อารยะขัดขืน

City Tales | วัฒนธรรมความกลัว และอารยะขัดขืน (อย่างสร้างสรรค์)

“Look daddy, there are no people on the street, only police.”

เด็กผู้หญิงคนหนึ่งพูดโพล่งขึ้นมาระหว่างรอรถไฟใต้ดิน U-Bahn ในวันที่เมืองใหญ่เป็นอันดับสองของเยอรมนีอย่างฮัมบูร์ก เงียบผิดปกติทั้งใต้ดินและบนถนน ทำให้เสียงเล็กๆ ดังขึ้นมากระทบหู รวมทั้งเสียงไซเรน เสียงเฮลิคอปเตอร์บนท้องฟ้าที่ดังอยู่แล้วก็สั่นโสตประสาทมากไปกว่าเดิม

อารยะขัดขืน

 

     ในที่สุดรถไฟก็มา ความคาดการณ์ไม่ได้ในเรื่องขนส่งสาธารณะดูจะเป็นเรื่องที่ลืมไปแล้วเมื่ออยู่ในเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างฮัมบูร์กนี้ แต่ความเงียบสงัดบนท้องถนน เรียกว่าแทบไม่มีรถยนต์และผู้คนสัญจรในเย็นวันศุกร์แบบนี้ ย่อมไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ไม่ใช่แค่เรื่องการเดินทาง แต่รวมถึงความปลอดภัยด้วย การคาดการณ์ไม่ได้เหล่านี้ดูจะทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนอย่างประหลาด     

     รู้ตัวอีกทีก็พาตัวเองเดินผ่านถนนร้างๆ มาอยู่ในห้องประชุมใหญ่ในมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ห่างเพียงไม่กี่กิโลเมตรจาก Elbphilharmonie หรือสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 เป็นความใกล้ที่ออกจะห่างกันออกไปทั้งวิธีการและทัศนคติ เพราะ ณ หอประชุมแห่งนี้ เวทีถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย มีเพียงโปรเจกเตอร์ขึงผ้าใบใหญ่ให้คนข้างหลังมองเห็นได้ชัด เก้าอี้พลาสติกวางเรียงกันสำหรับผู้ร่วมเสวนาที่อยู่ในชุดเสื้อยืด รองเท้าผ้าใบ ไม่มีสูท ไม่มีพิธีรีตอง มีแต่เพียงเป้าหมายของการที่ทุกคนมาอยู่ตรงนี้ร่วมกันเท่านั้นที่ดูจะสำคัญที่สุดกว่าสิ่งใด

 

อารยะขัดขืน

 

     ‘Constructive Disobedience’ แปลตรงตัวก็คือการขัดขืนอย่างสร้างสรรค์ เป็นคอนเซ็ปต์ที่มีพัฒนาการในความหมายและการประยุกต์ใช้เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและบริบทของสังคมนั้นๆ จากจุดเริ่มต้นของนิยามประชาธิปไตยอันเป็นระบอบการปกครองที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วยความยินยอมพร้อมใจอย่างเสรีของประชาชน (consent of the people) และเมื่อกล่าวกันในทางทฤษฎีแล้ว หากความยินยอมเห็นชอบเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ถูกปกครอง ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิในการคัดค้าน ขัดขืนหากไม่เห็นด้วยกับผู้ปกครองในขอบเขตของการไม่ใช้ความรุนแรงและกระทบต่อสังคมโดยรวม

     อารยะขัดขืน หรือการต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายต่างๆ ที่ประชาชนไม่เห็นชอบในวิธีการหรือเป้าหมาย จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น แต่ ‘Constructive Disobedience’ เสนอว่าเพียงการขัดขืนนั้นยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้ก้าวไปข้างหน้า และหันเหทิศทางของการปกครองนั้นให้เกิดความชอบธรรมได้ จึงจำเป็นที่การขัดขืนนี้ ต้องมาพร้อมกับนำเสนอทางเลือก รวมถึงวิธีการอื่นๆ ให้กับหนทางที่เราขัดขืนนั้นด้วย

     ‘Constructive Disobedience’ ถูกนำมาใช้เป็นสโลแกนของการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษาในฮัมบูร์ก เมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Free and Hanseatic City’ ด้วยความที่เป็นเมืองท่า เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเสรีทั้งการค้าและการเมือง จึงถูกเลือกให้เป็นที่จัดการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศ G20 แต่พลเมืองกลับถูกกีดกันจากการแสดงความเห็น และตั้งข้อสงสัยในการรวมกลุ่มของผู้นำที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยแต่แรก ด้วยท่าทีการวางตนเป็นผู้กำหนดนโยบาย ตัดสินใจประเด็นต่างๆ ของนานาชาติ เป็น ‘ตัวแทน’ พลเมืองโลก ในขณะที่เนื้อหาของการประชุมกลับไม่ได้ถูกใช้เพื่อการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมของโลก หากแต่เป็นไปเพื่อความสนใจเฉพาะกลุ่มใน ‘Club of the Great’ การหารือนี้จึงเกิดขึ้นในวงแคบๆ ไม่ได้ให้พื้นที่แก่ประเทศอื่นๆ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องในประเด็นโลกที่ไร้พรมแดน ข้อตกลงต่างๆ มีท่าทีเป็นไปอย่างลับๆ ไม่เปิดเผยรายละเอียดการพูดคุยต่อสาธารณะ อีกทั้งยังถือโล่ปกป้องตนเองจากการถูกคัดค้าน ต่อต้านจากพลเมืองที่พวกเขาบอกว่ากำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้

 

อารยะขัดขืน

 

     จากความย้อนแยงที่เกิดขึ้นในวิธีการนี้ กลุ่มนักศึกษาจึงกล่าวในห้องประชุมว่า ไม่ว่าความยั่งยืนใดๆ ที่พวกเขาบรรลุได้ในการประชุมครั้งนี้ ก็เท่ากับเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงออกซึ่งความเห็น ในการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างยั่งยืน

     “Our solidarity won’t guarantee any victory at the end of the day, but it is symbolically important and at least we don’t get defeated and surrender to those in power.”

     “การรวมกลุ่มของพวกเราอาจไม่ได้นำมาซึ่งชัยชนะในท้ายที่สุด แต่มันสำคัญในทางสัญลักษณ์ และอย่างน้อยเราก็ไม่ได้ยอมพ่ายแพ้ ยอมจำนนต่ออำนาจ”

     ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งตอบคำถาม หลังมีข้อสงสัยจากเพื่อนนักศึกษาว่า การรวมตัวกันแบบนี้สุดท้ายแล้วมันสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้จริงหรือ

 

อารยะขัดขืน

 

     ในวันที่ความรุนแรงยังคงเป็นจุดสนใจและช่วงชิงพื้นที่สื่อต่างๆ จนเป็นช่องโหว่ที่ทำให้คนบางกลุ่มเล็กๆ เลือกใช้วิถีความรุนแรงในการเรียกร้องความสนใจ และพลอยสร้างความชอบธรรมกลายๆ ให้กับผู้บังคับใช้อำนาจไปด้วยว่าทำไมถึงไม่ควรเปิดพื้นที่ให้เกิดการต่อต้าน หรือการชุมนุมตั้งแต่แรก เรียกว่าไม่เหลือพื้นที่ให้กับผู้คนอีกจำนวนมากที่มารวมตัวกันด้วยเจตนาในการเรียกร้องความยุติธรรม ความโปร่งใส และร่วมออกแบบนำเสนอวิธีทางเลือกของการปกครองที่จะส่งผลต่อชีวิตพวกเขา ไม่ใช่ในฐานะพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ในฐานะพลเมืองของโลกใบเดียวกัน

     แต่ในขณะที่ตัวแทนผู้ชุมนุมกลุ่มนักศึกษากำลังจะเปิดประเด็นถึงวิถีทางเลือกที่พวกเขาต้องการนำเสนอ เสียงไซเรนก็ดังขึ้นทั่วอาคาร ผู้คนเริ่มแตกตื่น ในขณะที่ตัวแทนผู้ชุมนุมบนเวทีลุกขึ้นยืน พูดออกมาด้วยเสียงดังก้องแทนไมค์ที่ถูกปิดไปแล้วว่า ให้ไปรวมตัวกันที่นอกอาคารด้านหน้า แต่ด้วยสายตาแตกตื่นของแต่ละคน และจำนวนผู้คนที่หายไปเกือบครึ่งหลังจากที่เสียงไซเรนดัง มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าวัฒนธรรมแห่งความกลัวนั้นถูกสร้างอย่างไร ได้ผลในการสลายอารยะขัดขืนถึงเพียงใด และเกิดคำถามชวนอึดอัดใจว่าการขัดขืนหรือการยินยอมต่อบรรยากาศแห่งความกลัว แบบไหนที่น่ากลัวกว่ากัน

     “There are no people on the street, only police.”

     เสียงของเด็กผู้หญิงคนนั้นที่เราได้ยินระหว่างทางมาร่วมประชุม ดังก้องขึ้นมาอีกครั้งระหว่างทางเพื่อเดินกลับบ้าน คำพูดจากเสียงเล็กๆ นี้ดูจะดังเกินไปในวันที่ท้องถนนร้างว่างเปล่าไร้ผู้คนในเย็นวันศุกร์กลางเมืองเช่นนี้

 


ข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้จัดงาน และ recommendations ของกลุ่มผู้ประท้วง ‘United instead of G20’ สามารถดูได้ที่ www.gemeinsam-statt.G20.de