“Hate speech is not free speech”
ถึงวันนี้มีใครจดจำข่าวผู้ชายที่ถูกถ่ายรูปบนรถไฟฟ้า ในภาพนั้นเขายืนเล่นมือถือ สวมรองเท้าที่มีรอยเป็นรู พร้อมแคปชันที่ผู้ถ่ายกล่าวไว้ว่า “รองเท้าติดกล้อง ขอให้สาวๆ ระวังตัว” กันได้บ้าง จำได้บ้างไม่ได้บ้าง แน่นอนละ เรื่องราวก็ผ่านมาแล้วเป็นปีๆ เนื้อหาของข่าวว่าอย่างไรนั้นจำไม่ได้ อย่าว่าแต่ให้รื้อความจำเลยว่าเคยฝากความเห็นอะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้นหรือไม่ อาจจะเคยพยักหน้าเออออไปในเชิงต่อว่าผู้ชายคนนั้น อาจจะเคยแชร์ให้เพื่อนดูแล้วก็ลืมมันไป ตื่นมาก็เจอข่าวสารใหม่ให้แชร์วนไปอีกวัน
ความเห็นต่อคนหนึ่งคนในเศษเสี้ยวเวลาที่จำไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ความเห็นที่ไม่ต้องกลั่นกรองอะไรภายใต้คำอธิบายว่าเป็น ‘free speech’ ที่แก้ต่างประนีประนอมต่อ ‘hate speech’ มันไม่น่าจะเป็น ‘เรื่องปกติ’
เวลาผ่านไปร่วมปี ผู้ชายคนนั้นที่เราไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับเขา นอกจากรองเท้าเป็นรู ออกมาเล่าผ่านคลิป ‘คุณเคยเห็นคนตายพูดได้ไหม?!’ (ว่าหลังจากภาพนั้นออกไป เพื่อนหลายคนก็เข้ามาถาม หรือต่อให้ไม่สนิท ก็มีแต่สายตาที่เต็มไปด้วยคำถามว่าเขาทำสิ่งนั้นจริงหรือไม่ ป่วยการที่จะเดินไปอธิบายต่อทุกคู่สายตา ภาพนั้นเป็นภาพจริง แต่คำอธิบายนั้นไม่ใช่ รองเท้าของเขาแค่ขาดเป็นรูจากการทำงานในห้องเครื่อง จนภาพดูเหมือนมีวัตถุกลมๆ เล็กๆ ติดอยู่เมื่อมองจากระยะไกล
เพื่อนของเขาพยักหน้าเชิงเห็นอกเห็นใจ แต่คำอธิบายของเขาต่อเพื่อนในกลุ่มเล็กๆ ไม่มีทางส่งเสียงดังเท่าพลังโทรโข่งขยายเสียงจากการแชร์ ในสังคมที่การแสดงออกซึ่งความเห็นนั้นง่ายเพียงปลายนิ้ว แค่พิมพ์แล้วจากไป ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร
“ขออยู่บ้านคนเดียว ดีกว่าออกไปเจอคนข้างนอก”
เวลาอาจทำให้คนลืมเรื่องราวของเขาไปแล้ว เสียงของเขาราบเรียบทว่ายังสั่นเครือเมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แววตาของเขานั้นแฝงไม่มิดถึงความเคลือบแคลงใจ ราวกับว่าความศรัทธา ไว้ใจในสังคมนั้นหายไปหมด – สังคมที่ครั้งหนึ่งแปะป้ายเรียกเขาว่า ‘ผู้ชายโรคจิต’ ก่อนจะได้รู้จักกัน
มีคนถามว่าทำไมเขาถึงออกมาพูด แทนที่จะปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป เขาบอกว่าเขาไม่ได้เล่าเรื่องของตัวเอง แต่เขาแค่อยากเล่าแทน ‘คนตาย’ คนอื่นในสังคมที่อาจไม่มีแรงมากพอจะขุดหลุมขึ้นมาอธิบายความจริง และปล่อยให้ทั้งความจริง ทั้งตัวตนที่บริสุทธิ์ถูกกลบดินฝังอยู่อย่างนั้น
น้ำเสียงสั่นเครือและสายตาที่เจือความเคลือบแคลงใจ แต่มีความบังคับตัวเองให้เข้มแข็งแฝงอยู่ของเขานั้นทำให้นึกถึง ‘โมนิกา ลูวินสกี’ ในจังหวะที่เธอออกมาจับไมค์ ท่ามกลางความเงียบของคนทั้งฮอลล์ที่รอฟังเสียงของเธอที่เงียบมากว่าสิบปี กับ TED Talks ที่ชื่อว่า ‘ราคาของความอับอาย’ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชีวิตสภาวะตายทั้งเป็นที่เธอเกือบเลือกจะจบชีวิตลงด้วยความตายจริงๆ จากการเป็นเหยื่อ cyberbully คนแรกๆ ของโลก ด้วยอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตในช่วงนั้น ทำให้การรับสารและตอบโต้กับข่าวที่เกิดขึ้นในโลกอีกฟากเกิดขึ้นรวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ความเร็วและความเชื่อมต่อนั้นเพิ่มพลังทวีคูณต่อความเห็นของผู้คน เสียงของแป้นพิมพ์ที่คนทั้งโลกกดลงไปพร้อมกันดังลั่นราวกับเสียงตะโกนใส่หน้าเป็นตราบาปของเธอไปตลอดกาล
ผลจากคดีลือลั่นห้องทำงานประธานาธิบดีในทำเนียบขาว ทำให้ ‘โมนิกา’ หายหน้าไปพักใหญ่ ไม่มีใครได้ยินเรื่องราวของเธอ มีคนบอกว่าเธอเก็บเนื้อเก็บตัวไม่กล้าออกไปไหนอยู่หลายปี หวังจะให้เรื่องเงียบออกไป แต่การเลือกที่จะเงียบดูจะทำให้เสียงนินทานั้นส่งเสียงได้ดังขึ้นจากความเห็นของคนทั้งโลกที่แปะป้ายเธอด้วยมิติเดียว ไม่มีใครรู้จักเธอในมิติอื่นนอกเหนือไปจากความเป็นอดีตเด็กฝึกงานในทำเนียบขาวที่มีข่าวฉาวกับอดีตประธานาธิบดี
กว่าสิบปีที่อยู่กับความกลัวต่อความอับอาย จนหลายครั้งที่เธอคิดว่าการตายไปยังจะง่ายเสียกว่า แต่เวลาและเรื่องราวของ cyberbully ที่เริ่มปรากฏบ่อยขึ้นกับอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตที่มีมากขึ้น เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความเห็น, ข่าวกับคำนินทา, และชีวิตส่วนตัวกับเรื่องสาธารณะที่เริ่มสวนทางกัน ทำให้เธอรู้สึกว่าควรจะต้องกลืนก้อนความกลัว ความรู้สึกผิดนั้นไปด้วยการออกมาทำอะไรสักอย่างให้ถูกต้องแทน
“ถึงเวลาแล้วที่ฉันจะต้องเผาหมวกเบเรต์และชุดเดรสสีน้ำเงินนั่น”
วลีดังที่มีนัยยะถึงการทำลายล้างหลักฐานชิ้นสำคัญที่มัดทั้งตัวเธอ เขา และผลที่ตามมาหลังจากนั้น เป็นเวลานานกว่าสิบปีที่เธอใช้เยียวยาบาดแผล และตัดสินใจออกมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อเขียนตอนจบของชีวิตเธอเอง แม้เรื่องราวกว่าค่อนชีวิตของเธอจะถูกเขียนโดยน้ำหมึกของสื่อและแป้นพิมพ์ของคนทั้งโลกก็ตาม
“ฉันเฝ้าถามตัวเองว่าฉันจะใช้ประโยชน์จากอดีตที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ‘หญิงสาวคนนั้น’ ไม่สามารถออกมาพูดเพื่อปกป้องตัวเธอเองได้ในวันนั้น แต่ฉันในวันนี้อาจช่วยคนที่กำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน หรือจะให้ดีไปกว่านั้นคือระงับเหตุการณ์แบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้
“ถ้าจะมีอะไรที่ฉันได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น มันก็คือความจริงที่ว่า เราไม่สามารถหนีจากความจริงที่เกิดขึ้น และสภาวะไร้พลังที่แท้จริงก็คือการไร้ความสามารถที่จะควบคุมเรื่องราวชีวิตของตัวเอง พลังที่จะเล่าเรื่องราวใหม่ ให้ความหมายกับมันใหม่ หัวเราะไปกับมันเมื่อเวลาผ่านไป”
ทั้ง ‘โมนิกา’ และ ‘ผู้ชายคนนั้น’ ต่างเป็นเหยื่อที่เยียวยาตัวเองจนกลายมาเป็นผู้ส่งเสียงปกป้องแทนผู้อื่น แม้การพูดออกไปจะคล้ายการเปิดแผลเดิมให้ขึ้นมาในความทรงจำอีก แต่เขาเลือกที่จะพูดออกไป ไม่ใช่เพื่อแก้ต่าง ปกป้องตัวเอง หากแต่พูดแทนผู้คนทั้งหลาย, เราทั้งหลาย ที่ต่างเคยบอบช้ำจากเสียงที่ทำลายความเชื่อมั่นในตัวเองนั้น หากแต่เราต้องรอถึงเมื่อไหร่ และจะมีผู้ถูกกระทำอีกเท่าไหร่ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเสียง ‘hate speech’ เหล่านั้นให้กลายเป็นเสียงที่พูดเพื่อผู้อื่นได้
มันไม่มีอะไรปกติเลยในสังคมที่แสวงหาความบันเทิงบนความทรมานใจของผู้อื่น มันเจ็บปวดเกินไป เจ็บปวดจนพวกเขาต้องพูด แม้จะต้องข่มตัวเองไม่ให้เสียงสั่นในขณะพูดออกไป เพื่อไม่ให้หนึ่งนาทีของการแสดงความเห็นชั่วคราวส่งผลกับชีวิตระยะยาวของใครอีกหลายคน