TMB HACKATHON 2018

TMB HACKATHON 2018 | โปรเจ็กต์ระดมสมองประลองไอเดียเพื่อแก้ปัญหาในเวลาที่จำกัด

แนวคิดการจัดกิจกรรมแฮกกาธอน (Hackathon) ในประเทศไทย เริ่มจากวงการดิจิตอลมาสักพักแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ถือเป็นกิจกรรมระดมสมองเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาในเวลาที่จำกัด ซึ่งภายใต้ความกดดันและการแข่งกับเวลานี้จะทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้หลายๆ องค์กรเริ่มนำแนวคิดนี้มาจัดกิจกรรมกับบุคคลภายนอกเพื่อมองหาไอเดียใหม่ๆ และนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน

ด้วยความสดใหม่นี้เองจึงทำให้ กาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี นำแนวคิดแฮกกาธอนมาใช้ในการขับเคลื่อนไอเดียกับคนภายใน ด้วยการจัด TMB HACKATHON 2018 ที่มีความท้าทายและเกิดผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดได้ในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง

TMB HACKATHON 2018

 

ตั้งโจทย์ให้ถูกต้องก่อนลงมือทำ

     แฮกกาธอนของที่อื่นจะมีโจทย์ตั้งต้นเพื่อให้ทุกคนมาร่วมแก้ปัญหา แต่แฮกกาธอนของทีเอ็มบี แต่ละทีมต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งโจทย์ (Problem Statement) ของตนเอง ดังนั้น แต่ละทีมจะต้องทำความเข้าใจปัญหาของลูกค้าในมุมมองที่แตกต่างกัน แฮกกาธอนของทีเอ็มบีจึงมี 9 โจทย์ โดยเราเชื่อว่าการตั้งโจทย์หรือการตั้งคำถามนั้นสำคัญกว่าคำตอบ เพราะหากเราตั้งคำถามไม่ถูกต้อง จะทำให้เราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เท่ากับว่าการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ยังไม่เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

 

ส่งเสริมความร่วมมือรวมพลังระหว่างภายใน

     การตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบจะเกิดขึ้นเพียงลำพังไม่ได้ เราจึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างพนักงานภายในองค์กร เราจะให้หัวหน้าทีมไปหาลูกทีมกันเอง ทุกคนที่มาสมัครแฮกกาธอนเป็นทั้งผู้ที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมและคนที่อยากเรียนรู้เพื่อนำไปใช้จริงในสายงานของตัวเอง

 

ทำงานรวมเป็นทีมโดยไม่แบ่งแยกตำแหน่ง

     ทีมที่เข้าร่วมแฮกกาธอนทั้ง 9 ทีม ประกอบไปด้วยพนักงานจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ ทีมดูแลผลิตภัณฑ์ มาร์เกตติ้ง พนักงานสาขา พนักงานไอที ทีมงานโอเปอเรชัน รวมไปถึงพนักงานระดับผู้บริหาร ทุกคนต้องถอดหัวโขนของตัวเองออกเพื่อช่วยกันตั้งโจทย์และช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าให้ดีที่สุด ภายในเวลาจำกัด

 

TMB HACKATHON 2018

 

ท้าทายฝีมือด้วยการพิตชิง

     ความสนุกและความท้าทายของทั้ง 9 ทีมอยู่ที่การพิตชิง (Pitching) ให้คณะกรรมการฟังว่าแต่ละทีมตั้งโจทย์ได้ถูกต้องหรือไม่ โดยมีผู้บริหารสูงสุดของแต่ละสายงานรวมถึงซีอีโอทั้งหมด 10 ท่าน เป็นคณะกรรมการ แล้วพิตชิงกันว่ากรรมการท่านใดจะเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมไหน ถ้าทีมใดไม่ถูกเลือก ก็ต้องกลับไปตั้งโจทย์กันใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือ ทีมที่ต้องกลับไปตั้งโจทย์กันใหม่นั้น เมื่อกลับมาพิตชิงรอบสองกลับทำได้ดีมาก จนท้ายสุดกลายมาเป็นหนึ่งในทีมที่ชนะ

 

ผลลัพธ์ที่มากกว่างานคือการเชื่อมสัมพันธ์

     เราจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมุ่งเน้นให้เกิดแนวทางการทำงานใหม่ๆ สำหรับคนทำงาน แต่ผลลัพธ์ที่ได้มากไปกว่านั้นก็คือ เราได้เห็นความร่วมมือกันทำงานระหว่างแผนก เพราะในชีวิตการทำงานปกติอาจจะมีการพบปะพูดคุยกันอย่างผิวเผิน แต่วันหนึ่งต้องมากินอยู่หลับนอน และต้องช่วยกันแก้ปัญหา ทำให้เกิดความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น

 

TMB HACKATHON 2018

 

กล้าที่จะทดลองคิดนอกกรอบ

     ทั้ง 9 ทีมมีไอเดียที่ดี หลายทีมมองปัญหาในมุมใหม่ๆ ได้อย่างน่าประหลาดใจ ทำให้เจอแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีคิดที่สร้างสรรค์ การที่ทำออกมาได้ดีนั้นก็เพราะทุกคนกล้าลองผิดลองถูก ตั้งใจทำให้ดีที่สุดโดยไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องดีถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทั้ง 9 ทีมก็ทำได้ดีเกินคาด และยังนำชุดการตั้งคำถามและแก้ปัญหานี้ไปปรับใช้ในงานของตัวเอง

 

ต่อยอดความสำเร็จสู่ EP.2

     เรารู้สึกภูมิใจที่หลังจากจบแฮกกาธอนครั้งแรก พนักงานจากหลายๆ ทีมสนุกกับการนำวิธีคิดนี้ไปใช้ ซึ่งช่วยในการทำงานของพวกเขาได้จริง เพราะนอกจากจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว เรายังคงเห็นความต่อเนื่องของพวกเขาในวันต่อๆ ไปหลังจากจบการแข่งขันด้วย ในขณะที่บางทีมถึงกับอยากให้เราจัด TMB HACKATHON ภาค 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ