แอนเดรส เจ้าของบ้านคนใหม่ เปิดบทสนทนาในวันที่เราพบกันว่า หนึ่ง เขาเป็นชาวคาตาลัน สอง เราเลือกอยู่ถูกที่และจะต้องชอบแถวนี้แน่ๆ เพราะย่านโพเบิลนู (Poblenou) นั้นไม่เหมือนที่ไหนๆ ในบาร์เซโลนา พร้อมกับแนะนำจุดต่างๆ ให้ออกไปเดินสำรวจจะได้รู้ว่าคำกล่าวของเขานั้นไม่เกินจริง
ไม่ต้องรอยืนยันจากแอนเดรสก็พอจะรับรู้ได้ถึงข้อเท็จจริงนั้น ตั้งแต่เห็นธงคาดสีเหลืองแดงมีดาวขาวบนพื้นฟ้าประจำชาติคาตาลุญญา (Catalanya) ปักอยู่หน้าบ้าน และชื่อเสียงของย่านโพเบิลนู (Poblenou) ที่แปลตรงตัวได้ว่า ‘หมู่บ้านใหม่’ ในใจความว่าย่านนี้เคยเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงานในศตวรรษที่ 19 ช่วงยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู ซึ่งเป็นหมู่บ้านสำหรับนักกีฬาในงานโอลิมปิกเกมส์ปี 1992 และกำลังพัฒนาให้กลายเป็นย่านนวัตกรรมของบาร์เซโลนาในศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ทั้งนั้น การได้ฟังจากผู้อยู่อาศัยโดยตรงก็สะท้อนเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นบาร์เซโลนา รวมถึงเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้ Barcelona Model ประสบความสำเร็จ ซึ่งก็คือการกระจายศูนย์กลางของเมืองไปตามย่านต่างๆ พัฒนาและรักษาเอกลักษณ์ของแต่ละย่านไว้ จนความสัมพันธ์ของคนกับที่อยู่อาศัยนั้นกลายเป็นอัตลักษณ์เดียวกัน เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของที่ต้องดูแลย่านของตน มากกว่าเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย
แอนเดรสยิ้มเมื่อเราพูดถึง Barcelona Model แล้วถามต่อว่ามีอะไรที่ทำให้เรานึกถึงบาร์เซโลนาอีก
สิ่งแรกและคำแรกที่ตอบไปก็คือ อันตอนี เกาดี – แน่นอนสิ สถาปนิกชื่อดังของเมือง งานสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ที่กล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของบาร์เซโลนาก็ล้วนเป็นการออกแบบโดยเขาทั้งนั้น แอนเดรสบอกว่า ไม่แปลกใจเลย ใครๆ ก็รู้จักเกาดีทั้งนั้น แต่มีสถาปนิกคนหนึ่งที่อุทิศทั้งชีวิตทำงานให้กับเมืองเมืองนี้ หากแต่ตายไปโดยที่ไม่รู้ว่างานของเขาได้รับการยอมรับและมีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตผู้คนในเมืองนี้มากขนาดไหน และเริ่มเล่าเรื่องราวของ ‘แซร์ดา’ (Ildefons Cerda) สถาปนิกผู้ออกแบบผังเมืองบาร์เซโลนาอันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้คนจนเป็นอย่างทุกวันนี้ให้ฟัง
ชีวิตของแซร์ดานั้นไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกแน่ชัดเท่าไหร่นัก นอกจากประวัติถิ่นฐานและการทำงานที่สะท้อนในผลงานการออกแบบของเขา
ตั้งแต่การเกิดในพื้นที่ชนบทแห่งแคว้นคาตาลุญญา ย้ายเข้ามาในเมืองเพื่อศึกษาต่อทั้งในบาร์เซโลนาและมาดริดจนทำให้เขาเห็นข้อดีของทั้งความเป็นชนบทและความเป็นเมือง เห็นการควบคุมของรัฐจนปรารถนาอิสระในการปกครองตนเอง แซร์ดาเริ่มชีวิตการงานเป็นวิศวกรโยธา และผันตัวกลายมาเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ไม่เพียงทำให้เขาได้คลุกคลีกับผู้คนที่มีส่วนช่วยผลักดันผังเมืองของเขาให้ถูกนำไปใช้ในเวลาต่อมา หากรวมถึงได้รับแนวคิด อุดมการณ์ด้านสังคมนิยมต่างๆที่ส่งผลอย่างมากต่องานออกแบบผังเมืองของเขา
“My plan is boring just like justice.” (แผนของผมนั้นน่าเบื่อพอกับความยุติธรรมนั่นแหละ)
แอนเดรสยกคำของแซร์ดา และอธิบายเสริมความน่าเบื่อนั้นในความหมายว่า ความเสมอภาค ความเท่าเทียม ของผู้คนไม่ว่าจะเป็นชาติ ชนชั้นใดๆ จะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ เป็นวิถีปฏิบัติหากแผนของเขาและความยุติธรรมนั้นถูกปฏิบัติใช้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในรายละเอียดผังเมืองของเขา ที่มีลักษณะเมื่อมองจากมุมสูงคล้ายพิมพ์วาฟเฟิลแปดเหลี่ยม เรียงตัวสัดส่วนเท่ากันขยายไปทั่วทั้งเมือง เส้นทแยงแนวตั้งและแนวนอนที่เชื่อมเมืองทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ได้เป็นเพียงหลักการทางสถาปัตยกรรม หากมีที่มาที่ไปจากอุดมการณ์ของเขาที่ใฝ่ฝันถึงสังคมยูโทเปียที่เห็นภาพมนุษย์อยู่ร่วมกันได้ไม่แบ่งแยกโดยชนชั้นใดๆ รวมไปถึงความเชื่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเมืองและคุณภาพชีวิตของคน
เหลี่ยมมุมของแต่ละบล็อกที่ตัดทอนพื้นที่ส่วนตัวออกไปเพียง 45 องศา เพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่สาธารณะ และปริมาณอากาศถ่ายเทที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตที่ดีที่ถูกคำนวณมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว, เส้นทแยงที่ถูกจัดวางองศาอย่างแม่นยำให้เหมาะสมกับทิศทางของแสงที่จะสาดส่องได้ทั่วเมือง อีกทั้งยังช่วยเชื่อมเมืองทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้คนไม่ว่าจะอยู่ย่านไหนก็สามารถสัญจรเข้าถึงพื้นที่อื่นๆ ของเมืองได้อย่างเท่าเทียม
เราบอกแอนเดรสว่า ดีจังนะที่ได้อยู่ในเมืองที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและความเสมอภาคของผู้คนแบบนี้ แอนเดรสมองหน้าแล้วเหมือนจะเข้าใจการตัดพ้อบางอย่าง จึงกล่าวต่อในเชิงให้ข้อมูลและให้กำลังใจว่า ผังเมืองของแซร์ดาเองแม้จะได้รับการชื่นชมมากมายในวันนี้ ก็ไม่ได้รับการยอมรับแต่แรก และก็ยังมีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ จวบจนวันนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปตามเวลา
ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงนั้นมีการขัดแย้ง คัดค้านอยู่เสมอ แต่ความเห็นต่างนั่นแหละเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้แผนนั้นเกิดขึ้นและเอื้อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในระยะยาว หากเสียงแห่งความต่างนั้นถูกรับฟัง และผู้คนเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีนั้นเกิดขึ้นได้จริง
ฉันเคยบ่นที่สเปนใช้เวลายาวนานไปกับการพักกลางวัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว เมื่อมีพื้นที่สาธารณะกว้างๆ อากาศถ่ายเทโล่งโปร่งสบาย คาดการณ์เวลาเดินทางได้ ก็แล้วทำไมจะไม่ใช้เวลาซึมซับบทสนทนาดีๆ และมิตรภาพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากบทสนทนานั้นให้นานขึ้นสักหน่อยล่ะ