โคเปนเฮเกน

City Tales | ฤาความฝันนั้นเป็นเพียงคำนามที่ถูกสงวนไว้สำหรับคนวัยหนุ่มสาวผู้กำลังเติบโต

ภาพของอาคารสีพาสเทลตัดกันตั้งเรียงรายอยู่ข้างท่าเรือเก่าแก่ของโคเปนเฮเกน หนึ่งในนั้นคือบ้านของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ราชาแห่งเทพนิยาย’ อย่าง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) ซึ่งเป็นภาพที่เราเคยเห็นครั้งแรกเมื่อได้รับโปสต์การ์ดจากเพื่อนทางจดหมายชาวเดนิช ในสมัยการเขียน pen pal ยังเป็นที่นิยมสำหรับการใช้หาเพื่อนต่างชาติและฝึกภาษาอังกฤษ

     การที่ได้มานั่งทอดหุ่ยหลังจากตระเวนเดินไปทั่วเมือง และนึกย้อนมองออกไปยังฉากในโปสต์การ์ดที่เคยได้รับวันนั้น มันเป็นความรู้สึกที่ราวกับฝันที่กลายเป็นจริง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะ pen pal ที่เขียนสมัยเด็กนั้น หรือวรรณกรรมเยาวชนจากทั่วโลกที่อ่านเพียงเพราะห้องสมุดมีให้อ่าน ที่ทำให้หนึ่งในความฝันวัยเด็กคือการได้ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ได้เดินทาง เรียนรู้ผู้คน วัฒนธรรม ในวันที่มีเวลาในโลกนี้เป็นจริง หรือเอาเข้าจริงแล้วความฝันที่เกิดขึ้นมันก็เป็นเพียงเพราะว่าฝันนั้นมันมีความเป็นไปได้ เราเลยยังฝันต่อ ไม่รีบดับฝันตั้งแต่นาทีที่ฝัน

 

โคเปนเฮเกน

 

     ‘Do we ever stop dreaming?’ นิทรรศการภาพถ่ายโดย Kim Wrang ที่นำมาจัดแสดงอย่างเรียบง่ายล้อมรอบไซต์ก่อสร้าง ณ สี่แยกกลางใจเมืองโคเปนเฮเกน ถามเราขึ้นมาขณะกำลังเดินอยู่ มีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นหลังหยุดยืนดูภาพที่จัดแสดง ไม่แน่ใจว่าความรู้สึกท่วมท้นเหล่านั้นเกิดจากการที่ความฝันได้กลายเป็นความจริงในเมืองแห่งนี้ หรือมันคือคำถามจากภาพเหล่านั้นที่ทำให้เรารู้สึกกันแน่ 

 

โคเปนเฮเกน   

 

     Kim Wrang เปิดประเด็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุที่โลกปัจจุบันกำลังเผชิญกันอยู่ ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความฝัน’ ไม่ว่าจะเป็นฝันในเรื่องหน้าที่การงาน การเดินทาง ความรัก ความสัมพันธ์ สันติภาพ ฯลฯ ฝันที่เป็นสภาวะของปัจจุบัน ที่ความเป็นไปได้ของมันมักจะผูกติดอยู่กับอนาคต เขาจึงตั้งคำถามว่า หากชีวิตกำลังเดินใกล้มาถึงปลายทาง เราจะยังมีความฝันกันอยู่หรือไม่? เรายังกล้าที่จะฝันกันอยู่หรือไม่ ในวันที่ร่างกายเริ่มอ่อนแอลงไป พร้อมๆ กับความเป็นไปได้ของความฝันที่ลดน้อยถอยลง? 

     ฤาความฝันเป็นเพียงคำนามที่ถูกสงวนไว้สำหรับคนวัยหนุ่มสาวกำลังเติบโต? ฤาความฝันจะถูกจำกัดด้วยกาลเวลา เป็นเรื่องที่ถูกแปลกแยกออกจากชีวิตเมื่อความชรามาเยือน? คำถามที่ถูกเปิดประเด็นผ่านภาพถ่ายพอร์เทรตของผู้สูงอายุ 9 คน ในวัย 75-100 ปี และบันทึกคำตอบของพวกเขาต่อคำถามที่ว่า ‘Do we ever stop dreaming?’

 

โคเปนเฮเกน

 

     “I dream about being able to bid life farewell with a smile and a ‘Thank you’.” –Birgit, 82

     “I dream of living to the very end with dignity. I love living my life, but I don’t want to be here if I’m not well.” –Rudi, 93.

     “I dream about keeping my eyesight, that it won’t get worse, so I can continue to drive around on my scooter. I’m not made for sitting in in a chair and starring at the walls all day long.” –Borge, 96

     “I dream of being 30 years younger so I can follow my great-grandchildren and watch them grow up. They are so beautiful.” –Lydia, 100

 

     เราถามเพื่อนชาวเดนิชว่า ความเชื่อมั่นในสังคม (social trust) ที่ชาวเดนิชมีต่อสังคมตัวเอง จนได้คะแนนสูงลิ่วในตัวชี้วัดอันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Index of Gross National Happiness) นี่มันมาจากไหนกัน เพื่อนยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการเสียภาษีอัตราสูง แต่คนก็ยินดีจ่าย เพราะเห็นในผลลัพธ์ของมันที่สะท้อนออกมาในความเป็นรัฐสวัสดิการที่เสมอภาคสำหรับทุกคน

     ไม่ใช่แค่เพียงผลประโยชน์โดยตรงในด้านการศึกษาหรือการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับผู้เสียภาษีเอง แต่รวมไปถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น เช่น เงินชดเชยให้กับผู้ว่างงาน หรือเด็กจบใหม่ เพื่อนอธิบายต่อหลังเห็นสายตาเป็นประกายของเราที่มีแต่คำถามว่า การให้โอกาสขั้นพื้นฐานจนผู้คนสามารถพึ่งตนเองได้ และเคารพในตนเอง สุดท้ายก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมทั้งนั้น เขามองว่าภาษีที่เสียไปล้วนเป็นหน้าที่ในการมีส่วนร่วมสร้างสังคมแห่งความเสมอภาค หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามจากสิทธิต่างๆ ในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีที่เขาได้รับมา 

     คนว่างงานในเดนมาร์กเลยกล้าที่จะฝันถึงสายอาชีพใหม่ๆ ที่ตรงกับความถนัดของเขา ด้วยเงินสนับสนุนของรัฐที่มีให้ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านงาน ผู้พิการ ผู้ที่เคยก้าวพลาด ยังกล้าที่จะฝันถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ด้วยความเชื่อมั่นในความคุ้มครองทางสังคมที่ทำให้พวกเขาก้าวผ่านกับดักแห่งความกลัวที่คอยตะครุบความฝันเอาไว้ได้ หรือแม้แต่ความฝันของผู้สูงอายุก็ยังมีพื้นที่ให้คนได้รับฟัง

 

โคเปนเฮเกน

 

     เรายังคงนั่งเหม่อลอยไปในภาพอาคารสีพาสเทล บ้านสีแดงอิฐของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า เนื้อหาในโปสต์การ์ดของเพื่อนเดนิชคนแรกในวัยเด็กนั้นเลือนหายไปนานแล้ว ทว่าบทสนทนากับเพื่อนชาวเดนิช และนิทรรศการภาพถ่ายกลางถนนนั้นยังคงก้องสะท้อนอยู่ในห้วงความคิด

     มันจะเป็นเรื่องน่าเศร้ากว่าหรือไม่ หากคนเราถูกทำให้ต้องหยุดฝัน หรือแม้เพียงการได้ฝันนั้นก็ยังดูเป็นความฝันที่เลื่อนลอยเกินไป ไม่ใช่เป็นเพราะความเป็นไปได้ที่ลดน้อยลงจากความเสื่อมถอยของอายุร่างกาย แต่เป็นเพราะความเป็นไปได้ที่ถูกจำกัดด้วยสถานะทางสังคมใดๆ และหลายครั้งความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวมากขึ้นก็กัดกินพื้นที่ความเป็นไปได้ของความฝัน จนบางทีแค่เพียงนึกถึงมันก็ยังดูว่ามากเกินไป 

     ในสังคมแบบนั้น ‘เงือกน้อย’, ‘ลูกเป็ดขี้เหร่’, ‘เด็กหญิงไม้ขีดไฟ’ ในจินตนาการของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน ในวันที่ครอบครัวเขาประคองชีวิตด้วยการเป็นช่างเย็บรองเท้า คงไม่มีพื้นที่ให้ปรากฏขึ้นมาในประวัติศาสตร์วรรณกรรม 

     ในสังคมแบบนั้น เหล่าคนสูญเสียความฝันที่อาจสร้างความเป็นไปได้ให้ความจริงใหม่ๆ ไปอีกเท่าไหร่กัน

 


ข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการ Do we ever stop dreaming? และสถานที่จัดแสดงสามารถดูได้ที่ http://wrang-collection.dk/