อากาศเย็นยะเยือก ลมพัดบาดหน้า พระอาทิตย์ที่ขึ้นมาสายๆ พอบ่ายแก่ๆ ก็จางไป ปล่อยทิ้งฟ้าไว้เป็นสีหม่นเทาพอกันกับพื้นถนนที่ปกคลุมด้วยหิมะค้างเติ่งซึ่งทับถมกันมานานหลายวัน สภาพอากาศแบบนี้ รวมไปถึงค่าครองชีพแพงหูฉี่ ทำเอาสงสัยว่า อะไรกันที่ทำให้ ‘นอร์เวย์’ เป็นประเทศที่ผู้คนมีความสุขลำดับต้นๆ ของโลก
กว่าความหนาวจะกลับมาอุ่น กว่าอากาศสีเทาจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ก็ปาเข้าไปปลายเดือนเมษายน ผู้คนทั้งเมืองดูพร้อมใจออกจากบ้านมาร่วมงาน ‘Tourist in Your Own City’ ในวันที่ออสโล เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ ขึ้นชื่อว่าค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก กลับเปิดให้ทุกคนได้เป็น ‘นักท่องเที่ยวในเมืองตนเอง’ เข้าเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญในเมืองได้ ‘ฟรี’
เปล่าหรอก มันไม่ใช่การได้ประหยัดเงินค่าเข้าสามสี่ร้อยโครน (Krone – สกุลเงินของนอร์เวย์) ในแต่ละที่แต่อย่างใด แต่มันคือการได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่เข้าถึงความรู้ได้ง่ายดาย ความเท่าเทียมที่แม้จะเป็น ‘ผู้อยู่อาศัยชั่วคราว’ ก็เข้าถึงสมบัติสาธารณะได้เช่นกัน
‘Tourist in Your Own City’ จัดต่อเนื่องมาหลายปี ดูเผินๆ อาจเป็นเหมือนกิจกรรมเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในออสโลสามารถเป็น ‘ทูตวัฒนธรรม’ ของเมืองได้ ในวันที่ออสโลพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองตั้งแต่ ค.ศ. 1984 และกำลังหาจุดยืนให้กับตัวเองในความเป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดของยุโรปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่เมื่อได้เข้าร่วมเป็น ‘นักท่องเที่ยว’ ในเมืองที่อยู่มานาน ได้เข้าชม Opera House, City Hall, Nobel Peace Center สถานที่มอบรางวัลโนเบล ฯลฯ และอีกหลายแลนด์มาร์กที่ได้แต่เข้าใกล้ แต่ไม่เคยได้เข้าไป แม้จุดประสงค์ที่เขียนในเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์จะบอกว่าเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมอะไรก็ตาม แต่วันนี้ที่ได้มาเข้าชม และฟังเรื่องราวข้างในของแต่ละสถานที่ที่บรรจุไว้ กลับทำให้รู้สึกได้ว่านี่คือการพังทลายประตูเข้าถึงความรู้หลักที่เมืองนั้นๆ ได้สะสมมา พังทลายประตูซึ่งถูกขวางกั้นด้วยบัตรผ่านประตูที่คุณค่าของความรู้ถูกกำหนดด้วยเงินตราและความเท่าเทียมต่างหาก นี่คือวัฒนธรรมและความนอร์วีเจียนที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือมาจากไหน ก็เข้าถึงได้อย่างแท้จริง
ความแยบยลในการสอดแทรกความเท่าเทียมที่ไม่ได้อยู่เพียงวิธีคิดกิจกรรม หากซ่อนอยู่ในรายละเอียดการจัดการพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่ Viking Museum ที่ไม่ได้จัดแสดงแต่ซากเรือไวกิ้งของจริง แต่ทำเป็น interactive screenings ฉายภาพจำลองให้เห็นเลยว่าเรือลำนี้ผ่านอะไรมาบ้าง บางวันเรือล่องผ่านแสงเหนือเต้นระบำบนฟ้า บางวันคลื่นซัดแรงเรือแทบแตก ล้วนแสดงให้เห็นทั้งประวัติศาสตร์เรือไวกิ้ง รวมไปถึงความสำคัญของวิถีไวกิ้งที่ยังส่งผลถึงพฤติกรรมและคุณค่าของชาวนอร์วีเจียนในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งการร่วมมือกันระหว่างพิพิธภัณฑ์ที่เป็นศูนย์เรียนรู้ของคนในเมืองกับสถานศึกษาต่างๆ โดยการให้นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์มาทำงานร่วมกันกับนักศึกษาด้านการจัดการวัฒนธรรม สังคมวิทยา ฯลฯ เพื่อร่วมกันสาธิตการรักษาวัตถุสำคัญด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ หรือการคัดเลือก (curate) ชิ้นงานมานำจัดแสดง
นอกจากพิพิธภัณฑ์หลักของเมือง พิพิธภัณฑ์ศิลปะนอกกระแสอย่าง Astrup Fearnley Museum of Modern Art ก็เด็ดไม่แพ้กัน ชาวนอร์วีเจียนที่ดูสงวนตัว รักสงบ แต่งานศิลปะกลับหวือหวา เสียดสี ทิ่มแทง ตั้งคำถามตั้งแต่สถาบันศาสนา การเมือง เรื่องเพศ ความไร้แก่นสารของทุนนิยม ฯลฯ เป็นศิลปะที่ไม่ได้มีแค่การแต่งแต้มความสวยงาม แต่เป็นเครื่องมือสื่อสาร ตั้งคำถามต่อสิ่งเก่าๆ และเขียนเรื่องราวใหม่ๆ ตามคำที่เขียนไว้บนประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ว่า ‘The World is made of stories.’ หรือ โลกถูกสร้างขึ้นมาด้วยเรื่องเล่า
หรือแม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์เล็กๆ นอกสายตาอย่าง The Kon-Tiki Museum ที่เล่าเรื่องราวของ ‘ธอร์’ (Thor Heyerdahl) นักผจญภัยที่ล่องแพไม้ข้ามผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกใน ค.ศ. 1947 แค่ธีมเรื่องราวผจญภัยที่เล่าเรื่องอย่างเดียวก็สนุกแล้ว แต่ The Kon-Tiki Museum ยังแฝงข้อความที่อยากฝากไว้ผ่านเรื่องของธอร์ ตั้งแต่ปัจจัยที่ทำให้การเดินทางครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ ทั้งการคัดเลือกทีมที่มีทักษะต่างกันแต่มีเป้าหมายเดียวกันในการเดินทาง การคัดเลือกวัสดุของแพ ส่วนไหนจำเป็นต้องใส่ใจให้ดีที่สุด หรือสิ่งไหนไม่จำเป็นต้องนำไปด้วย รวมไปถึงที่มาที่ไปของครอบครัวว่าธอร์ถูกเลี้ยงดูมาแบบไหนจึงทำให้เขากลายเป็นนักผจญภัย ผู้เปลี่ยนความสนใจส่วนตัวให้เปลี่ยนโลกได้ ผ่านหลายวลีในตำนานของเขาที่ค้นพบจากการผจญภัยออกเดินทาง เช่นครั้งหนึ่งที่เขากล่าวว่า ‘Borders? I’ve never seen one. But I have heard they exist in the minds of some people.’ หรือ พรมแดนน่ะหรือ? ผมไม่เคยเห็นหรอก แต่ผมเคยได้ยินว่ามันมีอยู่ในใจของใครบางคน
คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ในวันจัดงานนั้นอากาศเป็นใจ ฟ้าใส แดดดี ทั้งหมดคงถูกกำหนดไว้อย่างรอบคอบ เพื่อให้ผู้คนสามารถชมเมืองได้อย่างราบรื่น ใครจะเข้าชมเท่าไหร่ก็แล้วแต่กำลังขาของแต่ละคนจะไปไหว เพราะเพียงวันถัดมา หิมะก็กลับมาตกในปลายเดือนเมษาฯ และการที่ออสโลได้รับการชื่นชมว่าเป็นเมืองที่ผู้อยู่อาศัยมีความสุขที่สุด ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความพยายามของหลายๆ ฝ่าย ซึ่งผ่านการคิดเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตได้ในสภาวะที่เท่าเทียมกัน
สุดท้ายแล้วใครจะไปไกลเท่าไหร่ ก็ให้เป็นเรื่องศักยภาพที่แต่ละคนดึงมาใช้ แต่ใจความสำคัญดูจะอยู่ที่การทำสภาวะเริ่มต้นให้คนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ได้ไม่ต่างกัน