โครเอเชีย

City Tales | ‘โครเอเชีย’ มากกว่าฟุตบอลคือความหวังของการเปลี่ยนแปลง

หากสงครามยูโกสลาเวีย สงครามนองเลือดในยุค 1990s คือภาพเก่า ภาพจำที่โลกมีต่อโครเอเชียในวันนั้น ชัย (เกือบ) ชนะของโครเอเชียในวันนี้ก็ดูจะเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศ ภาพลักษณ์ของทีมม้ามืด ของประเทศเล็กๆ ที่สู้ยิบตา ราวกับว่าฟุตบอลนำสิ่งที่ชาวโครแอตถามหา แต่ไม่เคยได้รับในหลายทศวรรษที่ผ่านมา นั่นคือความหวังต่อการเปลี่ยนแปลง

     นักฟุตบอลของทีมโครแอตปีนี้ล้วนเกิดและเติบโตในช่วงเวลาที่โครเอเชียประกาศตนเป็นประเทศอิสระจากสงครามกลางเมืองร้ายแรงที่แตกแยกยูโกสลาเวียในปี 1991 ผู้เล่นคนสำคัญอย่าง ลูก้า โมดริช เองครั้งหนึ่งก็เคยเป็นผู้ลี้ภัยมาก่อน แม้จะแยกตัวเป็นอิสระ แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เสียงสะท้อนที่โลกได้ยินจากโครเอเชียคือความเปลี่ยนแปลงภายในนั้นยังไม่เคยเกิดขึ้น คอร์รัปชัน การแบ่งแยกทางเชื้อชาติ การใช้ความรุนแรง คราบเขม่าควันปืน บานกระจกแตกที่ยังไม่ได้ซ่อมในบางตึกกลางเมืองหลวงซาเกร็บ ป้อมปืนใหญ่กลางเมืองยังมีการจำลองเสียงปืนใหญ่ทุกๆ เที่ยงวันเพื่อย้ำเตือนว่าสงครามนั้นเคยเกิดขึ้นจริง ปัง! เสียงที่ดังลั่นทุกวันราวกับจะย้ำว่าอดีตไม่เคยไปไหน เรื่องราวของสงครามยังเป็นภาพจำของโครเอเชียในสายตานานาชาติอยู่ร่ำไป แต่มันคือความท้าทายเช่นนั้นที่สร้างผู้เล่นแข็งแกร่งในสนามอย่างที่เราเห็นกันในบอลโลกปี 2018

     “เราเป็นโครแอตรุ่นที่เติบโตมาท่ามกลางสงคราม เราเด็กเกินกว่าที่จะถูกทำลายโดยมัน แต่ในขณะเดียวกันความทรงจำก็ชัดจนทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น เรากลายเป็นคนไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เรามีแรงผลักดันที่มากกว่าความอยากชนะ แรงผลักดันที่อยากพิสูจน์ให้โลกว่า พวกเราก็ทำสำเร็จได้” – เดยัน ลอฟเรน ผู้เล่นคนสำคัญอีกคนหนึ่ง เล่าถึงเคล็ดลับความสำเร็จของทีมนอกสายตาอย่างโครเอเชียที่ทำให้เขาต่างกับทีมอื่นว่า ทุกอย่างอยู่ที่ใจและแรงผลักดัน

     และพวกเขาก็ทำได้จริงๆ พวกเขาทำในสิ่งที่ไม่เคยมีผู้นำคนใดทำได้มาก่อนตั้งแต่วันที่สงครามได้แตกและแบ่งแยกผู้คนออกจากกัน นั่นคือทีมฟุอตบอลได้หลอมรวมโครเอเชียกลับเข้าด้วยกันไว้ได้อีกครั้ง

     “มันไม่ใช่แค่ฟุตบอล การลงแข่งครั้งนี้มีเดิมพันที่ใหญ่กว่านั้นมาก เราอยากสร้างจุดเปลี่ยนใหม่ให้กับโครเอเชีย และตอนนี้เราก็ทำได้แล้ว เราทำให้ผู้คนในชาติภูมิใจในความเป็นโครเอเชียได้แล้ว และเราทำให้คนอื่นได้เห็นภาพใหม่ของโครเอเชีย ภาพใหม่ที่มันไม่โหดร้าย ภาพใหม่ที่มีการเฉลิมฉลอง”

     แม้ในนาทีที่กรรมการเป่านกหวีดหมดเวลา เสียงปรบมือตะโกนร้องก้องเชียร์สุดใจจะเปลี่ยนเป็นเสียงโห่ไห้ ตาที่เปล่งประกายความหวังถึงการเป็นอันดับหนึ่งของโลกสักครั้งจะเอ่อคลอไปด้วยน้ำตาในท้ายที่สุด พวกเขาก็ยังเช็ดมันด้วยธงชาติลายตารางหมากรุกขาวแดงที่ห่มตัวพวกเขาไว้ และร่วมเฉลิมฉลองกับชาวโครแอตคนอื่นๆ ที่ออกมารวมตัวกันหน้าจัตุรัส Ban Jelacic Square

     รูปปั้นของ Josip Jelacic ที่ยืนอยู่บนม้าตรงกลางจัตุรัส ได้เห็นสงครามมาหลายต่อหลายครั้ง ณ จัตุรัสแห่งนี้ เพียงไม่กี่ทศวรรษที่แล้วจัตุรัสนี้ร้างผู้คน เพราะแต่ละคนต่างพากันลี้ภัยไปอยู่ประเทศหรือในที่ที่ปลอดภัยกว่า และให้ความหวังแก่ชีวิตพวกเขาได้มากกว่า แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นจัตุรัสเดียวกันที่พาพวกเขากลับบ้าน

     “การเฉลิมฉลองจะยังดำเนินต่อไป… ถึงอย่างไร เราก็เป็นที่สองของโลก”

     ชาวโครแอตจากหลายมุมทั่วโลกพร้อมใจกันเดินทางกลับมาบ้านเกิดของเขา บางคนไม่ได้กลับมาปลายปีแล้ว บางคนบอกว่านี่เป็นช่วงเวลาสำคัญนับตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามในปี 1995 ต่างเพียงแค่ครั้งนั้น การสิ้นสุดของสงครามไม่ได้การันตีความหวังใดๆ ให้เขา การสิ้นสุดของสงครามที่ตามมาด้วยซากปรักหักพังของตึกรามบ้านช่อง ราวกับเป็นอนุสรณ์สถานการแตกหักในใจของคนในชาติ คำสัญญาของการเปลี่ยนแปลงที่ดูจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปนอกจากชื่อระบอบการปกครองจากคอมมิวนิสต์ มาสู่ประชาธิปไตย หากใดๆ ในชาติยังคงเหมือนเคย

     ถ้าหากความพ่ายแพ้ในสงครามสร้างอัตลักษณ์ได้ ชัยชนะในสนามก็สร้างอีกภาพลักษณ์ได้ไม่ต่างกัน ใครอาจจะค้านว่านี่มันก็เป็นเพียงหน้ากาก ฉากบังหน้าชั่วคราว แต่หรือไม่จริงว่า สงครามเองก็เป็นหน้ากากภาพจำผิดๆ ที่คนยึดติดมานานมากเกินไป…

     ณ จัตุรัส Ban Jelacic Square แห่งนี้ ความหวังของพวกเขาถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมสงคราม เพียงแต่เขาจะไม่อยู่ภายใต้การเล่าเรื่องย้ำในความเจ็บช้ำของสงครามอีกต่อไป พวกเขาได้เขียนเรื่องเล่าของพวกเขาขึ้นมาใหม่ เรื่องเล่าที่ตัวละครเอกถูกขับเคลื่อนด้วยแรงปรารถนาอันแรงกล้า แรงปรารถนาที่มากกว่าอยากเอาชนะของบุคคล แรงปรารถนาที่อยากทำให้คนในชาติกลับมาภูมิใจ เชื่อมั่น มีความหวังในประเทศของพวกเขาได้อีกครั้ง