ร้านค้าปิดกันแทบทั้งเมือง ผู้คนออกจากบ้านกันแต่เช้า บ้างคาดผม บ้างถือธง บ้างถือป้ายขนาดใหญ่เดินคู่กันไปสองสามคน รูปแบบการสื่อสารต่างกัน หากข้อความนั้นเดียวกัน พวกเขาเดินตรงลงเขาไปยังจุดเดียวกัน ไปยังใจกลางเมืองดารัมซาลา เมืองลี้ภัยของชาวทิเบตในอินเดียตอนเหนือ ใจกลางเมืองที่พวกเขาเคยเป็นสักขีพยานให้กับนับร้อยชีวิตที่จุดไฟเผาตัวเอง เพื่อร้องบอกให้โลกเห็นว่าทิเบตมีตัวตน ให้โลกได้ยินว่าทิเบตไม่ใช่ – และไม่เคย – เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน
อาจแปลกใจที่เห็นผู้ร่วมเดินประท้วงเดินกันอย่างสงบ ปิดร้านค้าออกจากบ้านกันในวันที่สิบมีนา ราวกับเป็นเรื่องปกติ แต่อาจแปลกใจขึ้นไปอีก หากรู้ว่านี่คือการประท้วงต่อรัฐบาลจีนติดต่อกันเป็นปีที่หกสิบ เส้นทางยาวนานที่ยิ่งรู้ยิ่งไม่เพียงแปลกใจ แต่สงสัยว่าอะไรกันคือสิ่งที่ทำให้พวกเขายังคงส่งเสียง เรียกร้อง ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ อย่างไม่สิ้นหวัง แม้จะหวังมานานเกินครึ่งศตวรรษ และยังไม่มีท่าทีว่าไฟแห่งความหวังจะมอดดับลง
ความหวัง, ใช่ นอกจากความโกรธ มันคือมวลของความหวังในบรรยากาศ ความหวังที่ซ่อนอยู่ในทุกถ้อยคำของพวกเขาที่สื่อสารออกมา ความหวังลึกๆ ว่าพวกเขาจะได้กลับบ้าน – บ้านที่ชาวทิเบตหลายคนไม่เคยได้เห็น บ้านที่หลายคนจากมานาน นานจนเหลือเวลาจะใช้ชีวิตอีกไม่นาน หากความหวังนั้นยังคงอยู่ต่อไป ว่าหากแม้ไม่ได้อยู่ อย่างน้อยก็ขอได้ตายในดินแดนที่เรียกว่าทิเบตนั่น
ความหวังที่หลายครั้งฟังดูไม่เข้าท่าในสายตาใครต่อใคร ความหวังที่จะเอาชนะประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ ความหวังในการเอาชนะเครื่องมืออาวุธสกปรกของเผด็จการด้วยวิถีแห่งสันติภาพ ความหวังว่าทุกๆ ก้าวที่ลงแรงไป จะพาไปสู่จุดหมาย แม้จะออกวิ่งด้วยความหวังมานานกว่าหกสิบปี และยังไม่เห็นเส้นชัยในอนาคตอันใกล้นี้
“การต่อสู้มากว่าหกสิบปี และยังไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ได้แปลว่าเราแพ้ วันเดียวที่เราแพ้ คือวันที่เราหมดหวัง หยุดยืนขึ้นต่อสู้เพื่อสิ่งที่เรารู้แก่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง”
เทนซิน เกลซัน นักเคลื่อนไหวในกลุ่มนักศึกษาเพื่อปลดปล่อยทิเบต1 ตอบกลับเมื่อถูกถามว่า การต่อสู้ที่ยาวนานมันทำให้เขาหมดหวังบ้างหรือไม่ คำตอบที่เกลซันตอบมาสอดคล้องกับคำตอบของเพื่อนทิเบตอีกหลายคน กับคนทำงานอีกหลายกลุ่มที่ทำงานเคลื่อนไหวในประเด็นที่ต่างกันไป ทั้งเรื่องสิทธิสตรี วัฒนธรรม ศาสนา การเมือง หากเป้าหมายเดียวที่เขามีอยู่ร่วมกันคือการสื่อสารความจริงให้โลกได้ยิน คือการสร้างประชาธิปไตยนอกบ้าน เพื่อคืนเสรีภาพกลับบ้าน ให้เป็นอิสระจากเผด็จการ
หากการกดให้อยู่ใน ‘ความสงบ’ ภายใต้ความกลัวคือวิธีการคลาสสิกของเผด็จการ การสร้างความหวังก็คงเป็นหนทางการสร้างการเปลี่ยนแปลงของนักปฏิวัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้ง มาร์ติน ลูเธอร์คิง มหาตมา คานธี องค์ดาไล ลามะ หรือแม้กระทั่ง เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมวัย 15 ปีชาวสวีเดน ที่พิสูจน์ผ่านเรื่องราวของพวกเขาว่า การเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความหวังนั้นกินเวลานาน นานจนหลายครั้งในห้วงยามที่หวังอยู่อาจทำให้เกิดความสงสัยในความเป็นไปได้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงนั้นล้วนมาจากความหวังที่เปลี่ยนพลังเป็นการกระทำที่ขาวสะอาด ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้าๆ แต่ในวันที่ไฟแห่งความหวังถูกจุดขึ้นพร้อมกัน แสงนั้นจะสว่างจ้า จนเปิดโปงความมืดของความสงบจอมปลอมที่ถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกแห่งความกลัวเข้าสักวัน
“ความหวังไม่ใช่สิ่งเดียวกับการมองโลกในแง่ดี มันไม่ใช่ความเชื่อมั่นว่าสิ่งทั้งหลายจะจบลงอย่างดีในท้ายที่สุด แต่มันเป็นความเชื่อมั่นว่าบางสิ่งบางอย่างนั้นถูกต้อง และสมควรต่อการลงมือทำ ไม่ว่าผลลัพธ์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม”
คำกล่าวของ วาสลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel) ประธานาธิบดีคนแรกของเชโกสโลวาเกีย และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายของจิตวิทยาเชิงบวกที่อธิบายความต่างระหว่างความหวังกับการมองโลกในแง่ดีไว้ว่า ความหวังนั้นประกอบไปด้วยเจตนาและหนทางในการไปถึงเป้าหมาย ในขณะที่การมองโลกในแง่ดีนั้นคือการเห็นภาพสวยงาม หากไม่มีหนทางไปต่อว่าจะสร้างภาพฝันนั้นให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
ความหวังที่ไม่ได้เพียงทำให้รู้สึกดีเช่นการมองโลกในแง่ดี แต่เป็นสภาวะที่ทำให้เกิดแรงกระตุ้นทางความคิด ซึ่งขับเคลื่อนการกระทำ สร้างแรงอดทนอดกลั้นต่อความผิดหวัง และอยู่บนรากฐานของความจริงว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ข้ามคืน หรือผ่านการชนะเพียงครั้งเดียว หากทุกๆ ก้าว ทุกๆ ไฟความหวังที่ติดขึ้นจากคนหนึ่ง ไปยังสองคน เป็นสิบ เป็นพัน เป็นล้าน ล้วนเป็นกระบวนการ เป็นชัยชนะของความหวังตลอดเส้นทางนั้นเอง
ฝนตกหนัก อากาศเย็นจัดในดารัมซาลา เรานั่งดื่มชาร้อนในห้องทำงานเล็กๆ ของกลุ่มนักศึกษาเพื่อปลดปล่อยทิเบต ในเช้าหลังวันที่ 10 มีนาคม 2019 การต่อต้านปีที่ 60 ของชาวทิเบตในเมืองลี้ภัยแห่งนี้ที่ซ่อนตัวอยู่ใกล้เทือกเขาหิมาลัย
ป้ายแบนเนอร์สีแดง น้ำเงิน เหลือง สีหลักธงชาติทิเบตที่มีข้อความ ‘Remember. Resist. Return’ ถูกติดอยู่เต็มห้อง พอๆ กับที่มันถูกติดกระจายไปทั่วเมือง ความหมายที่ซ่อนอยู่ในแต่ละคำ ตั้งแต่ ‘จดจำ’ ความสูญเสีย ทั้งในแง่ชีวิต วัฒนธรรม ดินแดนที่เกิดขึ้นจากการถูกปกครองโดยเผด็จการ ‘ต่อต้าน’ เรียกร้องถึงความยุติธรรม ด้วยการส่งเสียงความจริงออกไปให้ดังกว่าวาทกรรมจอมปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อความหวังในการ ‘กลับคืน’ สู่ทิเบต ในวันที่ประเทศของเขาเป็นไท เป็นอิสระจากการถูกจองจำ
ชาหายร้อนแล้ว เพื่อนยังนั่งทำงานอยู่ ใจเราเหม่อลอยออกไปถึงดินแดนที่ไกลออกไปพันกว่าไมล์ ดินแดนที่ถูกเรียกว่าเป็นไท ดินแดนที่บอกว่ามีประชาธิปไตย หากเสียงของประชาชนก็ยังไม่เป็นใหญ่ หากเผด็จการก็ยังพยายามจองจำประเทศนั้นต่อไป
แต่ ‘ไม่เป็นไร’ คำเดียวกันที่ทั้งเราและเพื่อนทิเบตราวกับจะปลอบกันด้วยสายตาที่บอกว่า ไม่เป็นไรหรอกคนรุ่นใหม่ มีความหวังกันต่อไป อย่ามัวมองว่าต้องเดินอีกไกลเท่าใดความหวังนั้นจะเป็นจริง ขอเพียงแค่ ‘จดจำ’ ว่าผลของเผด็จการทิ้งซากอะไรไว้ให้เรา ‘ต่อต้าน’ ความไม่ยุติธรรม ด้วยมือที่ขาวสะอาด และ ‘คืน’ ประชาธิปไตย ในความหมายที่แท้จริง ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
1กลุ่ม Students for A Free Tibet: www.sftindia.org