โลซานน์

City Tales | โรงเรียนหลังเล็ก ณ กรุงโลซานน์ ของสองพี่น้องราชสกุลมหิดลผู้เป็นที่รักยิ่งของคนไทย

เช็กแผนที่ในมือตัวเองอีกทีเมื่อมายืนอยู่กลางถนน ย่านชานเมืองของกรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พลางหันไปมองพื้นที่รอบข้างที่ล้อมรอบไปด้วยบ้านทรงยุโรปหลังขนาดย่อมซึ่งมีสวนหย่อมอยู่หน้าบ้าน ยิ่งทำให้ไม่แน่ใจว่าจุดหมายปลายทางที่ตามหาจะมาปรากฏอยู่ในชุมชนเล็กๆ อย่างนี้ได้อย่างไร

     ชาวสวิสสูงวัยที่นั่งจับกลุ่มกันอยู่หันมาพยักหน้าทักทาย และชี้ไปที่อาคารสีขาวมุมถนนนั่น อาคารขนาดสามชั้นซึ่งน่าจะเป็นไม่กี่สิ่งในย่านแถบชานเมืองนี้ ที่มีผู้คนจากอีกฟากโลกแวะมาเยือนสม่ำเสมอ Ecole Nouvelle de la Suisse Romande (เอกอลนูแวลเดอ ลา ซูอิส โรมองต์) โรงเรียนเอกชนประจำท้องถิ่นของพวกเขาที่เคยเป็นโรงเรียนของพระมหากษัตริย์ผู้อยู่ในใจของใครหลายล้านคนที่อยู่ห่างกันออกไปไกลอีกหลายหมื่นไมล์

 

โลซานน์

โลซานน์

 

   โรงเรียนหยุดในวันอาทิตย์แบบนี้ แต่รั้วนั้นเปิดทิ้งไว้ราวกับพร้อมต้อนรับใครต่อใคร เรายืนหยุดกลางประตูไม้ของอาคารเรียนขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อมองผ่านหน้าต่างเข้าไปจะเจอห้องโถงเล็กๆ ขนาบข้างด้วยห้องเรียนที่มีเก้าอี้ไม้ถูกยกขึ้นซ้อนกัน มีห้องครัวอยู่ชั้นใต้ดิน ส่วนสนามเด็กเล่นก็มีเพียงเก้าอี้โยก เครื่องเล่นปีนป่ายเท่านั้น พื้นที่กว้างเหลือเว้นไว้ให้สนามหญ้าและทิวทัศน์ภูเขาอยู่ไกลๆ ซึ่งระยะใกล้เป็นบ้านเรือนชุมชนที่ไม่แปลกแยกออกจากกัน ทุกอย่างในพื้นที่นั้นล้วนดูคล้ายโรงเรียนประจำชุมชนธรรมดา แทบไม่มีร่องรอยใดๆ ให้ดูออก นอกไปจากป้ายเล็กๆ หน้าอาคารที่ติดไว้ว่านี่คือสถานศึกษาของพี่น้องครอบครัวราชสกุลมหิดล

 

โลซานน์

 

     โรงเรียนเอกอลนูแวลเดอ ลา ซูอิส โรมองต์ เป็นโรงเรียนเอกชนที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1906 โดยคำว่า Nouvelle ในภาษาฝรั่งเศสนั้นแปลว่า ใหม่ ซึ่งหมายถึงแนวทางการเรียนการสอน ทั้งในและนอกห้องเรียนล้วนเป็นรูปแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีการสอนแบบเดิมที่โรงเรียนแห่งนี้นำมาใช้

     แล้วอะไรกันที่ใหม่ในโรงเรียนนี้?

     Lysandre C. Seraidaris (ลีซองดร์ เซ เซไรดารีส์) ลูกชายของ Cleon C. Seraidaris (เกลย์อง เซ เซไรดารีส์) ครูส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ King Bhumibol and the Thai Royal Family in Lausanne ว่า โรงเรียนเอกอลนูแวลเดอ ลา ซูอิส โรมองต์ โรงเรียนระบบสวิสเซอร์แลนด์แห่งนี้ได้นำ Natural Approach หรือรูปแบบการเรียนการสอนธรรมชาติมาใช้ในโรงเรียน เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่ได้บอกว่าควรคิด ต้องคิด ควรรู้ หรือต้องรู้อะไร หากแต่เป็นการเรียนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนรู้ว่า “จะเรียนอย่างไร และจะคิดอย่างไร”

 

โลซานน์

 

     นอกไปจากรูปแบบการเรียนการสอนธรรมชาติแล้ว โรงเรียนเอกอลนูแวลเดอ ลา ซูอิส โรมองต์ ยังให้ความสำคัญกับแนวคิดที่ว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนสำหรับทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกภูมิภาคที่จะได้มารวมตัวกัน เรียนรู้จากกันและกัน รวมไปถึงเป็นโรงเรียนที่ครูใกล้ชิดสนิทสนมกับศิษย์ ดังที่เห็นได้จากมิตรภาพ ความเอาใจใส่ของครูเกลย์องที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ครูผู้เป็นทั้งคนคอยแนะนำ ช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ต่างๆ ให้กับครอบครัวราชสกุลมหิดลมากกว่าเรื่องการศึกษา จวบจนวาระเกษียณจากความเป็นครู

     ลีซองดร์ ลูกชายของครูส่วนพระองค์ได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จย่าเลือกสวิตเซอร์แลนด์ เพราะเห็นว่าเป็นประเทศที่มีการศึกษาที่ก้าวหน้า ปลอดการเมือง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ อีกทั้งการที่พระราชโอรสของทั้งสองพระองค์ได้รับการศึกษาในระดับนานาชาติ ยังเป็นผลดีต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศอีกด้วย

     ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ได้ใช้เวลาศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้นานถึง 10 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1935 ถึง 1945 จนกล่าวได้ว่า มุมมองการใช้ชีวิตที่เป็นสากล ความคิดก้าวหน้าเป็นเหตุเป็นผล เป็นนักปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ด้วยจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์นั้น มีรากฐานมาจากการศึกษาที่มีคุณภาพ ที่สนับสนุนการเรียนรู้ของพระองค์อย่างเป็นธรรมชาติ ให้สามารถใช้พระปรีชาความสามารถได้เต็มศักยภาพสูงสุด เพื่อต่อยอดความคิด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวมได้

 

โลซานน์

 

     เรายืนอยู่หน้าอาคารสามชั้นอยู่เนิ่นนาน รู้สึกตัวอีกทีเมื่อได้ยินเสียงใครบางคนเดินมาจากข้างหลัง พอหันไปจึงเจอเด็กผู้ชายคนหนึ่งหันมายิ้มให้ ก่อนเปิดประตูเข้าไปในห้องโถงใหญ่ของอาคารเรียน อดคิดในใจถึงใครบางคนที่ครั้งหนึ่งเคยเดินเข้าสถานศึกษาแห่งนี้ไป และออกมาเป็นแบบอย่างทั้งในด้านการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านการทำงานให้ใครอีกหลายล้านคน ตลอดระยะเวลา 70 ปี และจากนี้ตลอดไป