ใดๆ ในโลกล้วนเปลี่ยนแปลง มีใครเคยบอกเราว่า อินเดียคือยาขนานเอกรักษาอาการป่วยใจได้ด้วยการปลุกสติให้กลับคืนมาทุกย่างก้าวในประเทศนั้น ก็อาจจะจริงอย่างที่เขาบอกเรื่องการใช้สติรักษาความป่วยใจ แต่เขาผู้นั้นไม่ได้บอกไว้ว่าจะต้องแลกกับการป่วยกาย หรือต้องหอบร่างที่เริ่มป่วยจากการหายใจไม่ออกเพราะฝุ่นควันตั้งแต่วันที่สองในเดลี เพื่อไปนั่งรถบัสกลางคืนเป็นเวลาสิบชั่วโมง ซึ่งตู้นอนบนรถบัสนั้นเปิดเพลงแขกปนไม่เข้าจังหวะกับเสียงบีบแตรตลอดทั้งคืน
เวลาเดียวที่หูได้พักคือเมื่อรถจอดแวะให้เข้าห้องน้ำกลางถนนสี่เลน เราถามพี่คนขับว่าห้องน้ำอยู่ไหน พี่เขาชี้ไปฝั่งตรงข้ามถนนที่มีรถบรรทุกวิ่งไปมาพร้อมเสียงแตรสนั่น สติตื่นคืนกลับมากลางดึกอีกครั้ง เราเดินไปภาวนาไปเพียงเพื่อจะพบกับฉากกั้นห้องเปล่าๆ ที่มีทางเลือกให้ฝึกใจสองทาง คือฝึกความอดทนกลั้นไว้จนปลายทาง หรือฝึกขัดเกลาการมีตัวตน ลืมเรื่องภาพลักษณ์ใดๆ ไปก่อน เพราะในเวลานั้นไม่มีใครสนใจใครไปมากกว่าตัวเองหรอก
ขอบคุณความป่วยที่ทำให้หลับได้ท่ามกลางเสียงดนตรีแขกและแตรรถ และตื่นมาเพราะลมเย็นเฉียบที่ลอดเข้ามาทางช่องหน้าต่าง ขอบคุณความหนาวที่ทำให้ตื่นมาเห็นสภาพภูมิประเทศที่ไม่เคยเจอมาก่อน ตึกรามบ้านช่องที่ดูสร้างไม่เสร็จ สีสันฉูดฉาดตามรสนิยมของคนที่นี่เฟดลงตามเวลาจนกลายเป็นสีพาสเทล ภาพหญิงใส่ส่าหรีเดินเทินของอยู่บนหัว พลันนึกไปถึงข้อความในหนังสือ คานธี: ความรู้ฉบับพกพา ที่อ่านเมื่อคืนได้ว่า “อินเดียไม่ใช่ชาติ หากแต่เป็นอารยธรรม”
ในความจำสมัยเรียน Udaipur นั้นถูกเรียกว่า อุทัยปุระ และสมญานามในความเป็นเมืองเวนิชตะวันออก หรือเมืองที่โรแมนติกที่สุดของอินเดีย แต่ไม่ว่าใครจะนิยามอย่างไร อุทัยปุระ เมืองสีขาวห้อมล้อมไปด้วยทะเลสาบแห่งแคว้นราชสถานนั้นสวยงามเกินคำเล่าลือตั้งแต่แรกพบ
ในขณะที่ล่องเรือมองกลับไปยังฝั่ง เห็นแสงไฟ City Palace เหลืองนวลๆ อยู่นั่นเอง ก็เกิดความแปลกใจ เมื่อสังเกตได้ว่าอินเดียมีลักษณะเหมือนจะทำอะไรไม่เสร็จ ค้างๆ คาๆ จะปราสาทเก่าแก่หรือโรงแรมสมัยใหม่ก็มักมีซากปรักหักพังกองพะเนินอยู่ข้างๆ เสมอ ถึงแม้จะเป็นแบบนั้น แต่เราในฐานะผู้มาเยือนมองว่ามันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของประเทศนี้ อธิบายให้ความหมายความสวยงามในความไม่สมบูรณ์แบบ มองเศษซากอดีตเป็นขุมทรัพย์แห่งเวลาที่ทิ้งไว้ให้ปัจจุบันได้เรียนรู้
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมอะไรคล้ายๆ กันพอเกิดขึ้นกับสิ่งรอบตัว เรากลับมองว่ามันไม่น่าชื่นชม? จริงอยู่ที่เราต่างก็มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ประเทศตัวเองกันทั้งนั้น คำถามที่มาตามกันในห้วงความคิดที่ไหลไปคือ เราวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า หรือเราก็เหมือนคนขับรถในเดลีที่บีบแตรกันกลางถนน ปากก็บ่นคนอื่นที่บีบแตร แล้วเราก็บีบตาม พล่ามไปว่า ไม่บีบก็ไม่ได้ ใครๆ เขาก็ส่งเสียงดังกัน
อินเดียไม่ปล่อยให้เราเพลิดเพลินกับสิ่งใดได้นาน ด้วยกลัวจะหลงในสุขเวทนามากไป หลังจากเพลินในอุทัยปุระจนเกือบตกรถที่จะต่อไปอัครา จนต้องนั่งริกชอว์ไล่ตามรถบัสที่พอจะได้พักสติไม่กี่ชั่วโมง คนขับที่พูดอังกฤษไม่ได้ก็ปลุกกลางทาง แล้วชี้ไปที่รถอีกคัน ป่วยการจะดื้อดึงเลยแบกเป้ย้ายไปนั่งรถคันใหม่ที่เหลือแต่ที่นั่งด้านหลังคนขับเคี้ยวหมากกลิ่นลอยมาตามลม คนนั่งข้างหลังที่กำลังเผชิญสภาวะอาหารเป็นพิษอย่างเราเลยได้แต่นั่งเจริญสติ หายใจเข้ารีบรับออกซิเจน หายใจออกรีบพ่นกลิ่นหมากเครื่องเทศที่ติดมาในลมหายใจไปตลอดทาง
ไม่ต่างจากคนทั่วไป จุดหมายของอัคราคือทัชมาฮาล สิ่งก่อสร้างที่แทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของอินเดีย แต่พอมาเอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่ทำให้ตื่นเต้นกลับกลายเป็นสภาพรอบตัวที่เต็มไปด้วยบ้านเรือนสภาพไม่น่าต่างจากตอนเริ่มสร้างจนตอนนี้ผุพัง บ้านเรือนดูคล้ายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตมากกว่าที่อยู่อาศัย วัว ลิง นก คน อยู่ด้วยกันอย่างไม่แบ่งสปีชีส์ว่าใครมีพื้นที่จับจอง สภาพความเป็นจริงที่ปรากฏและดำรงอยู่เหล่านี้ต่างหากที่เป็นสัญลักษณ์ของอินเดีย ในความรับรู้ของผู้ผ่านมาอย่างฉัน
ทัชมาฮาลนั้น ต่อให้จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน สุดท้ายก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ก่อสร้างโดยมนุษย์ มนุษย์ที่เป็นเพียงมิติชีวิตเดียวในที่นี้ มนุษย์ที่คิดว่าตนสร้างทุกอย่างได้ แต่สุดท้ายเราก็เป็นผลผลิตของการถูกสร้างจากธรรมชาติที่เราคิดว่าเราควบคุมได้เท่านั้น
ที่ตรงนั้นล้วนเต็มไปด้วยเสียงประทัดกึกก้องและผู้คนโห่ร้องเมื่อเวลามาถึง 00.00 น. ผู้คนแปลกหน้ากลางถนนส่งเสียงทักทาย ฝีเท้าวิ่งเร็วขึ้นตามจังหวะความเร็วของผู้คนที่ดูจะเร่งรีบไปที่ไหนสักแห่ง เราเองก็ไม่รู้ว่าที่ไหน ได้แต่เดินคล้อยตามพวกเขาไป ในช่วงที่สติกำลังจะหลุดไปกับผัสสะรุมเร้ารอบตัวนั้น สายตาก็พลันไปเห็นหญิงชราชาวอินเดีย อายุไม่ต่ำกว่าแปดสิบปี
จากร่องรอยบนหน้า หรือเธออาจผ่านลมกรรโชกมาจนทำให้ดูชรากว่าวัยก็ไม่ทราบได้ หญิงชราผู้นั้นห่อตัวคุดคู้ในผ้าห่มสำลีสีเทาหม่นๆ ห่อจนมิดราวกับอยากจะหายไปจากโลกใบนี้ โลกที่ยังมีคนหนาวอยู่ในเมืองที่ผลิตเสื้อผ้าอาภรณ์ส่งออกไป ทั่วโลกสนองความต้องการของผู้ไม่ได้ต้องการ แต่ไม่พอสำหรับผู้ต้องการ ในโลกแบบนั้น คนก็ยังโห่ร้องยินดีกับกาลเวลา อันเป็นเรื่องสมมติ ทว่าไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความไม่เท่าเทียมที่เป็นจริงประจักษ์สายตาอยู่ ใช่แล้วล่ะ โลกแบบนี้มันน่าก้มหน้ามุดหายไปในผ้าห่มจริงๆ
“เป็นไปที่มันควรจะเป็น ไม่ฝืน ไม่ต้าน” เราบอกตนเองเสมอระหว่างการเดินทาง แม้จะเจอสถานการณ์ไม่คาดฝันขนาดไหน ตั้งแต่รถไฟตั๋วเต็ม จนต้องนอนรอสถานีรถไฟเปิดขายตั๋วชนิดที่ให้ไปยืนลุ้นเอาว่าจะมีที่ให้นั่ง ยืน หรือมุดหรือไม่ ครั้นจะปล่อยตัวปล่อยใจ นั่งคุยกับคนขับริกชอว์เพลินๆ ก็ถูกพาไปเกสต์เฮาส์อื่น พอยืนยันว่าจะไปพักที่ที่จองไว้ให้ได้ ก็โดนปล่อยลงกลางทาง ให้เดินข้ามขี้วัวไป (ไหนตอนแรกทัก ‘”hey hey my friend” ก็นึกว่าเราเพื่อนกัน!)
แม้ในวันสุดท้ายของการเดินทางที่กำหนดการต้องห้ามพลาด แต่ใครเลยจะไปห้ามอะไรได้ในอินเดีย รถไฟดีเลย์ก็เริ่มเฉยเสียแล้วกับความไม่แน่นอน สิ่งหนึ่งไม่เกิด สติก็บอกให้หันไปหาทางเลือกอื่นต่อไป แม้ทางเลือกอื่นที่ว่านั้นจะเป็นรถบัสกลางคืนสภาพกระป๋อง แต่อินเดียสอนไว้ว่า เมื่อถึงเวลาถ้ามันจะไป ก็ต้องไป
คืนสุดท้ายที่นึกภาพฝันว่าจะเป็นการนั่งรถไฟติดแอร์ นั่งดื่ม Chai ร้อนๆ ในตู้โดยสารเย็นๆ กลับกลายเป็นว่าต้องนั่งหลังแข็งรับฝุ่นข้ามเมืองไปอีกกว่าสิบชั่วโมง แต่ในขณะที่ความคิดกำลังปั่นป่วนเริ่มจะกล่าวโทษกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามหวังนั่นเอง ก็เหลือบมองเห็นเพื่อนร่วมเดินทางชาวอินเดีย บ้างก็หลับสนิท บ้างก็นั่งแทะแกะถั่วออกนอกหน้าต่าง ไม่มีสีหน้ารีบร้อน ไม่เร่งรีบไปไหน ไม่ใส่อารมณ์ ตีความหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นใดๆ ราวกับว่านี่มันก็เป็นเพียงการเดินทางหนึ่งที่มันแค่เป็นไป
เราก็เป็นแค่คนที่มาเยือน พวกเขาต่างหากที่เป็นคนที่อยู่ คือคนที่เป็น และทำให้อินเดียเป็นอินเดีย
สุดท้าย ใดๆ ในอินเดียก็ล้วนเป็นไป เหมือนเราไม่เคยเข้ามา แม้ในวันที่เรากำลังจะจากไป