ฮัมบูร์ก

City Tales | ฮัมบูร์ก เมืองท่า ในสายตาผู้มาเยือนและกำลังจะอยู่อาศัย

ฮัมบูร์ก เมืองท่าสำคัญทางฝั่งเหนือของประเทศเยอรมนี เมืองท่าสมัยใหม่ทับซ้อนใจกลางประวัติศาสตร์บ้านเมืองเก่า เคยถูกใช้เป็นพื้นที่ปะทะกันในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง มองไปยังพอร์ตริมแม่น้ำเอ็ลเบอ (Elbe) ที่กลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของโลกยุคใหม่นี้ แทบดูไม่ออกว่าครั้งหนึ่งเมื่อไม่ถึงศตวรรษก่อน เมืองแห่งนี้เคยถูกทำลายจนกลายเป็นซากปรักหักพัง หากไม่เพ่งพิจารณาดีๆ ว่าสีแดงอิฐของตึกนั้นเป็นความตั้งใจของการสร้างตึกให้มีกลิ่นอายยุโรปสมัยก่อน หรือเป็นคราบเลือดจากชีวิตที่เคยสูญเสียไปในเมืองท่าแห่งนี้กันแน่

     ฮัมบูร์กที่เห็นในวันนี้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจสำคัญของเยอรมันเหนือ ความเป็นเมืองท่าไม่ได้นำมาแค่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รุดหน้าจากการเชื่อมต่อเยอรมนีเข้ากับประเทศอื่นๆ แต่ยังรวมถึงคุณภาพชีวิตที่เป็นผลพลอยได้จากบรรยากาศพื้นที่สาธารณะริมน้ำ พื้นที่สีเขียวชอุ่มทั่วบริเวณกับปริมาณฝนที่มีไม่ขาด (ออกจะมากเกินไปด้วยซ้ำ) รวมไปถึงอุปนิสัยใจคอของผู้คนที่เขาว่ากันว่าผู้คนชาวฮัมบูร์ก (Hamburger) นั้นมีความเปิดเผยและเปิดรับพหุวัฒนธรรมมากกว่าพื้นที่อื่น ด้วยความที่อยู่เมืองท่าและเคยชินกับผู้คนที่อพยพเข้ามาทำงานในบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขานั่นเอง ลักษณะอีกอย่างของชาวฮัมบูร์กเห็นทีจะเป็น trading DNA ที่ดูจะเป็นคาแร็กเตอร์ติดตัวมาจากการเติบโตอยู่ในเมืองที่มีกิจกรรมการค้าขายเกิดขึ้นตลอดเวลา

     ตลาดเล็กๆ น้อยๆ แทรกกระจายตัวอยู่ในแต่ละย่านเต็มไปหมด บ้างเป็นตลาดปลาเปิดตีห้า บ้างขายสินค้าพืชผลของชุมชน บ้างก็มีทุกอย่างปะปนกันไปตั้งแต่เสื้อผ้ามือสอง ถ้วยชามเซรามิก ตรายี่ห้อรถยนต์เยอรมัน ยันที่คั้นน้ำผลไม้ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นเยอรมันแล้ว ความมีประสิทธิภาพย่อมมาก่อนเสมอ ในความเป็นตลาดก็มีความเนี้ยบของผู้ค้าขายผักผลไม้ที่มียูนิฟอร์มเป็นเอี๊ยมที่สะท้อนถึง professionalism ในทุกๆ ด้าน แถมยังเป็นการค้าขายที่ไม่สร้างผลกระทบตกค้าง ถุงพลาสติกแทบไม่มีให้เห็น

 

     การรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกกลายเป็นเรื่องคร่ำครึในเมืองที่ทุกคนดูจะมีพฤติกรรมเข้าใจตรงกันว่าผู้บริโภคเอาถุงมาเอง และผู้ขายอย่างมากก็ใส่ถุงกระดาษไปหากจำเป็น

     “They are already in their natural wrappings, why complicate and waste?”

     ในความนวัตกรรมหัวก้าวหน้า บางทีแนวคิดมันก็เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ที่เขาว่าถ้าถูกต้องมันจะง่าย มันคงเป็นแบบนี้เอง

 

     สัปดาห์แรกในฮัมบูร์กเต็มไปด้วยการปรับตัวไปกับฝนที่มักตกลงมาแบบไร้ท่าที และการเรียนรู้กับสถานการณ์ต่างๆ ที่ดูพร้อมใจกันเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกนี้ ตั้งแต่การลงมติผ่านร่างกฎหมายรับรองสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ที่พลอยทำให้ฮัมบูร์กพร้อมใจเฉลิมฉลองไปด้วยพร้อมกับประกาศตนกลายๆ ว่า เยอรมนีได้เดินตามทางที่ถูกต้องที่ฮัมบูร์กนำร่องในการเป็นเมืองแรกที่รับรองสถานะการแต่งงานของคนเพศเดียวกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999

     และอาจจะเป็นลักษณะความเป็นเมือง ‘เปิด’ ทั้งในเชิงกายภาพ และลักษณะเฉพาะตัวของเมืองที่ทำให้ฮัมบูร์กไม่ได้เป็นแค่หน้าด่านเรื่องการค้า แต่เริ่มพัฒนามาเป็นเวทีโลกในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดผู้นำโลก G20 ที่เยอรมนีรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในฮัมบูร์กนี้ กับประเด็นร้อนระอุอย่างภาวะโลกร้อนในข้อตกลงปารีส จนกระทั่งการปราบการก่อการร้าย และยังเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างทรัมป์กับปูติน ที่ก็หวังว่าปริมาณน้ำฝนชอุ่มจากการเป็นเมืองท่าของฮัมบูร์กจะช่วยคลายอุณหภูมิในห้องประชุมได้บ้าง