มอลตา

City Tales | ศาสนาและศรัทธาในมอลตา อิสระจากความกลัว สุขสงบจากคำถามแห่งชีวิต

‘มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คุณได้มาอยู่ที่นี่’ 

เอ็มมานูเอล บอร์ก โฮสต์ชาวมอลทีส กล่าวไว้อย่างนั้น หลังจบบทสนทนาบนโต๊ะอาหารยามเช้าเกี่ยวกับความบังเอิญต่างๆ ที่พบเจอตั้งแต่เหยียบแผ่นดินมอลตา เอ็มมานูเอลบอกว่า การที่เราได้มาอยู่ที่บ้านหลังนี้ มีบทสนทนาเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกอย่างล้วนถูกจัดสรรแล้วในเวลาที่เหมาะสม ด้วยประสงค์ของพลังงานเบื้องบน ที่มีคำนามนิยามใช้เรียกขับขานให้เข้าใจตรงกันว่า ‘พระเจ้า’

     มันง่ายมากที่วาทกรรมเรื่องพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าจะเข้าไปสื่อสารในใจมนุษย์อย่างเรา โดยเฉพาะในเวลาเคว้งคว้าง ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วเสียจนมองทุกอย่างเป็นความว่างเปล่า การที่ได้รู้ว่ามีอะไรบางอย่างยังคอยเฝ้ามองเราอยู่บางทีมันก็เป็นการปลอบประโลม เป็นกิ่งไม้ให้เกาะในวันที่ต้องว่ายไปในกระแสน้ำซึ่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทวนไปในทิศทางไหน

 

มอลตา

 

     ทว่า ความบังเอิญนั้นดูท่าจะไม่ได้เกิดแค่กับเรา ตัวเรานั้นหาได้มีสิ่งใดพิเศษไปกว่าชีวิตอื่น แต่สำหรับคนที่นี่ ศาสนาคือรากของความศรัทธา ซึ่งอยู่ในทุกอณูของชีวิตและความเป็นอยู่ในมอลตา ตั้งแต่รายละเอียดของรูปปั้นริมถนนที่เต็มไปด้วยช่อโรสแมรี รูปปั้นพระแม่มารีอาหน้าประตูบ้าน เป็นสัญลักษณ์กลายๆ ว่าศาสนาปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเชื่อมต่อกับการเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวอย่างแยบยล ไปจนถึงงานเฉลิมฉลองต่างๆ ก็ล้วนเป็นงานฉลองนักบุญประจำเมืองทั้งนั้น ธงชาติที่ปักแต่ละเมืองนอกจากธงชาติมอลตาขาวแดง ธงสหภาพยุโรป ก็เห็นจะมีธงคริสเตียนไม้กางเขนนี่แหละที่ปักไว้ในที่สูงเคียงคู่กันไป เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนคือ หากเราพบวัดได้ตามทุกเมืองในประเทศไทย เราก็พบโบสถ์ได้ทุกเมืองในมอลตาเช่นกัน แต่คนเราก็มักสนใจในสิ่งที่หายากเสมอ

     แม้จะเป็นประเทศที่โบสถ์เก่าแก่สถาปัตยกรรมยุคบาโรกมีอยู่ทุกหัวมุมเมือง กลับกลายเป็นว่า mosque หรือมัสยิดที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวดึงดูดให้ทุกคนสนใจมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่ามัสยิดแห่งนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมศาสนาให้ ‘คนกลุ่มน้อย’ ที่มีอยู่เพียง 3,000 กว่าคน (คนในนั้นจำนวน 2,500 คนมาจากประเทศมุสลิมอื่นๆ) แม้ว่าในประเทศจะมีประชากรอยู่ทั้งสิ้นเพียง 400,000 กว่าคน แต่มอลตากลับทำหน้าที่เป็นโรงเรียนที่เปิดรับนักเรียนทุกศาสนา แม้ว่าท้ายสุดแล้วจะมีแต่นักเรียนมุสลิมก็ตาม

 

มอลตา

 

     ไม่รู้ว่าเอ็มมานูเอล โฮสต์คริสเตียน จะมองว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าอยู่หรือไม่ ในความบังเอิญที่เราได้มาพบอิหม่าม และมีโอกาสได้พูดคุยกับอิหม่ามในคราวมาเยือนแบบปราศจากการนัดหมายนี้ ด้วยความที่มัสยิดแห่งนี้คงไม่ใช่สถานที่ที่นักท่องเที่ยวในมอลตาจะเดินทางมาเยือน อิหม่ามเดินเข้ามาทักทายไถ่ถามเมื่อเห็นเรายืนชะเง้ออยู่หน้าประตูทางเข้า พร้อมกล่าวเชิญชวนพาเดินดูโดยรอบที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นห้องเรียน หลังเห็นสายตาของความสงสัยของผู้มาเยือน พูดจาไถ่ถามปกิณกะอยู่สักพัก คำถามที่อยากถามถึงค่อยๆ ออกจากปาก รวมถึงข้อสงสัยที่ว่าทำไมเป็น ‘interfaith school’ แล้วนักเรียนยังมีอยู่แค่ศาสนาเดียว

     “เพราะความกลัวมันลวงตา บทสนทนา (dialogue) เป็นเรื่องสำคัญที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจ แต่ตราบใดที่ความกลัวลวงตามันยังอยู่ตรงนั้น มันก็ยากที่บุคคลที่มีความกลัวจะเปิดพื้นที่ให้บทสนทนานั้นเกิดขึ้น

     “ถ้าเราไม่รับฟัง เราก็ติดกับการเหมารวม การเหมารวมที่มาจากการรับสารอย่างเดียว แต่ไม่ได้รับฟัง ข้าพเจ้าขอประกาศไว้ตรงนี้เลยว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นพวกเดียวกับพวกสุดโต่ง ผู้ใดที่กำลังทำร้ายศาสนาในนามของศาสนา พวกเขาไม่ได้เข้าใจในคำสอนของอิสลาม พวกเขากำลังทำร้ายอิสลามในขณะที่เขากำลังเอ่ยนามศักดิ์สิทธิ์นั้นออกมา”

     ยังมีคำถามมากมายที่ทำให้บทสนทนายืดยาวไปไกลได้มากกว่านั้น แต่ดูเหมือนว่าการสนทนาจะจำกัดชั่วโมงพูดคุยตามพื้นที่ที่มี นั่นคือโรงเรียนสามชั้น และมีห้องเรียนไม่ถึง 20 ห้อง

     อิหม่ามหยุดลงที่ประตูทางออกที่เราเข้ามาแล้วกล่าวขอบคุณในการมาเยือนครั้งนี้ คำขอบคุณที่ยิ่งทำให้เราต้องโน้มตัวโค้งคำนับให้อ่อนลงมากเสียยิ่งไปกว่าให้กับการเปิดพื้นที่ศรัทธาภายนอกและภายในที่อิหม่ามมีให้แก่ผู้มาเยือนชั่วคราว โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าช่วงนั้นเป็นช่วงรอมฎอน ถือศีลอด การที่อิหม่ามต้องเดินรับแขก แถมตอบคำถามไปด้วยอีกนั้น คงต้องอาศัยใจที่อยากสื่อสารกับเพื่อนมนุษย์มากไปกว่าแรงที่มีอยู่จำกัดในช่วงนี้จริงๆ

 

มอลตา

 

     ในมอลตา ถนนทุกสาย ประตูบ้านทุกประตู ดูจะมีสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเชื่อความศรัทธาของผู้คนอยู่ไปทุกหนทุกแห่ง รายละเอียดเหล่านี้ที่มันปลุกอัตลักษณ์ทางศาสนาสำหรับผู้ผ่านทาง แม้กระทั่งในบุคคลที่ประกาศว่า ‘ไม่มีศาสนา’ เอาเข้าจริงแล้วก็ยังเป็นความเชื่อแขนงหนึ่ง ความต่างที่แสดงออกผ่านสัญลักษณ์ และพิธีกรรม

     หากหลักคำสอนในข้อควรปฏิบัติที่พึงกระทำต่อเพื่อนมนุษย์และต่อตนเองนั้นช่างมีความละม้ายคล้ายคลึงกันเมื่อได้ลองเปิดใจรับฟัง พลวัตความเหมือนและความต่างที่สะท้อนไปมาระหว่างสัญลักษณ์ที่พบเจอกับบทสนทนาที่ได้ยินมันสะท้อนก้องไปมา เป็นแรงสั่นภายนอกที่มันเริ่มสะเทือนไปสู่แนวความคิด ความเชื่อ กับอัตลักษณ์ทางศาสนาข้างในที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม เพียงเพราะมันเป็นอยู่อย่างนั้น จนเราเข้าใจไปเสียว่ามันเป็นอย่างนั้น หรือแม้กระทั่งว่า เรา ‘คือ’ สิ่งนั้น

     จากที่เคยคิดว่าศาสนาเป็นกรอบความคิดทำให้เรายึดติดอยู่กับบางสิ่ง ความเชื่อบางอย่าง แต่เอาเข้าจริงแล้วบางทีก็น่าอิจฉาพวกเขาเหล่านั้นผู้เปี่ยมไปด้วยศรัทธา ผู้ที่น้อมชีวิตให้อยู่ในพระประสงค์ของเบื้องบน เชื่อมั่นว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมีเหตุผลนำไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ เชื่อมั่นจนเป็นอิสระจากความกลัวใดๆ สงบจากคำถามไร้คำตอบว่าเราเป็นใคร มาจากไหน อยู่ที่นี่ไปเพื่ออะไร และกำลังจะไปที่ไหน ช่างต่างจากผู้สงสัยที่ยังวกวนในคำถามเหล่านั้นต่อไป และไม่แน่ใจกับใดๆ ที่ผ่านมา หรือมันอาจไม่ใช่ความบังเอิญจริงๆ ที่เราได้มาอยู่ในมอลตา