อุสซูพิส

City Tales | ‘อุสซูพิส’ รัฐอิสระและรัฐธรรมนูญที่กล่าวถึงสิทธิที่จะรักและดูแลแมว (หรือไม่รักอะไรเลย)

ทุกคนมีสิทธิในการตาย (หากนั่นไม่ใช่ข้อบังคับ), สิทธิในการทำผิดพลาด, สิทธิที่จะสงสัย, สิทธิที่จะรัก และถูกรัก (หากข้อหลังนั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็น), สิทธิในการมีความสุข, สิทธิในการที่จะไม่มีความสุข, สิทธิในการมีศรัทธา, สิทธิในการเลือกสัญชาติของตนเอง, สิทธิที่จะเข้าใจ หรือปฏิเสธที่จะเข้าใจอะไรเลย, สิทธิที่จะรักและดูแลแมว (หากแมวไม่ต้องรักและดูแลคุณกลับ)…”

 

     ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลกและโกหก หากจะบอกว่าข้อความข้างต้นคือบางส่วนของรัฐธรรมนูญประจำรัฐอิสระแห่งหนึ่ง หากแต่นี่เป็นข้อความจริง และรัฐแห่งนี้มีตัวตนอยู่จริง ณ ที่ตั้งในเมืองหลวงวิลนีอุส แห่งประเทศลิทัวเนีย รัฐนี้มีชื่อว่า ‘อุสซูพิส’ (Uzupis) ที่ตามหลักการแล้วเป็นเขตการปกครองพิเศษในย่านเมืองเก่า แต่ในทางปฏิบัติและความรับรู้ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ อุสซูพิสคือรัฐอิสระของพวกเขา ที่มีรัฐธรรมนูญ (ข้างต้น) เป็นของตนเอง มีระบอบการปกครอง รัฐสภา รัฐมนตรี เป็นของตนเอง

     เรื่องราวของพวกเขาที่ฟังดูเคลือบอุดมการณ์ทานไม่ได้จนกลายเป็นเรื่องตลกของคนทั่วไปก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เมื่อได้รู้ว่าอุสซูพิสนั้นก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1997 (April Fool’s Day) จากการพูดคุยกันของศิลปินสองคนในบาร์แห่งหนึ่งที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็น ‘รัฐสบาร์’ (barliament) ที่ยังคงถูกใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสำคัญๆ ทั้งเลือกตั้ง แต่งตั้งรัฐมนตรีคนใหม่ และเป็นสถานที่พบปะกันของผู้คนในเมืองอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

 

     เราเดินข้ามย่านเมืองเก่าของวิลนีอุสมาจนเจอสะพานไม้ที่เชื่อมต่อเมืองที่ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่ง ด้วยเสียงเพลง ธงสีสันต่างๆ ที่เห็นเด่นชัดออกมาจากย่านนั้นทำให้รู้ทันทีว่าเรามาถึงอุสซูพิสแล้ว และเมื่อเดินข้ามสะพานไม้ ก็พบกับชื่อเมืองที่ติดอยู่กับป้ายจราจรที่เป็นรูปหน้ายิ้ม ราวกับจะเชื้อเชิญให้ผู้คนที่กำลังจะก้าวเข้าไปสู่เมืองนี้ปรับอารมณ์ตนเอง ให้ยิ้มแย้มเสียก่อนที่จะเข้าไปสู่ดินแดนของพวกเขา

 

     ครั้งหนึ่งอุสซูพิสเคยเป็นย่านของชาวยิว แต่ผู้คนในเมืองถูกกวาดล้างไปในช่วงสงครามโลก และด้วยความที่ถูกตัดขาดออกจากเมืองหลวงด้วยแม่น้ำวิลเนียก็ทำให้อุสซูพิสกลายเป็นย่านที่ถูกปล่อยทิ้งร้างในสมัยที่ลิทัวเนียถูกปกครองโดยโซเวียต แต่ความเป็นอิสระจากการดูแลโดยภาครัฐ บ้านที่ถูกปล่อยร้างในที่ดินราคาถูกนั้นกลับดึงดูดศิลปิน วัยรุ่น เหล่านักเดินทางทั้งหลาย ที่ค่อยๆ รวมตัวกันและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มมีการจัดการอย่างอิสระโดยพวกเขาเอง และเมื่อใครคนใดคนหนึ่งพูดติดตลกขึ้นมาในวันที่ 1 เมษายนนั้นว่าอุสซูพิสควรจะเป็นรัฐอิสระโดยสมบูรณ์ มุกตลกนั้นกลับได้รับความเห็นด้วยจากทุกคนในบาร์ และร่วมกันลงนามตกลงให้อุสซูพิสเป็นรัฐอิสระบนกระดาษที่พอจะหาได้ในบาร์ ที่กลายมาเป็นรัฐสบาร์ และผู้เอ่ยไอเดียนั้นขึ้นมาก็กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอุสซูพิสด้วยความยินยอมจากผู้คนรอบตัว

     และถึงแม้อุสซูพิสจะถูกก่อตั้งในวันเอพริลฟูลส์ แต่การจัดการของอุสซูพิสนั้นกลับเป็นเรื่องที่ผู้คนในเมืองให้ความสำคัญ และใส่ใจกับหน้าที่ความรับผิดชอบกันอย่างจริงจัง มีการแบ่งหน้าที่การทำงานผ่านรัฐมนตรีต่างๆ ทั้งรัฐมนตรีด้านความสัมพันธ์ของผู้คน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการดูแลสุขภาวะกายและใจ ด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ โดยรัฐมนตรีที่แต่งตั้งนั้นมีทั้งผ่านการเลือกตั้ง หรือหากใครคิดว่าตนเองเหมาะสมกับงานด้านใดก็สามารถแจ้งในที่ประชุมของเมืองซึ่งมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ และเสนอตนเองเข้าในวาระที่ประชุมได้

     หรือแม้กระทั่งนักเดินทางอย่างเราๆ ก็สามารถเสนอให้ตนเองเป็นทูตอุสซูพิสประจำประเทศตนได้หากประทับใจในการมาเยือน ทั้งนี้ทั้งนั้นตำแหน่งทั้งหลายที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาไม่ได้หมายถึงอำนาจ หรือความเป็นผู้ควบคุมตั้งกฎเกณฑ์อะไร หากหมายถึงการเป็นผู้ดูแล พัฒนาในเรื่องนั้นๆ ให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้คนในอุสซูพิสอยู่กันได้อย่างมีความสุขในดินแดนที่พวกเขาสร้างขึ้นมา

 

     “โลกเรานั้นเริ่มจะจริงจังกับทุกสิ่งทุกอย่างกันมากเกินไป เราน่าจะสนุกกับชีวิตและสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้มากขึ้นกว่านี้ มองชีวิตให้เป็นเรื่องสนุก ใส่ใจในเรื่องที่ควรใส่ใจ และขำใส่มันไปในเรื่องที่ไม่ใช่สิ่งสำคัญ” เจ้าของร้านขายของที่ระลึกกล่าวกับเรา ร้านของเขานั้นตกแต่งหน้าร้านคล้ายด่านตรวจคนเข้าเมือง และมีมุมให้นักเดินทางเข้ามาแสตมป์พาสปอร์ตตราประเทศอุสซูพิสในร้านของเขาได้

 

     ความทีเล่นทีจริงของอุสซูพิสนั้นมีอยู่ทั่วเมือง ตั้งแต่ป้ายจราจรหน้ายิ้ม รัฐสบาร์ รูปปั้นพระเยซูสะพายย่าม รวมไปถึงถนนรัฐธรรมนูญที่มีแผ่นป้ายสีเงินขนาดใหญ่ติดตั้งไว้บนกำแพงตลอดความยาวของถนน รัฐธรรมนูญ 41 ข้อ ที่ดูเป็นข้อความทีเล่นทีจริงของพวกเขานั้น ปัจจุบันมีการร่วมมือกันอย่างจริงจังกับสถานทูตของนานาประเทศในการสนับสนุนการติดตั้งป้ายที่ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากเกือบ 30 ภาษา การที่ประเทศใดจะสามารถติดตั้งรัฐธรรมนูญแห่งอุสซูพิสในภาษาของตนเองบนถนนนี้ได้นั้น ก็จะต้องมีเรื่องราวความสัมพันธ์บางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศกับอุสซูพิส อาจจะเป็นเรื่องจริงจัง ตั้งแต่การมีรากภาษา มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน หรือเป็นความสัมพันธ์ดิจิตอลเพียงแค่มีบล็อกเกอร์จากประเทศนั้นเขียนถึงอุสซูพิสก็ย่อมได้

 

     “ทุกคนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในอิสรภาพของตนเอง…”

 

     เรายืนอ่านแผ่นป้ายสีเงินขนาดสูงท่วมหัวมาจนถึงบรรทัดเกือบสุดท้าย มีเพียงไม่กี่ข้อที่กล่าวถึงหน้าที่ที่เอาเข้าจริงแล้วน่าจะครอบคลุมหน้าที่ขั้นพื้นฐานในการได้รับสิทธิเสรีภาพ ในความเบาหวิวทีเล่นทีจริงของอุสซูพิสนั้นดูจะมีความจริงจังในเรื่องที่สลักสำคัญแฝงอยู่เสมอ รัฐธรรมนูญ 41 ข้อ ที่ข้อแรกๆ อาจทำให้ขำออกมา แต่เมื่ออ่านมาจนบรรทัดสุดท้าย กลับพบนัยยะการให้ความสำคัญในเรื่องความอดทนอดกลั้น เสียสละแบ่งปัน เคารพในความต่าง มิตรภาพ และสันติภาพของผู้คน

     ถึงแม้อุสซูพิสจะเป็นเพียงเรื่องตลกสำหรับคนภายนอก แต่อย่างไรก็ตาม อุสซูพิสนั้นก็มีการเลือกตั้งตามระยะเวลาที่ผู้คนในเมืองนั้นเห็นพ้องต้องกัน ‘รัฐสบาร์’ ของพวกเขามีการนัดประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างอิสระ มีผู้คนในเมืองเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็นต่อเมืองอย่างสม่ำเสมอ รัฐธรรมนูญ 41 ข้อที่กล่าวถึงสิทธิในการรักแมว

     และ ‘รัฐสบาร์’ อาจเป็นเรื่องตลกสำหรับผู้คนภายนอก แต่บางทีเรื่องราวของโลกภายนอก อาจเป็นเรื่องตลกร้ายที่พวกเขาอาจส่ายหัวในความไม่ตลกของมันก็ได้