ตัดสินใจจองที่พักในโครเอเชียไปแค่ 2 วัน ด้วยคิดว่ามันจะเป็นเพียงทางผ่านของเราจากเมืองหลวงซาเกร็บ ไปสู่บูดาเปสต์ของฮังการี จุดหมายปลายทางที่ ‘เขาว่ากันว่า’ มีที่เที่ยวมากกว่า น่าสนใจกว่า ไปใช้เวลานานนานที่นู่นดีกว่า
ภาพแรกของโครเอเชียเมื่อรถบัสข้ามเมืองเข้ามาจอดในสถานีขนส่ง คืออาคารบ้านเรือนสีน้ำตาลหม่นๆ ตึกหลายหลังมีลักษณะร้างแม้จะอยู่กลางเมืองหลวงของประเทศ ฝนก็ดันมาตกในวันที่เราเพิ่งมาถึงแบบนี้ ยิ่งตอกย้ำเสียงในใจซึ่งดังขึ้นมาว่า ดีแล้วที่เราจองมาพักแค่ไม่กี่คืน “ดูแล้วไม่น่าจะมีอะไรให้เที่ยว” อยู่แป๊บเดียวแล้วไปต่อ… ดีกว่า
เมื่อเดินทางมาถึงที่พัก เราโยนกระเป๋าไว้ข้างเตียง และในขณะที่ง่วนดึงของที่จำเป็นต้องใช้อยู่ ก็ได้ยินเสียงทักทายจากเพื่อนร่วมห้องที่อยู่เตียงถัดไป
“มาทำอะไร” “อยู่กี่วัน” เขาถาม “ไม่ใจร้ายกับโครเอเชียไปหน่อยหรือ มาแค่นี้เหมือนกับว่ายังไม่ทันได้รู้จักเลย แล้วเราก็จะมีภาพจำของเมืองไปแบบนั้นนะ” เขาตอบกลับมา เมื่อได้คำตอบจากเราว่าแค่มาเที่ยว และอยู่อีกเพียงสองวันก็จะไป
ผู้ชายคนที่ถือวิสาสะมาบอกตั้งแต่วันแรกว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร แนะนำตัวว่ามาจากเมืองด้านเหนือของโครเอเชีย เพิ่งได้งานเป็นภัณฑารักษ์ ประจำ Typhlological Museum พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในเมืองซาเกร็บที่อยู่เพียงมุมถนนถัดไป เราเลยคุยกันเรื่องพิพิธภัณฑ์ในโครเอเชียที่มีจำนวนมากมายเหลือเกินเมื่อเทียบกับขนาดประเทศและจำนวนประชากร จนต้องโพล่งถามไปว่าเพราะอะไรกัน
เขาไม่รู้เหตุผลที่แท้จริง แต่เขาให้เหตุผลในฐานะคนรักในงานพิพิธภัณฑ์ว่า โครเอเชียมักมีภาพจำในโลกทั่วไปอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นเมืองที่ผ่านสงคราม ระเบิดลงกลางเมือง สภาพแวดล้อมของเมืองก็ยังพลอยให้ดูเป็นเช่นนั้น กระจกที่แตกและยังไม่ได้ซ่อมแซมจากเหตุการณ์วางระเบิดในเมืองเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ดูราวกับจะทำให้ภาพเหตุการณ์นั้นคงอยู่ต่อไป พอๆ กันกับเรื่องเก่าเล่าใหม่ของโครเอเชีย ที่ยังไม่มีเรื่องราวอื่นใดมาเล่าแทน
“เรื่องมันเกิดขึ้นจริง แต่มันก็นานมาแล้ว… แค่อยากเล่าเรื่องใหม่ๆ บ้าง”
เราใช้เวลาในเมืองซาเกร็บตามจุดต่างๆ ที่เขาเขียนลงกระดาษแนะนำไว้ให้ มีตั้งแต่เมนคอร์สเนื้อย่างกินคู่ครีมชีส หรือจะเป็น Strukli พายที่ทำจากคอตเทจชีส ซึ่งเขาเล่าว่าทุกครัวเรือนของครอบครัวโครแอตล้วนมีสูตรประจำบ้าน แต่ร้านนี้ใกล้เคียงกับรสมือคุณย่าเขามากที่สุด ไปจนถึง Homeland War Museum พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่บันทึกเรื่องราว และรวบรวมวัตถุสิ่งของที่เหลือรอดมาจากช่วงสงครามกลางเมือง
ที่นั่นเราได้พบกับภัณฑารักษ์ผู้คอยเดินกำกับและเล่าเรื่องราวทีละฉาก ทีละห้อง เรื่องราวที่เล่านั้นว่าน่าสนใจมากแล้ว แต่ความกระตือรือร้นในงาน ข้อมูลแน่นลึกในเนื้อหาดูจะทำให้เราสนใจยิ่งกว่า คุยไปคุยมาจึงได้รู้ว่าเธอผู้นี้เกิดปีเดียวกันกับเรา คือในช่วงเวลาที่คอมมิวนิสต์มาถึงจุดสุดทาง และอีกไม่กี่ปีถัดมายูโกสลาเวียก็ล่มสลาย กลายมาเป็นสงครามกลางเมืองในกรุงซาเกร็บ ช่วงที่เธอและเราต่างยังเป็นเด็ก
เราถามไปว่าการเติบโตมาในสภาวะสงครามนั้นมันเป็นยังไง เพราะในความ ‘เรานี้รักสงบ’ นั้นทำให้เรานึกฉากหน้าสงครามไม่ออก สงครามฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว เป็นข่าวในทีวี เป็นกรณีศึกษาที่ต้องอ่านแต่กลับไม่มีประสบการณ์ร่วมแม้แต่น้อย
เธอเด็กเกินกว่าจะจำได้ว่าสงครามนั้นทำให้เธอรู้สึกยังไงบ้าง แต่ถึงแม้จะมีหลักฐานยืนยันว่ามันเกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องราวในตำนานของครอบครัว สงครามก็ยังฟังดูเป็นเรื่องใกล้ตัวอยู่ดี เสียงดังสนั่นกลางเมืองในตอนนั้นที่ไม่รู้ว่าคือเสียงอะไร ความไร้เดียงสา ความสั้นของความจำในวัยเยาว์คอยปกป้องเธอให้พ้นจากความกลัวที่อาจทำให้วิตกกังวลไปต่างๆ นานาได้ ที่เป็นเหมือนม่านหมอกคลุมทั่วโครเอเชียราวกับฝุ่นผงกระจายจากเศษซากของระเบิดตกค้างในสงคราม
“คิดไม่ออกเลยว่าถ้าอยู่ในสงครามตอนอายุเท่านี้แล้ว จะกลัวขนาดไหน…”
เราตัดสินใจเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ เพราะดูจากสีหม่นๆ อย่างนั้นบนท้องฟ้าแล้วยังไงซะฝนก็คงตกทั้งวัน เราเดินผ่าน Stone Gate หรืออุโมงค์มืดกลางเมืองเก่าที่มีรูปวาดของพระแม่มารีอุ้มพระเยซู เป็นรูปวาดในศตวรรษที่ 18 ที่รอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้กลางเมืองมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ จนชาวโครแอตเชื่อว่าเป็นปาฏิหาริย์ และมักจะมีผู้คนมาอธิษฐานขอพรในอุโมงค์นี้ และเมื่อทุกครั้งที่คำอธิษฐานของพวกเขาเกิดขึ้นจริง พวกเขาจะกลับมาเขียนป้าย ‘Hvala!’ ซึ่งแปลว่าขอบคุณ บนแผ่นกระเบื้องที่เรียงรายกลายเป็นผนังในอุโมงค์แห่งนี้
เสียงฝนโปรยปราย ท้องฟ้าภายนอกสีหม่นเทา แต่บรรยากาศข้างในกลับอบอุ่นละมุนไปด้วยแสงเทียน ท่ามกลางสถานการณ์ โหดร้าย คาดเดาไม่ได้ สิ่งนี้มันคงเป็นความหวังและความขอบคุณ ที่คอยหล่อเลี้ยงโครเอเชียจากประวัติศาสตร์โหดร้ายที่ผ่านมา
ผ่านหน้าที่ทำการรัฐบาล และโบสถ์ St. Mark ที่เคยถูกทำลายอย่างราบคาบ และถูกสร้างขึ้นมาใหม่กับหลังคาลายตารางหมากรุกขาวแดงตามสีธงชาติของโครเอเชีย ผ่านตลาด Dolac Market กลางเมืองที่มีรูปภาพ ‘Mademoiselle Riviere’ ภาพเขียนสุดคลาสสิกในต้นศตวรรษที่ 19 ที่ถูกนำมาถอดความใหม่จนหลุดออกจากการแช่แข็งบนฝาหนังพิพิธภัณฑ์ รูปภาพที่เฝ้ามองแม่ค้าพ่อค้ากลางตลาด มองชีวิตความเป็นไปที่ผ่านตา มองประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้คนในวันที่เจอการเข่นฆ่าคงนึกไม่ออกว่าจะผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปอย่างไร และผู้คนในปัจจุบันก็คงนึกไม่ออกว่าคนเราฆ่าฟันกันเองได้อย่างไร
“เจอเหตุผลที่ควรอยู่ต่อให้นานขึ้นหรือยังล่ะ”
เสียงโพล่งออกมาจากเตียงถัดไปตามเคย เมื่อได้ยินเสียงกระเป๋าโยนลงบนพื้น แม้จะอยากพักเงียบๆ คนเดียว หลังจากเดินเตร่มาทั่วเมืองมาทั้งวัน แต่อีกใจก็คิดว่ามีคนให้แชร์ความน่าตื่นเต้นที่เจอกับโครเอเชียตลอดวันนี้ก็ดีเหมือนกัน
“นี่แค่ในซาเกร็บ จริงๆ พรุ่งนี้พยากรณ์อากาศว่าแดดจะดี โครเอเชียที่แท้จริงนั้นอยู่นอกเมืองหลวงออกไป พรุ่งนี้ก็วันหยุดสุดท้ายก่อนจะไปทำงานเสียด้วย แต่เสียดาย เธอเองก็คงกำลังจะไปต่ออีกที่แล้ว…”
เราเงียบ ไม่พูดอะไร ขอตัวออกไปข้างนอก ขึ้นไปชั้นสองของที่พัก ที่มีหญิงสาววัยรุ่นนั่งเป็นเจ้าหน้าที่ต้อนรับอยู่ เราบอกกับเธอว่า
“ขอจองที่พักต่ออีกวัน…”