coming of age

City Tales | ภารกิจสิบแปดวัน สิบสามหมูป่า กับช่วงเวลา ‘coming of age’ ของพวกเราทุกคน

ว่ากันว่า เราไม่ได้เติบโตตามอายุที่เพิ่มขึ้นแต่ละปี แต่ชีวิตจะเติบโตขึ้นเมื่อก้าวข้ามผ่านงานยาก ความท้าทายบางอย่างต่างหากที่ทำให้เราก้าวพ้นจากวัยหนึ่งสู่วัยหนึ่ง

มองย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ครั้งแรกที่ได้ยินข่าวเด็กติดถ้ำ ความเห็นและความรู้สึกต่อข่าวในวันนั้นล้วนต่างกันไปในใจแต่ละคน บ้างเป็นห่วง บ้างหวัง บ้างเศร้า บ้างคิดว่านี่ก็เป็นเพียงอีกข่าว ไม่มีใครคิดว่าเพียงไม่กี่สิบวันถัดมา เรื่องราวของสิบสามชีวิต จะกลายเป็นเรื่องราวของคนทั้งโลก และในวันที่พวกเขาออกมา ความรู้สึกหลากหลายที่เคยมีต่อเรื่องราวเหล่านั้นราวกับถูกหล่อหลอมในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน เป็นความปลื้มปีติใจ เป็นความยินดีร่วมกัน – ราวกับว่าภารกิจสิบแปดวันในถ้ำหลวงนั้นเป็นการเดินทางข้ามผ่านมิติกาลเวลา ราวกับว่าสิบสามชีวิตนั้นทำให้เห็นความเป็นฉันในเธอ ความเป็นเธอในฉัน คุณค่าในชีวิตที่เราต่างให้ความสำคัญ

 

เกมชีวิตการเปลี่ยนผ่านวัยเยาว์ของเหล่าหมูป่า

     มีคำแนะนำมากมายจากนักจิตวิทยาเด็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง หรือแม้แต่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ติดเหมือง 69 วันในประเทศชิลี ที่ออกมาให้คำแนะนำในการปฏิบัติต่อเด็กหลังออกจากถ้ำ ในการเยียวยาจิตใจให้กลับมาสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด แต่ไม่ว่าวิธีการจะเป็นเช่นไร เราจะอยากให้พวกเขาเหมือนเดิมแค่ไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่าในใจของพวกเขาในวันที่เข้าถ้ำ และออกจากถ้ำไปนั้นไม่มีทางที่จะกลับไปเหมือนเดิม

     ในชีวิตของเราล้วนต่างผ่าน ‘เกมชีวิต’ ที่เป็นเหมือนด่านทดสอบว่าเราจะข้ามผ่านมันไปได้หรือไม่ ถ้าผ่านมันไปได้ ไม่ถอดใจ ไม่ก่นด่าว่าชะตา ก็เป็นไปได้ว่าเราจะกลายร่างเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่แข็งแรงขึ้น พร้อมเผชิญชีวิตที่เหลือได้แข็งแรงกว่าเคย สำหรับพวกเขาแล้ว ถ้ำหลวง คงเป็นเกมชีวิตด่านโหด ที่พวกเขาเผชิญ ระยะเวลาในถ้ำที่นานชั่วกัลป์ของพวกเขาที่เฝ้ารอคอยความช่วยเหลือ หากนาทีที่ก้าวออกมาแล้ว ช่วงเวลา 18 วันนั้นคงเป็นการเปลี่ยนผ่านของวัยที่เร็วที่สุด เร็วกว่าการที่คนคนหนึ่งต้องใช้เวลาบ่มเพาะการเติบโตเป็นเวลาหลายปีในวิถีปกติ

 

ฐานบัญชาการ การเปลี่ยนผ่านของคนทำงาน

     “ผมดำน้ำ ด้วยความหลงไหล และสงสัยมาตลอดว่าทั้งหมดนี้ทำไปเพื่ออะไร จนกระทั่งสองอาทิตย์ที่ผ่านมา คือคำตอบของทุกอย่างที่ทำมาทั้งชีวิต” คำพูดของนักดำน้ำชาวอังกฤษที่ถูกแชร์ไปทั่วโซเชียลมีเดีย ราวกับว่าคำพูดของเขาพูดแทนเสียงในใจของเราหลายคน กับความเป็นมดงานตัวเล็ก คนทำงานอยู่เบื้องหลัง กองทัพอาสาสมัคร ที่เชื่อมั่นในคุณค่าบางอย่าง ที่ใหญ่เกินกว่าขอบเขตงานของตัวเราเอง ความมุ่งมั่นในกิจกรรมการงานบางอย่างที่อธิบายกับใครไม่ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร หวังเพียงแต่ว่าเมื่อพากเพียรหมั่นทำไปเรื่อยๆ แล้ว ชีวิตจะนำพาปรากฏให้เห็นคุณค่าของการงาน

     มดงานหนึ่งตัวที่เศษน้ำตาลยังหนัก หากมดงานหลายตัวให้แบกก้อนกรวดน้ำตาลหลายก้อนยังไหว ไม่ต่างจากเหตุการณ์คราวนี้ที่ทำให้เราตีความ ‘ผู้นำ’ ในความหมายที่เปลี่ยนไป – เห็นผู้นำในการทำงานร่วมกันเป็นทีม ไม่ใช่ความสำเร็จในฐานะตัวบุคคล – ในยามวิกฤติ ในวันอับชื้นฝนตก เราจะเริ่มเห็นเหล่ามดงานเบื้องหลังที่พร้อมเดินกันออกมาจากโพรง มดงานที่แท้ไม่เสียเวลามาประกาศให้ใครรู้ว่าพวกเขาทำอะไร เพราะหน้างานของพวกเขานั้นเป็นเป้าหมายที่สำคัญเกินกว่าจะเจียดเวลามาป่าวประกาศศักดาความเป็นตัวตน

     เราเห็นว่าผู้นำที่แท้ไม่ใช่ผู้นำที่กุมอำนาจ แต่คือผู้นำที่พร้อมออกรับหน้าด่าน เป็นผู้ประสานงาน เชื่อมต่อบทบาทหลากหลาย ให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เห็นคนเบื้องหลังที่ยอมเสียสละพื้นที่ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เห็นการสละเวลา ทักษะ ความรู้ ความสามารถของผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ เห็นผู้ยอมเสียสละชีวิต และชีวิตที่สละไปนั้นยิ่งเป็นพลังสำคัญให้คนที่ยังอยู่ทำภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้แทนชีวิตที่สละไป ให้ชีวิตที่จากไปได้รู้ว่า ชีวิตนั้นไม่สิ้นเปล่า

 

ทฤษฎี วิธีการใหม่ของชุมชนนานาชาติ ผ่านความร่วมมือ ผ่านจุดร่วมที่มีร่วมกัน

     “ฝรั่งมีอาการ ‘ตื่น’ …ตื่นขึ้นมาจากการเห็นแม่ครัวยืนทำกับข้าวเลี้ยงคน …ตื่นขึ้นมาจากการเห็นชาวนาที่ยอมให้น้ำท่วมเข้าไร่นาของตน” มุมมองจากอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ที่อธิบายว่าทำไมเหตุการณ์นี้ถึงเป็นปรากฏการณ์ต่อนานาชาติ ในวันที่โลกเบนเข็มทิศเข้าหาการใช้หัวคิด ผ่านการแบ่งแยกเป็นฝ่าย – ถ้าเธอได้ ฉันต้องเสีย – ความรู้สึกที่ว่า ฉันอาจเสีย แต่ถ้าเธอได้ เขาได้ สุดท้ายเราจะได้ร่วมกัน ภาพชาวบ้านยอมปล่อยให้น้ำท่วมไร่นา ภาพอาสาสมัครมุสลิมทำอาหารฮาลาลไปให้คนทำงานโดยไม่เกี่ยงว่าคือพุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ ความธรรมดาของความร่วมแรงร่วมใจโดยไม่แบ่งฝ่าย ไม่คิดว่าใครจะได้ใครจะเสีย จึงสั่นสะเทือนไปทั้งใจ ทฤษฎี และวิธีการ

     ในวันที่โลกกระจัดกระจายตามขั้วอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ข่าวสงครามความขัดแย้งเกิดขึ้นในนามของความเชื่อ เศรษฐกิจ อุดมการณ์ แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้คือ ไม่ว่าจะคนใหญ่คนโต นักธุรกิจพันล้าน นักวิทยาศาสตร์ ทหาร ผู้คนจากวงการไหน เราต่างร่วมมือร่วมใจให้กับชีวิตวัยเยาว์ – ชีวิต ที่ไม่มีเส้นแบ่งความเป็นเขา เป็นเรา, คุณค่าในชีวิต ที่เราต่างให้ร่วมกัน

 

สองสิ่งในชีวิตที่เขาว่ากันว่าไร้มูลค่า เพราะมันประเมินค่าไม่ได้ในเชิงมูลค่า คือความรู้ และชีวิต

     หากเป็นเช่นนั้น การปฏิบัติการครั้งนี้ย่อมไม่สามารถพูดได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะมันไม่ได้ ‘คุ้ม’ ในเชิงจุดคุ้มทุนเปรียบเทียบทางมูลค่าใดๆ หากวิกฤติ และการปฏิบัติการร่วมมือกันครั้งนี้นั้นช่างมีคุณค่าไม่ว่าจะมองผ่านมุมไหน ผ่านสายตาของเด็ก คนทำงาน หรือชุมชนนานาชาติ ภารกิจสิบแปดวัน เพื่อสิบสามชีวิตนั้นราวกับการก้าวผ่าน ให้พวกเราเรียนรู้ ปฏิบัติต่อกัน หากชีวิตจะเติบโตขึ้นเมื่อก้าวผ่านงานที่ยาก พวกเราก็คงต่างเติบโต ต่างไปจากเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่แล้ว… ก่อนที่สิบสามคนจะก้าวเท้าเข้าไปในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน