‘Dialogue with Time’ เป็นนิทรรศการในศูนย์วิทยาศาสตร์ที่เอาจริงเอาจังเรื่อง EduTainment หรือการเรียนการสอนที่ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ต่างๆ ให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้ของประเทศสิงคโปร์ จนทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมระบบการศึกษาของที่นี่ถึงมีมาตรฐานสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย รวมถึงของโลกด้วย ขนาดนิทรรศการนี้ยังสามารถออกแบบและนำเสนอออกมาให้สนุก สะท้อนสังคมได้อย่างมีสีสัน และชวนให้ทุกคนมาเปิดประสาทการเรียนรู้
แม้ว่าวันนั้นเป็นเวลาบ่ายแก่ๆ ของวันเสาร์ที่ฝนตก แต่คนจำนวนไม่น้อยทั้งครอบครัวและคู่รักต่างพากันมาเดินเล่นเต็มไปหมด ภาพของทุกคนที่เพลิดเพลินกับ Science Center หรือพื้นที่สาธารณะกลางเมืองแบบนี้ ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่มีว่า ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่อยากเข้าห้างไปเดินทอดน่องตากแอร์ในบ่ายวันหยุดสุดสัปดาห์ ถ้ามีทางเลือกอื่น เขาก็จะค่อยๆ หันไปหาทางเลือกเหล่านั้นเอง มันขึ้นอยู่กับว่าเมืองที่เขาอาศัย ประเทศที่เขาอยู่มีพื้นที่สาธารณะส่วนกลางให้เขาเลือกรึเปล่า
“Change is the only constant.”
นิทรรศการเริ่มต้นด้วยการพูดถึงการชราภาพเชิงวิทยาศาสตร์ วงจรชีวิตที่เกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ และตายของเซลล์ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในแต่ละช่วงวัย ไปจนถึงตู้ถ่ายรูป ‘future selffiie’ เพื่อจำลองภาพหน้าตนเองในอนาคต เมื่อเซลล์เสื่อม คอลลาเจนหดหาย (ได้ยินเสียงคนที่เข้าคิวข้างๆ ขำ ตอนรูปเราประมวลผลออกมา – ขอบคุณในความจริงใจค่ะ!) ต่อมาด้วย time lapse ที่ฉายภาพนิ่งต่อเนื่องของผู้หญิงคนหนึ่ง จากหน้าวัยเด็กผิวเต่งตึง ตาเป็นประกาย แล้วเวลาก็ดูดความชุ่มชื้นของผิวให้แห้งลงไป สายตาแข็งขึ้นราวกับผ่านประสบการณ์บางอย่าง จนมาถึงรอยยิ้มที่ดูสงบลงในช่วงท้ายที่สุด เป็นสามนาทีที่ย่นระยะเวลาชีวิตของคนคนหนึ่งให้เห็นถึงวงโคจรความชราที่เป็นประสบการณ์ต่อเนื่อง และไม่มีใครเลี่ยงมันไปได้
“You cannot connect the dots forward. You can only connect them backward.”
ปู่แทน กับปู่ไซมอน ชายสูงอายุราว 80 ปี เดิมมาต้อนรับพวกเรา เพื่อพาชมนิทรรศการด้วยวิธีการนำพูดคุยระหว่างเดินไปสู่ห้องถัดไป คุณปู่แทนพาเราไปนั่งห้องโต๊ะกลม แล้วเริ่มเล่าจากภาพเก่าๆ ของปู่ตั้งแต่ยังเด็ก เรียน ทำงาน มาถึงปัจจุบัน เรื่องราวของปู่ทำให้เห็นว่า เมื่ออยู่ในช่วงชีวิตนั้นๆ เราไม่รู้หรอกว่าเรื่องราวของชีวิตเชื่อมต่อกันยังไง จนกระทั่งภาพสุดท้ายที่ปู่เปิดนั่นแหละ ที่เรื่องราวจะค่อยๆ เฉลยว่า แต่ละช่วงชีวิตนั้นสามารถนำพาเราจากจุดหนึ่งไปสู่จุดต่อๆ ไปอย่างไรบ้าง เรื่องราวของคุณปู่น่าสนใจตรงภาพสุดท้ายที่เลือกมานั้นเป็นเรื่องความสัมพันธ์ และการถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไป
นอกจากฟังเรื่องของปู่ในห้องโต๊ะกลมนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้เลือกภาพที่ซ่อนอยู่ใต้โต๊ะ และเลือกภาพที่เราอยากจะเป็นมากที่สุดในวันที่แก่ตัวลงแล้วแลกเปลี่ยนกันในวงสนทนาว่าทำไมเราถึงเลือกรูปนั้น ในความหลากหลายของรูปภาพ เราจะพบเจอคำตอบร่วมบางอย่างในสิ่งที่เราปรารถนาในวันที่ความชรามาเยือน ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ความสามารถในการพึ่งตนเอง และอิสระในการได้ทำในสิ่งที่ต้องการ
“There is an opportunity in every problem.”
ห้องถัดมานั้นแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ข้อจำกัดและโอกาสในความชรา ในโซนห้องข้อจำกัดนั้นมีเครื่องมือ interactive ที่ช่วยจำลองประสบการณ์การชราผ่านกิจกรรมง่ายๆ ที่เรามัก (แอบ) บ่นว่าทำไมอากงอาม่าถึงทำมันยากนัก ตั้งแต่ให้ลองไขกุญแจห้องในขณะที่มือสั่นๆ จองตั๋วหนังผ่านมือถือด้วยหูที่ได้ยินไม่ชัดเหมือนมีเสียงคลื่นแทรก ทดสอบการมองเห็นเวลาตาขึ้นฝ้าหรือสายตายาว เดินขึ้นทางลาดโดยมีน้ำหนักมาถ่วงคล้ายอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ในข้อจำกัดนั้นมีโอกาสซ่อนอยู่ ห้องของโอกาสนั้นถูกติดตั้งด้วย audio booth ที่แต่ละตู้จะให้เราได้ฟังเรื่องราวของผู้สูงอายุหลายคนที่ยังแอ็กทีฟกับการใช้ชีวิต มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ อยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความรู้สึกเหมือนได้ยืนคุยกับตู้หนังสือ ที่เป็นคลังประสบการณ์ซึ่งจะให้ความรู้สึกสั่นสะเทือนเหลือเกินว่าถ้าเราได้รับฟังเรื่องราว การตกผลึกทางความคิดในชีวิตของผู้ใหญ่หลายๆ คนแล้วนำมาผนวกกับกิจกรรมต่างๆ ในสังคม ประโยชน์นั้นจะเกิดร่วมกับคนทุกวัยในภาพรวมของสังคมขนาดไหน
“It feels excluded, awkward, sudden, and boring.”
เดินๆ ไปสักพัก ไอ้เจ้าเครื่องวิทยุพกพาที่ได้รับมาตอนแรกก็ดังขึ้น ตอนแรกนึกว่าระบบเสียเพราะเครื่องนั้นดังไม่กี่คน จนคุณปู่ไซมอนเดินมาบอกว่า คนที่เครื่องดังขึ้นนั้นให้มานั่งที่โต๊ะหมากรุกกลางห้องที่มีข้อความบนโต๊ะว่า ‘retirees only’ คนที่เครื่องดังต้องนั่งเล่นหมากรุกหรือคุยกันเองแทน ห้ามร่วมกิจกรรมกับคนอื่นๆ ในตอนนั้น
โชคดีที่คุณปู่เห็นหน้าเจื่อนๆ อาการขยับยุกยิกหันซ้ายหันขวา และสายตาที่ยังอยากเล่นกิจกรรมอื่นต่อของพวกเรา เลยให้นั่งอยู่กันตรงนั้นแค่ 5 นาที แต่ก่อนจะให้กลับไปร่วมกิจกรรมต่อ คุณปู่ให้สะท้อนความรู้สึกว่า ตอนถูกดึงออกมาจากกลุ่มรู้สึกยังไง ในขณะที่คนอื่นยัง ‘มีสิทธิ’ ทำกิจกรรมกันได้อยู่…
“24 times more Centenarians in just 26 years!”
เวลาเกือบชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนมาถึงกิจกรรมสุดท้ายที่มีชุดคำถามเกี่ยวกับประเด็นสังคมผู้สูงอายุในสิงคโปร์ โดยให้ผู้เข้าร่วมเดาคำตอบและแสดงความเห็น คำตอบจะถูกเฉลยเป็นอินโฟกราฟิกต่างๆ ที่ย่อยข้อมูลในประเด็นนี้ได้อย่างเรียบง่าย น่าสนใจ สะท้อนภาพ ‘silver society’ ได้อย่างชัดเจนและชวนให้คิดต่อ เช่น ในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา มีคนอายุเกินหนึ่งร้อยปีเพิ่มขึ้นจาก 50 คน เป็น 1,200 คน คุณคิดว่ามีอะไรเป็นปัจจัย และส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไรบ้าง หรือ 15% ของชาวสิงคโปร์ที่อายุมากกว่า 70 ปี ยังทำงานอยู่นั้น คุณคิดว่าเป็นตัวเลขที่ควรมากขึ้นหรือน้อยลง เพราะอะไร
พื้นที่สุดท้ายก่อนเดินออกนั้นเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงนวัตกรรม เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ ที่รองรับกิจกรรม เอื้อให้ผู้สูงอายุยังสามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างปกติ รวมไปถึงพื้นที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมนิทรรศการสามารถทดลองออกแบบนวัตกรรม หรือฝากไอเดียที่ตนเองมีสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุต่อไป
อ้อยอิ่งอยู่นานก่อนจะเดินออกจากนิทรรศการ จนหันมาเห็นคุณปู่ไซมอนยืนอ่านสมุดเยี่ยมชมและหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูปข้อความในแต่ละหน้าพร้อมรอยยิ้มจางๆ คุณปู่คงไม่เห็นเรายืนแอบมองจากอีกมุมห้อง แต่หวังว่าเขาจะเห็นข้อความที่แสดงความรู้สึกขอบคุณการเรียนรู้ แรงบันดาลใจจากคุณปู่ทั้งสองให้ใช้ชีวิตในวันที่แก่ตัวลงแล้วยังสามารถส่งต่อความหมายของการใช้ชีวิต และเอื้อต่อการเรียนรู้ให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้เหมือนวันนี้ที่คุณปู่เป็นตัวอย่างให้เรา