อัมสเตอร์ดัม

City Tales | บราวนีอวกาศ คอฟฟี่ช็อป และกลิ่นกัญชาในพื้นที่เล็กๆ ของเมืองอัมสเตอร์ดัม

‘Ik hou van Holland’ ภาพเสื้อยืดปักตัวอักษร ‘ฉันรักฮอลแลนด์’ วางขายอยู่เต็มถนนสายหลัก, สะพานข้ามคลองเล็กๆ ที่มีอยู่แทบจะทุกๆ กิโลเมตร คอยเชื่อมอาคารหน้าแคบทรงสูงประดับกระจกใสบานกว้าง ซึ่งขนาบระหว่างสองฝั่ง, ปลาแฮร์ริงสดๆ เสิร์ฟคู่กับหัวหอมสับและแตงกวาดอง ล้างปากด้วยของหวานเป็นสตรูปวาฟเฟิลวางบนกาแฟร้อนๆ ข้างในมีซอสคาราเมลไหลเยิ้มไว้ตัดความขม

 

     เมืองแต่ละเมืองนั้น เมื่อนึกถึงคราวใดย่อมมีฉากรูปและรสชาติที่ผุดขึ้นมาในความทรงจำ แต่ประสาทสัมผัสนั้นดูจะทำงานดีเป็นพิเศษในอัมสเตอร์ดัม เมืองที่ฝาก ‘กลิ่น’ เขียวอบอวลในอากาศเจืออยู่ในความทรงจำด้วย

     เพื่อนสาวชาวบราซิลเลียนที่อยู่เนเธอร์แลนด์มานานถามว่า “อยากไป ‘คอฟฟี่ช็อป’ ต่อหรือไม่” หลังจากนั่งคุยกันมาสักพักในคาเฟ่แห่งหนึ่ง

     ฉันตอบกลับไปว่า “ก็นั่งกันอยู่ที่ร้านกาแฟแล้วยังจะไปต่อร้านกาแฟที่ไหนอีก”

     เพื่อนจึงขำออกมาแล้วทำท่าสงสัยว่าฉันไม่รู้จริงๆ หรือแกล้งทำ ก่อนอธิบายว่า ในอัมสเตอร์ดัมนั้น ‘คอฟฟี่ช็อป’ และ ‘คาเฟ่’ ไม่ใช่สถานที่เดียวกัน และที่แน่ๆ คือไม่ได้ไปด้วยจุดประสงค์เดียวกัน พูดจบเท่านั้นสั้นๆ ยังไม่ทันไรเขาก็ลากฉันออกจากร้าน กำชับว่าต้องพาไปดูให้เห็นกับตา เผื่อคราวหน้าใครชวนไปจะได้ไม่พลาด จนต้องมาประหลาดใจทีหลัง

     เราออกจากคาเฟ่นั้นไปที่ตรอกเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในตรอกนั้นเต็มไปด้วย ‘คอฟฟี่ช็อป’ หลายร้าน การตกแต่งแตกต่างกันไป บ้างดิบๆ เท่ๆ ตามพิมพ์นิยมร้านกาแฟร่วมสมัย บ้างเป็นเพียงห้องเล็กๆ คล้ายบาร์ บ้างตกแต่งสีฉูดฉาดราวกับแกลเลอรีงานศิลปะ แต่สิ่งเดียวที่คล้ายกันซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศเฉพาะตัวบางอย่างให้กับตรอกแห่งนี้คือกลิ่นที่แตะจมูกทันทีเมื่อเดินเข้ามา กลิ่นกึ่งดินๆ หวานๆ นวลๆ ไม่ใช่กลิ่นบุหรี่ ไม่เหมือนกลิ่นใดที่คุ้นเคย เป็นกลิ่นเฉพาะตัวที่อธิบายลำบาก แต่ยากที่จะลืมสำหรับใครก็ตามที่ได้กลิ่นนี้

     เพื่อนเดินผ่านร้านต่างๆ ไป แล้วพาไปนั่งในร้านๆ หนึ่งที่บรรยากาศโดยรวมไม่ต่างจากร้านกาแฟทั่วไป ยกเว้นกลิ่นเขียวเฉพาะตัวนั้นซึ่งมาแทนกลิ่นเมล็ดกาแฟคั่วบด เพื่อนพาไปนั่งบนเก้าอี้สตูลสูงติดบาร์ เจ้าของร้านหันมาทักทายอย่างเป็นกันเอง พร้อมยื่นเมนูมาให้ ฉันหยิบเมนูขึ้นมาอ่าน เห็นชื่อเครื่องดื่มที่คุ้นเคย เอสเพรสโซ คาปูชิโน ลาเต้ เป็นกรอบสั้นๆ ส่วนที่เหลือของหน้ากระดาษล้วนเต็มไปด้วยเมนูชื่อประหลาด นอกจากราคาที่เขียนกำกับไว้ตามเมนูทั่วไปแล้วยังมีรายละเอียดอื่นๆ ด้วย ทั้งรสชาติ กลิ่น แหล่งที่มา รวมไปถึง ‘เอฟเฟ็กต์’ ของเมนูนั้นๆ พี่เจ้าของร้านหันมายิ้มเชิงถามว่าพร้อมสั่งหรือยัง ฉันอาจจะใช้เวลานานไปกับการอ่านเมนู จนเพื่อนต้องหันไปบอกเจ้าของร้านว่า “First timer” (ครั้งแรกน่ะ)

     พี่เจ้าของร้านยิ้มและทำมือเป็นทำนองว่าไม่ต้องรีบ พร้อมกำชับว่าถ้าสงสัยหรืออยากให้แนะนำอะไรก็บอกได้ เพื่อนไม่รีรอ สั่งเมนูชื่อประหลาด ‘บราวนีอวกาศ’ แล้วหันมาขำฉันที่ยังนั่งตาเบิกโพลงอ่านเมนูที่อยู่ตรงหน้า ถามว่าเข้าใจความต่างระหว่าง ‘คอฟฟี่ช็อป’ และ ‘คาเฟ่’ หรือยัง ฉันพูดแก้เก้อไปว่า รู้มาก่อนว่ากัญชาถูกกฎหมายในเมืองนี้ แต่ไม่คิดว่ามันจะหาได้ง่ายและหลากหลายขนาดนี้

     เพื่อนส่ายหัวแล้วแก้สิ่งที่ฉันเพิ่งพูดไปว่า “จะใช้คำว่าถูกกฎหมายนั้นก็ไม่ถูก เพราะจริงๆ แล้วยาเสพติดทั้งหลายไม่เคย ‘ถูกกฎหมาย’ ในประเทศเนเธอร์แลนด์”

 

อัมสเตอร์ดัม

 

     ฉันยิ่งสงสัยขึ้นไปใหญ่ กัญชาที่วางขายกระจายทั่วไปมีเมนูหลากหลายเต็มกระดาษขนาดนี้จะไม่ถูกกฎหมายได้ยังไง เพื่อนอธิบายต่อว่า การที่เราเห็นกัญชาขายกันอย่างเปิดเผยนี้ ที่จริงแล้วเป็นหนึ่งใน ‘นโยบายยินยอม’ (tolerant policy) ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ประนีประนอมยอมความให้ผู้มีอายุมากกว่า 18 ปี ถือครอบครองและใช้ ‘ยาเสพติดไม่ร้ายแรง’ (soft drugs) ได้ในปริมาณไม่เกิน 5 กรัม โดย ‘คอฟฟี่ช็อป’ แต่ละแห่งนั้นสามารถถือครอบครองกัญชาได้ในปริมาณสูงสุด 500 กรัมในช่วงเวลาหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวดและชัดเจน

     ถึงแม้จะมีการจำหน่ายกันในที่แจ้งอย่างเปิดเผยก็ไม่ได้หมายความว่า ยาเสพติดนั้น ‘ถูกกฎหมาย’ ในประเทศนี้ เพียงแต่ ‘นโยบายยินยอม’ นั้นจะยอมความถือว่าการครอบครองและใช้ยาเสพติดไม่ร้ายแรงในปริมาณที่กำหนดไว้นั้นเป็นความผิดที่เล็กน้อย จนแทบจะไม่ส่งผลกระทบโดยรวมอะไร แนวคิดเบื้องหลังของนโยบายนี้เชื่อว่าความยืดหยุ่นในกฎระเบียบ ข้อตกลงร่วมนั้นทำให้การหลีกเลี่ยง (ที่จะทำให้การมองเห็น ควบคุมการกระทำผิดยากขึ้นไปอีก) ลดน้อยลง และทำให้เจ้าหน้าที่สามารถหันไปให้ความสำคัญกับการกวดขันการกระทำผิดร้ายแรงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่จะมาใส่ใจตรวจจับการกระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้

     นอกเหนือไปจากเหตุผลเรื่องประโยชน์ของความยืดหยุ่นในนโยบาย และประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่แล้ว เพื่อนตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายนโยบายและพฤติกรรมร่วมของชาวดัตช์ที่สะท้อนถึงแนวคิดพื้นฐานบางอย่างของผู้คนในประเทศนี้ นั่นก็คือการเคารพการตัดสินใจของปัจเจกชน และเชื่อว่าสิทธิในการจะทำสิ่งใดต่อชีวิตหรือร่างกายตัวเองนั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล เช่น การค้าบริการทางเพศตามความสมัครใจ หรือการยุติชีวิตด้วยความยินยอมของผู้ป่วย ฯลฯ ที่รัฐไม่ควรเข้าไปตัดสินแทน ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่เสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของส่วนรวม (เช่น กฎระเบียบในการบริโภคแอลกอฮอล์ หรือการใช้ถนนพื้นที่สาธารณะนั้นดูจะเข้มงวดกว่ามาก) ซึ่งจากสถิติแล้วก็ดูเหมือนว่าความยืดหยุ่นยินยอมของนโยบายนั้นส่งผลดีมากกว่าผลเสียตามสมมติฐานที่ตั้งไว้จริงๆ กับอัตราการใช้ยาเสพติดที่ร้ายแรงหรืออาชญากรรมทางเพศที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เข้มงวดกับกฎระเบียบในประเด็นดังกล่าว

 

อัมสเตอร์ดัม

 

     ในหนังสือ ‘Why the Dutch Are Different’ ผู้เขียนอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะภูมิประเทศที่ส่งผลต่อลักษณะนิสัยและนโยบายสังคมของประเทศเนเธอร์แลนด์เอาไว้ว่า ภูมิประเทศพื้นที่ราบ เต็มไปด้วยแม่น้ำ ลำคลอง ไม่มีพรมแดนปิดกั้นพื้นที่หนึ่งออกจากพื้นที่หนึ่งนั้นทำให้ชาวดัตช์ได้รับอิทธิพลจากธรรมชาติรอบตัวนี้ในเรื่องความเปิดเผย และให้คุณค่าเรื่องความสะอาดโปร่งใสเป็นอย่างมาก (สอดคล้องกับข้อสังเกตว่าอาคารบ้านเรือนของชาวดัตช์นั้นมักใช้หน้าต่างกระจกบานใหญ่ ถูกเช็ดสะอาดใส เหตุผลหลักนั้นไม่ใช่เพื่อให้คนในบ้านมองออกไปข้างนอก แต่เพื่อให้คนข้างนอกมองเห็นบ้านที่เป็นระเบียบเรียบร้อยข้างในได้มากกว่า อีกทั้งคำว่า ‘shoon’ ในภาษาดัตช์ที่แปลว่าสะอาดนั้นยังมีความหมายว่าสวยงามอีกด้วย)

     นอกไปจากนั้น ความหนาแน่นของประชากรในประเทศที่มีพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่นั้นทำให้พวกเขาเรียนรู้เรื่องการประนีประนอมในการใช้ชีวิตร่วมกันมายาวนาน และเห็นพ้องต้องกันว่าการเปิดเผยต่อกันและกันนั้นส่งผลดีต่อพวกเขาโดยรวม เมื่อแต่ละคนรู้หน้า รู้หลังกัน เชื่อใจ ไว้ใจกันได้ และง่ายกว่าที่จะตั้งข้อตกลงยอมรับกันในความผิดเล็กๆ น้อยๆ ดีกว่าปฏิเสธการทำผิดใดๆ แล้วปล่อยให้เป็นความผิดใหญ่โตบานปลาย กลายเป็นพื้นที่สีเทาที่กินวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

 

อัมสเตอร์ดัม

 

     เพื่อนตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เอาเข้าจริงแล้วเธอไม่ค่อยเห็นคนดัตช์หรือชาวดัตช์ที่เธอรู้จัก สนใจที่จะมา ‘คอฟฟี่ช็อป’ พวกนี้เท่าไหร่นัก เพราะหากให้เลือก พวกเขาดูจะใช้เวลาแฮงเอาต์กันในคาเฟ่ที่ขายกาแฟกันจริงๆ มากกว่า ฉันหันไปมองรอบข้างแล้วก็สังเกตว่าคนในร้านนั้นส่วนมากดูจะเป็นนักท่องเที่ยว คนต่างชาติจริงๆ พลันนึกสงสัยในใจว่า พวกเขาต่าง ‘ถูกห้าม’ ในบ้านเมืองของพวกเขา จนต้องมาปลดปล่อยความตื่นเต้นนอกบ้านเมืองตัวเอง ไม่ต่างกับฉันที่อยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่เคยถูกห้ามมาก่อนหรือเปล่า

     “กัญชาก็คงเหมือนสิ่งอื่นในชีวิตที่พอมันหาได้ง่าย เรากลับเฉยๆ กับมัน และใดๆ ก็ตามที่ยิ่งถูกห้าม ก็เหมือนยิ่งถูกยุให้โหยหาถึงสิ่งนั้น” ฉันกล่าวพึมพำออกมา และปฏิเสธบราวนีอีกครึ่งชิ้นในจานที่เพื่อนยื่นคะยั้นคะยอให้กินให้หมด

     บราวนีแห้งๆ รสชาติฝาดๆ ของมันทำให้ฉันอยากกลับไปกินบราวนีฉ่ำเนยช็อกโกแลตข้นๆ คู่กับลาเต้ร้อนๆ สักแก้วมากกว่า เพื่อนระเบิดหัวเราะออกมากับคำกล่าวสรุปและท่าทีของฉัน แล้วบอกว่าอย่าจริงจังมากไปนักเลย ฉันไม่รู้ว่าเพื่อนหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ และคำสรุปของฉันมันน่าขันถึงขั้นต้องระเบิดหัวเราะออกมาขนาดนั้น หรือนั่นคือเอฟเฟ็กต์ของ ‘บราวนีอวกาศ’ ที่กำลังออกฤทธิ์กันแน่