เทนซิน ซุนดู

อำนาจอ่อนโยนผ่านปลายปากกา เครื่องมือส่งเสียงของชาวทิเบตในดารัมซาลา ดินแดนแห่งศรัทธากลางหิมาลัย

ฉันเหนื่อย

เหนื่อยเดินประท้วงทุกสิบมีนา

ตะโกนโห่ร้องก้องไปในหุบเขาดารัมซาลา

 

ฉันเหนื่อย

เหนื่อยกับการขายเสื้อผ้าริมถนน

สี่สิบปีแห่งการอดทน รอคอยความหวังเล็กราวฝุ่นผง

 

ฉันเหนื่อย

เหนื่อยกินข้าวกับดาล1

ให้อาหารวัวควายในป่าคานาคาธา

 

ฉันเหนื่อย

เหนื่อยลากโดตี2ไปมา

บนพื้นโคลนถนนแมนกูทิลา

 

ฉันเหนื่อย

เหนื่อยกับการต่อสู้ให้ประเทศ

ที่ฉันไม่เคยเห็น

—I’m Tired3 เขียนโดย Tenzin Tsundue

เทนซิน ซุนดู

 

     เทนซิน ซุนดู (Tenzin Tsundue) กวี นักเขียน นักเคลื่อนไหว ชาวทิเบตลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในดารัมซาลา (Dharamsala) ที่ประทับของทะไลลามะที่ 14 และรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย อาจดูเหมือนเทนซินทำงานมากมาย หากเป้าหมายหลักเดียวที่เขามีคือการสื่อสารความจริงที่เกิดขึ้นกับชาวทิเบตให้โลกได้ยิน และเพื่อความหวังสูงสุดในชีวิตของเขาในการกลับบ้าน—บ้านที่ไม่เคยได้อยู่ ไม่เคยได้เห็น

     “ผมเกิดและโตในอินเดีย แต่เอกสารประจำตัวบอกว่าผมเป็นคนต่างชาติ มีสัญชาติทิเบต แต่ผมไม่เคยเห็นทิเบต เวลาบอกใครต่อใครว่าเป็นคนทิเบต สายตาพวกเขาดูจะเต็มไปด้วยความสงสัย ความสงสัยที่ดูจะคลายไปเมื่อบอกพวกเขาด้วยคำที่คุ้นชินกว่าว่า ผมเป็นผู้ลี้ภัย…”

     คำถามง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ตอบได้โดยพลัน กลับไม่ง่ายนักสำหรับเขาและชาวทิเบตอีกหลายคน ที่จุดเริ่มต้นการเดินทางอาจต่างกัน บ้างเดินเท้าข้ามหิมาลัยมา บ้างเกิดและโตในอินเดียทั้งชีวิต หากอัตลักษณ์ตัวตนของเขาถูกนิยามด้วยสมุดประจำตัวสีเหลืองเล่มบางที่เรียกพวกเขาว่า ‘ผู้อาศัยชั่วคราว’ ในสถานะ ‘ชาวต่างชาติ’ ที่มีสัญชาติทิเบต—ประเทศที่พวกเขาได้แต่จินตนาการผ่านเรื่องเล่าและตำนานของชาวทิเบตพลัดถิ่นที่ส่งต่อกันมา

 

เทนซิน ซุนดู

 

     เทนซินอาศัยอยู่ในกระท่อมชั้นเดียวกับเพื่อนเขาอีกห้าคน สถานที่ที่เขาใช้อยู่อาศัย หากไม่สามารถเรียกว่าบ้านได้สนิทใจ เพราะไม่มีสิทธิ์ในพื้นที่ และต้องย้ายที่อยู่เรื่อยไป ในกระท่อมหลังนั้น เขาเล่าเรื่องจามรี (Yak) เรื่องของสิงโตหิมะ (Snow Lion) สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของทิเบตที่ปรากฏอยู่บนธงชาติ และนิทานพื้นบ้านที่เล่าขานถึงประเพณีที่สอดคล้องสัมพันธ์กับความเป็นอยู่บนที่ราบสูงกว้างมหาศาลบนความสูงกว่า 4,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

     เรื่องราวมากมายที่พวกเขา ‘คนทิเบต’ ได้ยินเกี่ยวกับ ‘ประเทศของเขา’ เรื่องเล่าที่ไม่ใช่แค่นิทานปรัมปรา แต่เป็นความจริงของชีวิตผู้คนในเทือกเขาหิมาลัย… เรื่องราวที่เขาได้ยินมาแต่เล็กจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เรื่องราวที่หล่อหลอม สร้างจินตนาการความเป็นทิเบตให้เกิดขึ้นในใจ แม้ไม่เคยได้อยู่อาศัย ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับไป ในดินแดนที่ใครต่อใครบอกว่านั่นคือที่ที่เขาจากมา

 

เทนซิน ซุนดู

 

     “ผมไม่มีพลังอำนาจทางการเมืองใดๆ พลังเดียวที่ผมมีคืองานเขียนของผม งานเขียนที่ผมใส่ความรู้สึก สื่อสารความคิด และเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้คิดต่อจากนั้น”

     บทกวี งานเขียนของเทนซินนั้นเต็มไปด้วยภาพ ภาพที่สร้างจินตนาการ ก่อให้เกิดความรู้สึก สื่อสารข้อความที่ลึกซึ้งไปกว่าความจริงที่เกิดขึ้น หากเชื่อมต่อผู้อ่านเข้ากับประสบการณ์ของเขาและชาวทิเบตกว่า 150,000 คนที่ ‘พลัดถิ่น’ อยู่ในดารัมซาลา

     กวีของเขาที่วาดภาพทิเบตในจินตนาการ

     กวีของเขาที่บอกเล่าความฝันในใจว่าแม้ไม่ได้เกิดที่นั่น หากฝันที่จะตายที่นั่น

     กวีของเขาที่ระบายความเหนื่อยล้ากับการต้องต่อสู้ ให้กับบ้านที่เขาไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

     กวี งานเขียนที่เทนซินบอกว่าเป็นเครื่องมือ เป็นพลังเดียวที่เขามีในการใช้เชื่อมต่อเขากับผู้คน ไม่ว่าจะชาติใดๆ กวี งานเขียน ที่เขากล่าวว่าเป็น ‘การเปลี่ยนแปลงจิตใจผู้คนที่อ่อนโยนที่สุด ในหนทางที่ไม่มีการใช้อำนาจกดขี่ใดจะทำได้เสมอเหมือน’ 

 


1 ดาล: อาหารอินเดียชนิดหนึ่งทำจากถั่ว

2 โดตี: กางเกงของชาวอินเดียทรงคล้ายโจงกระเบน

I’m Tired ที่มา: www.tenzintsundue.com/poems/im-tired