TMB HACKATHON 2018

TMB HACKATHON 2018 | ปลดล็อกกระบวนการคิดงานด้วยไอเดียสร้างสรรค์เพื่อการแก้ปัญหาที่เห็นผล

ภายใต้ความกดดันในสมรภูมิแฮกกาธอนตลอด 2 วันเต็ม กลับเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะที่อยู่คู่กับความเข้มข้นในการระดมสมองเพื่อตั้งโจทย์และหาหนทางแก้ปัญหาให้ได้ในเวลาจำกัด ทุกทีมตั้งหน้าตั้งตานำเสนอไอเดียด้วยมุมมองที่หลากหลายจนวินาทีสุดท้าย หนึ่งในผู้เข้าร่วมที่ได้รับความประทับใจจากกิจกรรมดังกล่าวคือ ‘ไมค์’ – ปัณวรรธน์ อินนุรักษ์ Senior Data Scientist – Data Analytics COE ผู้ที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และนำสิ่งที่ได้จากทีเอ็มบีแฮกกาธอนไปปรับใช้กับการทำงานต่อไป

TMB HACKATHON 2018

 

แฮกกาธอน 2018

     เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่าแฮกกาธอนมาโดยตลอด และเห็นว่ามีการจัดงานแฮกกาธอนขึ้นในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสตาร์ทอัพต่างๆ พร้อมโจทย์ที่แตกต่างหลากหลาย โดยนำกระบวนการคิดที่นอกกรอบและรีบจัดการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้เป็นอย่างมาก เมื่อทีเอ็มบีจัด เราจึงเข้าร่วมทันที

 

กระโจนเข้าสู่การแข่งขัน

     เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมแล้ว เพื่อนๆ ก็เกิดความลังเลว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วมในครั้งนี้ หรือสิ่งนี้คือหนึ่งในการทำงานที่จำเป็นต้องเข้าร่วมหรือเปล่า แต่เราก็บอกเพื่อนๆ ว่าอย่างน้อยการเข้าร่วมแข่งขันนี้คือการได้เห็นกระบวนการทำงานรูปแบบใหม่ๆ และเมื่อจบงาน ทุกคนเห็นตรงกันว่าประโยชน์ที่ได้มากเกินกว่าที่คาดคิดไว้

 

TMB HACKATHON 2018

 

เวิร์กช็อปกระบวนการคิดใหม่

     ในช่วงแรกของทีเอ็มบีแฮกกาธอน จะเป็นการเวิร์กช็อปขั้นตอนการตั้งโจทย์ (Problem Statement) หนึ่งวันเต็ม สิ่งที่ได้จากวันแรกๆ คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ อาทิ กระบวนการคิด Design Thinking แนวทางการหาข้อมูลจากการสอบถามความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า (Customer Insights) รวมทั้งวิธีการพิตชิงซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

 

ตั้งโจทย์และระดมสมองแก้ปัญหา

     หลังจากเรียนรู้รูปแบบทุกอย่างแล้ว ก็ได้เวลาลงมือตั้งโจทย์และระดมสมองจากทุกคนในทีมว่า ภายใต้ปัญหาของลูกค้า เราจะสามารถแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง สิ่งที่เราได้ไม่ใช่แค่วิธีการแก้ปัญหา แต่เรายังได้เรียนรู้กระบวนการการทำงานร่วมกันเพื่อเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของลูกค้า นี่คือสิ่งที่ช่วยทำให้เราได้เรียนรู้อย่างแท้จริง

 

TMB HACKATHON 2018

 

ปรับความคิด สร้างการเปลี่ยนแปลง

     ตั้งแต่เวิร์กช็อปวันแรก สู่วันพิตชิงครั้งแรก ไปจนถึงการนำเสนอผลงานรอบสุดท้าย (Final Presentation) ภายใน 48 ชั่วโมง กิจกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน แต่เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราสามารถจัดการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น ช่วยให้เราปรับความคิดตัวเองใหม่ อย่างเรื่องการแก้ปัญหาต่างๆ ของลูกค้า จากเดิมที่เราคิดว่าเป็นเรื่องของ Front Offfiice เช่น พนักงานสาขาหรือมาร์เกตติ้ง ไม่ใช่งานส่วนของ Back Offfiice อย่างเรา แต่การเข้าร่วมแฮกกาธอน ทำให้ความคิดของเราเปลี่ยนไป ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องดูแลลูกค้าโดยตรง แต่เราก็มีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้โดยที่เราแก้ปัญหาเพื่อเอื้อกับคนที่อยู่ Front Offfiice ให้เขานำไปแก้ปัญหาให้ลูกค้าต่อได้ ทำให้เห็นว่าทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเอง

 

ผนวกรวมแนวคิดการทำงานจากคนที่หลากหลาย

     ทีเอ็มบีแฮกกาธอนทำให้เรารู้ว่า กระบวนการทำงานเป็นทีมของเราเองจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย เพราะความคิดที่หลากหลายของแต่ละคนนั้นต่างก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่ไม่เหมือนกัน ทีมเราอาจจะแก้ปัญหาได้เพียงหนึ่งจุดเล็กๆ แต่หากเราตั้งคำถามได้ถูกต้อง ก็จะนำไปสู่การหาคำตอบที่ตอบโจทย์ลูกค้า บวกกับการยอมรับแนวคิดของคนทำงานจากหลายๆ ฝ่าย แล้วนำมาผนวกรวมกัน สิ่งนี้ต่างหากที่จะสามารถแก้ปัญหาของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน

 

ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เปิดโอกาสรับความคิดใหม่

     หลังจากจบงานแฮกกาธอน บวกกับประสบการณ์การทำงานที่เราได้ร่วมกับทีเอ็มบีตลอด 5 ปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของทีเอ็มบีหลายด้าน แต่สิ่งที่เห็นชัดๆ ก็คือรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีลำดับชั้นมากมาย แต่ในปัจจุบันขั้นตอนการทำงาน การประสานงานระหว่างฝ่ายต่างๆ ลื่นไหลมากขึ้น เนื่องจากขั้นตอนการทำงาน รวมทั้งขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้คนรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าเข้าหา รวมทั้งกล้าทำอะไรหลายๆ อย่างได้มากขึ้น และพวกเราสามารถเข้าถึงผู้บริหารระดับสูงเพื่อเสนอแนวคิดใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น