“Art wasn’t supposed to look nice; it was supposed to make you feel” —ศิลปะไม่ควรเป็นเพียงความสวยงามเท่านั้น ศิลปะควรทำให้เรารู้สึก -Pablo Picasso
คำพูดนี้มักสะท้อนก้องไปมาอยู่ในหัว เมื่อตัวเองยืนอยู่หน้าภาพวาดและงานศิลปะต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ที่กระจายตัวอยู่มากมายทั่วยุโรป มันเป็นคำพูดที่ทำให้ประสบการณ์ร่วมกับงานศิลปะของเรารื่นรมย์กว่าเคย เมื่อได้เปลี่ยนจากสถานะผู้รับสาร มาเป็นผู้แปลงสารผ่านการตีความเฉพาะตัวตามความรู้สึก แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่งานศิลปะจะทำให้ความรู้สึกชัดเจนท่วมท้นทันทีที่สัมผัส เท่าการได้มาเยือน The Memorial to the Murdered Jews of Europe (The Holocaust Memorial) ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีในครั้งนี้
แซม นักศึกษาประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้อาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลินมากว่า 5 ปี เพราะตกหลุมรักเรื่องราวของเมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แทบทุกหัวมุมถนน เขาเอ่ยปากพาเดินรอบเมืองทันทีที่เราบอกว่าอยากรู้จักที่นี่มากกว่านี้
เราเริ่มต้นออกเดินจากกำแพงเบอร์ลิน ผ่านตึกที่ทำการพรรคนาซีแห่งสุดท้าย ผ่าน Checkpoint Charlie ด่านตรวจข้ามระหว่างเบอร์ลินสองฝั่ง ที่ตอนนี้ดูจะถูกกลืนไปด้วยโลโก้ความเป็นทุนนิยมทั้งหลาย แต่ละสถานที่เหล่านั้นพอจะคุ้นตาอยู่บ้าง จนกระทั่งแซมพามายืนอยู่กลางลานจอดรถแห่งหนึ่งที่ล้อมรอบไปด้วยแฟลต อพาร์ตเมนต์ ไม่มีป้าย ไม่มีสัญลักษณ์อะไรที่บ่งบอกถึงที่มาที่ไปของสถานที่นี้ นอกจากเรื่องราวที่ถูกบันทึกและรับรู้กันว่าบริเวณใต้ดินของลานจอดรถ ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดซ่อนตัวสุดท้ายของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก่อนเสียชีวิต
ในขณะที่คนเยอรมันดูจะเป็นคนตรงไปตรงมา จากการตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ เช่น Museum Island เกาะพิพิธภัณฑ์ ที่รวบรวมหลายพิพิธภัณฑ์เข้าไว้ในบริเวณเดียวกัน Französischer Dom (French Cathedral) หรือแม้แต่ Führerbunker (Leader’s Bunker) เรื่องละเอียดอ่อนเช่นการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหล่านี้ดูเหมือนว่าจะส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนที่นี่ไปแล้ว เยอรมันนั้นช่างแยบยล ไตร่ตรองละเอียดถี่ถ้วนในการกระทำ
แซมยืนเล่าเรื่องถึงช่วงวันสุดท้ายของฮิตเลอร์ก่อนและหลังเขาจะฆ่าตัวตาย ณ บริเวณนั้น ซึ่งภายหลังออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัย และจำกัดการใช้งานให้เป็นเพียงลานจอดรถสาธารณะทั่วไป ไม่ใช่เพื่อป้องกันการชุมนุมของผู้ฝักใฝ่ในแนวคิดสุดโต่งนี้ หากแต่ยังเป็นการเห็นพ้องต้องกันของคนหลายกลุ่มแล้วว่า มันไม่ใช่เหตุการณ์ที่คู่ควรต่อการสละพื้นที่ให้จารึกหรือจดจำ
แซมคงจับได้ถึงสายตาของเราที่เต็มไปด้วยความใคร่สงสัย เขาจึงอธิบายต่อไป นั่นไม่ได้หมายความว่าคนเยอรมันต้องการล้าง ลบเลือน บิดเบือนประวัติศาสตร์ แต่พวกเขากลับมองว่ามันป่วยการที่จะสละพื้นที่ใดๆ ของปัจจุบันให้กับผู้กระทำในอดีต และหากจะมีสิ่งใดที่ควรค่าต่อการได้รับการจารึกและถูกจดจำ สิ่งนั้นก็ควรเป็นผู้ถูกกระทำหรือชีวิตบริสุทธิ์ที่ต้องสูญเสียไปในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมากกว่า
เมื่อกล่าวเช่นนั้นจบแล้ว แซมก็พาเดินต่อไปอีกไม่กี่ร้อยเมตร ไปยังใจกลางของเบอร์ลิน ใกล้สวนสาธารณะบรันเดนบูร์ก ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในย่านที่แพงที่สุดของเมือง แต่กลับมีพื้นที่จำนวนถึง 4.7 เอเคอร์ ถูกนำไปใช้สร้างเป็นอนุสรณ์สถานให้กับกว่า 6 ล้านชีวิตที่สูญเสียไปในเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิว
จุดที่ตั้งกลางใจเมืองนี้ นอกจากจะสะท้อนแนวคิดในการให้ความสำคัญกับชีวิตของผู้สูญเสียแล้ว ยังทำให้เกิดความรู้สึกร่วมบางอย่าง จากพื้นที่สาธารณะร่มรื่นกลายเป็นที่พักผ่อนของผู้คนในเมือง เพียงแค่ข้ามถนนมาก็จะพบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางแท่งคอนกรีตกว่า 700 แท่ง ความสูงลดหลั่นกันไป ช่องว่างระหว่างกันกว้างเพียงพอให้คนสองคนเดินลอดไปได้เท่านั้น ไม่มีคำอธิบายใดๆ ในอนุสรณ์สถานแห่งนี้ แต่ความเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่แห่งความสูญเสีย ก็สะท้อนทำให้รู้สึกถึงความเปราะบางของชีวิต ที่เพียงไม่กี่ก้าวย่าง ไม่กี่อึดลมหายใจ พื้นที่สาธารณะก็อาจพรากความเป็นอิสระและชีวิตนั้นไปทันที่ที่ก้าวเข้าไปสู่ใจกลางของมัน
ว่ากันว่า ปีเตอร์ ไอเซนแมน สถาปนิกชาวอเมริกันที่ชนะการออกแบบอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ตั้งใจจะแสดงถึงความเป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ที่แน่นตรึงไร้ความบิดเบี้ยวของระบอบนาซี แต่ในขณะเดียวกันความเป็นระเบียบแน่นตรึงนั้นก็สร้างความรู้สึกบิดเบี้ยว (distorted) อึดอัด คับแน่น ในความเป็นเส้นตรงดิ่งไร้ความโอนอ่อนใดๆ ในความเถรตรงสุดโต่ง เฉกเช่นเดียวกับแนวคิดอุดมการณ์ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สั่นสะเทือนมนุษยชาตินี้ขึ้น
นักวิจารณ์หลายคนอาจจะตั้งข้อสังเกตว่า อนุสรณ์สถานนี้มีความไม่เหมาะสมหลายอย่าง ตั้งแต่ชื่อของอนุสรณ์สถานที่ไม่ระบุผู้กระทำ ไม่ระบุช่วงเวลาของเหตุการณ์ ราวกลับจะให้การทึกทักไปเองว่า ‘ทุกคนรู้อยู่แล้ว’ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์ค่อยๆ เลือนหายไป ไม่มีแม้กระทั่งชื่อของผู้เสียชีวิตที่ควรถูกบันทึกไว้ในสถานที่นี้ด้วยซ้ำ
ใดๆ ในโลกล้วนขึ้นอยู่กับการตีความ แม้ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นชัดเจนแจ่มแจ้ง จนแทบจะไม่มีความขาวทินต์เจือปนในภาพสีดำ ก็ยังถูกตีความต่างกันไปตามแต่เลนส์ที่ใช้ในการมอง
ถ้าสิ่งนี้คือการบันทึกเรื่องราวในรูปแบบของงานศิลปะ และหากศิลปะนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อความสวยงาม แต่มีไว้เพื่อให้รู้สึก ดังที่ปิกัสโซเคยว่าไว้ เราคงต้องบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เดินผ่านอย่างเนิบช้าในเขาวงกตคอนกรีตใจกลางเบอร์ลิน ว่ามันทำให้เรารู้สึกอึดอัดขนาดไหน
เงาของคอนกรีตที่กดทับเงาของผู้เดินสำรวจร่องรอยในเขาวงกตนั้นมืดทึบ แม้ในเวลากลางวันของฤดูร้อนที่แดดสว่างจ้าจนทำให้แสบตาทันทีที่เดินออกมา แต่ชีวิตของใครบางคนกลับพาถูกเข้าไปอยู่ในนั้น และไม่เคยได้เดินออกมาอีกเลย วันนี้ชีวิตของพวกเขาถูกบันทึกไว้เพียงแท่งคอนกรีตสีเทา เพื่อบอกว่าชีวิตของเขาเหล่านั้นมีอยู่จริง แล้วดับสูญไป ก่อนที่จะได้ใช้