เราเดินข้ามสะพานชาร์ลส์ ข้ามผ่านจัตุรัสเมืองเก่าที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว แผงขาย Trdelník หรือ Chimney cake ขนมปังม้วนแท่งเหล็กย่างบนเตาถ่านโรยด้วยน้ำตาลและผงอบเชย ที่ใครมาก็ต้องซื้อกลับไปถ่ายรูปราวกับว่ามันเป็นขนมท้องถิ่นของที่นี่ ทั้งที่เจ้าขนมนี้มีขายทั่วยุโรปตะวันออกจนบอกไม่ได้ว่ามันเป็นขนมดั้งเดิมของประเทศไหน
เดินต่อมาเรื่อยๆจนถึงจัตุรัสเวนเซสลาส ผ่านถนนช้อปปิ้งสายหลักที่เต็มไปด้วยร้านค้าแบรนด์เนมที่ข้าวของเหมือนกันไปหมดทั่วโลก ผ่านพิพิธภัณฑ์คอมมิวนิสต์ที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร ‘ความฝัน ความจริงและฝันร้าย สะท้อนชีวิตภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวาเกีย’ แต่เรายังคงเดินต่อมาเรื่อยๆ จนมาหยุดอยู่ที่สวนสาธารณะเล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ติดกับโรงหนังเก่าขนาดเล็ก
ที่นี่ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ ไม่มีชื่อติดอยู่ในลิสต์สถานที่ห้ามพลาดเมื่อมาถึงปราก ที่นี่เป็นเพียงโรงอาหาร แต่กลับทำหน้าที่ราวกับไทม์แมชชีนพาย้อนเวลากลับไปยังความเป็นเชโกสโลวาเกียในสมัยคอมมิวนิสต์ที่ยังมีชีวิต รส และกลิ่น…
ช่วงจังหวะการเดินลงบันไดสองชั้นไปยังโรงอาหารใต้ดิน ‘Jidelna Svetozor’ ราวกับกำลังเดินข้ามเวลาไปยังปรากก่อนปี ค.ศ. 1989 ก่อน ‘การปฏิวัติกำมะหยี่’ ก่อนรัฐบาลคอมมิวนิสต์จะล่มสลาย
ภายใต้โรงหนังไม่ไกลจากใจกลางปรากคือโรงอาหารที่มีพนักงานเสิร์ฟอายุน่าจะอยู่ในวัยเกษียณด้วยผมหงอกเทาที่ปิดไม่มิดภายใต้หมวกคลุมผมสีขาว ดูเข้ากันกับชุดผ้ากันเปื้อนสีขาวที่เขาสวมใส่ พวกเขายืนรอรับอาหารกันอยู่หลังเคาน์เตอร์ คอยตักอาหารใส่ถาดจานหลุม ตามลักษณะร้านอาหารบริการตนเอง หน้าเคาน์เตอร์มีเพียงป้ายกระดาษแปะเมนูอาหารภาษาเชก ไม่มีภาษาอังกฤษกำกับ ช่างต่างจากร้านอาหารอื่นๆ ในเมืองท่องเที่ยวอย่างปรากนี้ เรากระโดดออกจากแถวเมื่อเห็นว่าพนักงานเริ่มเท้าเอว หน้าเริ่มนิ่ว คิ้วเริ่มขมวดจากการรอรับออร์เดอร์เราที่ยืนค้างอยู่นาน และปล่อยให้คนอื่นเดินไปสั่งอาการก่อน
เราชะเง้อมองถาดอาหารคนข้างหน้าด้วยความไม่รู้ว่าจะสั่งอะไร และชี้ไปที่ถาดอาหารของเขาที่พูนไปด้วยเนื้อ ซอส และขนมปังก้อนเต็มจาน เดินถือถาดไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ คนขายใช้วิธีกดเครื่องคิดเลขบอกราคาแทนเมื่อเห็นว่าเราพูดภาษาเชกไม่ได้
“95 CZK” (ประมาณ 140 บาท) เราประหลาดใจกับราคาอาหาร แต่ก็ยื่นเงินให้โดยดี เพราะเงินจำนวนเท่ากันนี้บนจัตุรัสที่อยู่ถัดออกไป เราซื้อได้เพียง Chimney cake หนึ่งชิ้นเท่านั้น แต่สำหรับโรงอาหารใต้ดินแห่งนี้เราซื้ออาหารมื้อใหญ่ได้เต็มจาม ราวกับว่าเวลาที่นี่หยุดนิ่งอยู่ในปี ค.ศ. 1989 แช่แข็งทั้งบรรยากาศ ค่าเงิน รวมทั้งชีวิตที่ยังคงทำงานอยู่ในนั้น
เราพิจารณาอาหารตรงหน้าที่ไม่รู้ว่าสั่งอะไรมา เนื้อก้อนใหญ่ชิ้นหนึ่ง วางอยู่บนซอสสีเขียวข้นที่คาดเอาว่าน่าจะเป็นผักโขมบด ส่วนก้อนกลมสีขาวเป็นอย่างเดียวในจานที่ไม่ต้องเดาก็รู้ว่ามันคือ Potato dumplings ทำจากแป้งขนมปังและมันฝรั่ง ให้คาร์โบไฮเดรต อยู่ท้อง และราคาถูก กำเนิดขึ้นในยุคสมัยที่มันฝรั่งคือโภชนาการหลักที่ทั้งถูกและดี ที่สำคัญหาได้ง่ายเมื่อเทียบกับวัตถุดิบอื่นๆ ที่บางทีก็มีขายบ้าง ไม่มีขายบ้าง ตามกลไกจัดสรรปันส่วนที่รัฐเป็นผู้กำหนดไปเสียทุกสิ่ง
ถึงแม้ว่าชิ้นเนื้อและ Potato dumplings ยังคงเหลืออยู่เต็มจาน แต่เนื้อเข้ากันกับซอสผักโขมได้ดีทีเดียว รสชาติอาจติดเค็มไปบ้างด้วยความที่มีเครื่องปรุงหลักไม่กี่อย่าง ส่วนการบริการอาจจะกระอักกระอ่วนไปสักนิด แต่นั่นก็ถือว่าเพียงพอแล้วกับค่าอาหารที่แทบจะเท่าราคาทุนไม่บวกเซอร์วิสชาร์จ รอยยิ้มและการนำมาเสิร์ฟคงเป็นเพียงความหรูหราที่กินไม่ได้ในยุคนั้น เก็บเงินไว้ซื้อ Potato dumplings เพิ่มยังจะคุ้มอิ่มท้องเสียกว่า
โรงอาหารลักษณะนี้เป็นโรงอาหารที่ครั้งหนึ่งมีอยู่แพร่หลายในสมัยคอมมิวนิสต์ ด้วยความที่จำหน่ายอาหารราคาถูกและให้ปริมาณที่ทำเอาอิ่มไปทั้งวัน จึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้คนในยุคนั้น และยังเป็นที่นิยมสำหรับคนใช้แรงงาน นักเรียนนักศึกษา (และนักเดินทางราคาประหยัดเช่นเรา) เมื่อเวลาผันเปลี่ยนจวบจนยุคสมัยนี้ คอมมิวนิสต์ล่มสลายไป เป็นธรรมดาที่สิ่งใหม่ๆ จะเข้ามาแทนที่ ทั้งร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ร้านกาแฟคู่กับครัวซองต์ แผงขาย Chimney cake ที่ดูจะเหมือนกันไปหมดไม่ว่าจะในเมืองไหนก็ตาม
“พวกโหยหาอดีต” คิดแล้วก็ขำออกมาเมื่อรู้ตัวว่ากำลังเปรียบเทียบชีวิตในยุคนั้นกับปัจจุบันที่เป็นอยู่ มนุษย์ผู้เปรียบเทียบตลอดเวลาว่ายุคเก่าที่เราต่างมี ‘ความเท่าเทียม’ การันตีมีงานทำนั้นช่างดีกว่าความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่ากัน น้ำมันแพงในปัจจุบัน ก็ทำให้พลันสงสัยว่าคนในยุคนั้นจะโหยหาความหลากหลายของชนิดขนมปัง คาปูชิโน อเมริกาโน และการบริการยิ้มแย้มทันทีหรือไม่
ไม่มีใครย้อนเวลาได้ และเอาเข้าจริงคงไม่มีใครอยากย้อนเวลากลับไปสู่ยุคนั้นกันสักเท่าไหร่ หากการได้มาสัมผัสวิถีชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอยู่ และยังทิ้งร่องรอยความเป็นอยู่เช่นนั้นในปัจจุบัน ในวันที่อาคารทรงเหลี่ยมสีเทาหม่นถูกปิดทับด้วยป้ายโฆษณาจนดูไม่ออกว่าเคยใช้เป็นที่ทำการของอุดมการณ์ใดมาก่อน ก่อนที่สถานที่ประวัติศาสตร์ต่างๆ จะกลายเป็นเพียงจุดถ่ายรูปและทำเลทองของร้านค้าขายที่ระลึก และแผงขาย Chimney cake
การได้มาลิ้มรส ดมกลิ่นเช่นนี้ ดูจะย้ำเตือนได้ชัดว่าครั้งหนึ่งมันเคยเกิดขึ้นจริง เป็นชีวิตของใครบางคนที่ต้องผ่านช่วงเวลานั้น และได้แต่ฝันว่าอยากจะข้ามผ่านเวลามาในวันที่พวกเขามีทางเลือกมากไปกว่าเนื้อติดมัน ซอสผักโขม และแป้งขนมปัง