชุมชนพื้นที่แถมยังเป็นเสน่ห์ที่เชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวอยากเข้าไปชมผลงานของเกษตรกรสาวสุดเก่งคนนี้ ทั้งนี้ทางไร่พิมพ์วรัตน์แอบกระซิบมาว่า พวกเขาพร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถี หวังสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน และเป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จากความคิดต่าง

 

เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด

 

มะม่วงแก้วขมิ้นไร้สารเคมี

     สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ตกเป็นของเกษตรกรสาวอีกแล้ว โดยสาวเก่งคนนี้มีนามว่า นางสาวลลิดา คำวิชัย ผู้มีอาชีพเป็นเกษตรกรชาวสวนมะม่วงแห่งจังหวัดสระแก้ว ในนาม ‘ไร่ ณ ชายแดน’ ผู้นำในการรวมกลุ่มและพัฒนาสายพันธุ์มะม่วงแก้วขมิ้นไร้สารเคมี ยึดหลักการตลาดนำการผลิต สร้างความเป็นเอกลักษณ์และสร้างรายได้ให้ชุมชน

 

เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด

 

นาข้าวต้นแบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจร

     นายอาญาสิทธิ์ เหล่าชัย เกษตรกรหนุ่มผู้ความรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ผู้ส่งผืนนาข้าว ‘อารยะฟาร์ม’ เข้าประกวดและเอาชนะใจกรรมการได้ตรงที่เขาเป็นผู้นำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถพลิกฟื้นผืนนาจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำรวมกลุ่มวิสาหกิจผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์ครบวงจรอีกด้วย

 

เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด
เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด

 

รางวัลดีเด่น

สำหรับรางวัลดีเด่นที่คัดสรรไว้ให้เกษตรกรหนุ่มสาวอีก 7 คนนั้น แต่ละโปรเจ็กต์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ดังนี้

     – สุดปราย ที่สวนสุขจรัล สวนมะม่วงแห่งจังหวัดราชบุรี โดยนางสาวกนกวรรณ อรุณคีรีวัฒน์ เกษตรที่รวมกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ในชุมชน พร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน

     – ซูโม่แฟมิลี่ สวนแห่งจังหวัดร้อยเอ็ด โดยนายชยพล สุ่ยหล้า ผู้นำความรู้ในการปลูกถั่วลิสงมาประยุกต์กับเทคโนโลยี พร้อมแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ รวมกลุ่มการผลิต สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในฤดูทำนา

     – บ้านสวนเมลอน แห่งจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยนางสาวปคุณา บุญก่อเกื้อ ผู้เริ่มทำเกษตรจากศูนย์ แต่มีใจรักและต้องการปลูกเมลอนปลอดสารพิษ โดยนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้จนได้ผลผลิตคุณภาพสูง พร้อมกับเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้มาลองลิ้มชิมความหวานของเมลอน

     – สวนมะพร้าวแห่งบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยนายพิทักษ์ พึ่งเดช ผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการแปรรูป รวมทั้งพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอม สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในพื้นที่

     – บุญมาฟาร์ม แห่งจังหวัดพิจิตร โดยนาวสาวศิริพร เอี่ยววงศ์เจริญ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ที่สามารถชูจุดเด่นการทำเกษตรไร้สารเคมีจนสามารถส่งออกสู่ต่างประเทศ พร้อมต่อยอดปลูกสมุนไพรไทยส่งออก

     – ไร่เพื่อคุณ แห่งจังหวัดบุรีรัมย์ โดยนายสุระเทพ สุระสัจจะ ผู้ปลูกพืชผักและผลไม้ปลอดภัย พร้อมเป็นโมเดลต้นแบบขยายสู่ชุมชน รวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชน เป็นผู้นำเครือข่ายสินค้าเกษตรปลอดสารพิษส่งขายตลาดพรีเมียม

     – อดุลย์ คลองหลวง ฟาร์มเห็ด แห่งจังหวัดปทุมธานี โดยนายอดุลย์ วิเชียรชัย ที่เป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรครบวงจร บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ และส่งเสริมเกษตรกรในชุมชน

 


โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด

     เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยดำเนินรอยตามศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ภายใต้แนวคิด ‘ชาติพัฒนาได้ ต้องพัฒนาคน’ เพื่อมุ่งหวังเชิดชูเกษตรกรตัวอย่าง และขยายแนวคิดการเกษตรแบบครบวงจร โดยในปี พ.ศ. 2561 นี้นับเป็นการก้าวสู่ปีที่ 10 แล้ว