เวียนนา

City Tales | ชีวิตคนไร้บ้านในเวียนนา อีกด้านหนึ่งของออสเตรียที่น้อยคนนักจะมองเห็น

โอเปราเฮาส์ โรงอุปรากรแห่งชาติที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของกรุงเวียนนา ด้านหน้าอาคารประดับตกแต่งด้วยศิลปะสไตล์นีโอเรอเนซองส์ ด้านในผสมผสานศิลปะหลายยุคสมัย แทบทุกตารางนิ้วประดับตกแต่งไปด้วยรูปปั้นสีทองอร่าม บนพื้นปูพรมแดงก่ำตัดกับผนังหินอ่อน ไม่เพียงแต่โดดเด่นในเรื่องความสวยงาม แต่ยังมีนัยยะสำคัญเป็นสถานที่ที่ใช้สืบสานเรื่องราวความรุ่งเรืองของชาติในอดีตมาสู่ปัจจุบัน ผ่านบทประพันธ์คลาสสิกของคีตกวีเอกระดับโลกอย่างโมซาร์ต หรือวากเนอร์ ซึ่งรวมความเป็นเลิศทางดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ไม่ว่าใครมาถึงเวียนนาก็ต้องแวะที่นี่กันทั้งนั้น เราเดินผ่านหน้าโรงละครไปเรื่อยๆ จากประตูหนึ่งไปสู่อีกประตูหนึ่งจนถึงด้านหลังโอเปราเฮาส์ หยุดยืนหน้าประตูเหล็กสีแดงหม่นไร้การตกแต่งประดับประดาใดๆ ไม่มีคนยืนรอต่อแถวซื้อบัตร ไม่มีคนถ่ายรูป นี่คือประตูบานเดียวที่เปิดรับผู้คนที่ไม่มีบัตร หรือแม้กระทั่งผู้ไม่มีบ้านให้เข้าไปรับความอบอุ่นในโรงละครได้ 

เวียนนา

 

     ในยามที่ม่านสีแดงถูกปิดลง เมื่อผู้คนทยอยออกจากโรงละครผ่านประตูด้านหน้า ประตูด้านหลังจนหมด ของโอเปราเฮาส์นี้ก็จะเปิดให้คนไร้บ้านได้เข้ามาอาศัยตั้งแต่ช่วงเวลา 4 ทุ่มถึง 8 โมงเช้าในฤดูหนาวของออสเตรีย สาเหตุที่ต้องใช้ประตูเหล็กหนาหนักกั้นไว้ก็เพื่อความเหน็บหนาวจะไม่เล็ดลอดเข้ามาได้ นี่คือข้อมูลแรกที่เราได้รับเมื่อพบกับ คีธ (นามสมมติ) ไกด์ที่เป็นคนไร้บ้าน ผู้จะพาเราไปพบกับอีกด้านหนึ่งของเวียนนา เราได้นัดหมายไว้กับกลุ่มกิจการสังคมในนาม ‘Shades Tour’ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน ผ่านการจัดทัวร์รูปแบบกึ่งการเรียนรู้ เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจสถานการณ์คนไร้บ้านในเวียนนามากขึ้น สร้างความเข้าใจจากการพูดคุย ทำความรู้จัก และขจัดอคติจากความกลัวและความไม่รู้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างรายได้ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวัน แต่ยังช่วยสร้างประวัติการทำงานที่จะเอื้อต่อการหางานต่อไปในระยะยาว 

     คีธเป็นชาวไนจีเรียนที่อาศัยในออสเตรียมากว่า 20 ปี เมื่อเขาได้รับทุนเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในออสเตรีย ชีวิตการเรียนที่นี่ผ่านไปด้วยดี คีธเรียนจบและเรียนต่อเฉพาะทางตามวิถีนักเรียนแพทย์ แต่ปัญหาเริ่มปรากฏเมื่อเขาต้องเริ่มเข้าทำงานในโรงพยาบาล คีธรอคอยการขึ้นทะเบียนแพทย์อยู่นาน ได้แต่ทำงานผู้ช่วยในโรงพยาบาลประจำเมืองเล็กๆ ของออสเตรีย ซึ่งรายได้ของเขานั้นขึ้นอยู่กับสัดส่วนของคนไข้ที่ได้รับ ในเมืองที่คนอาศัยน้อยอยู่แล้ว โรงพยาบาลขนาดเล็กก็มีคนน้อยตาม สถานการณ์แย่ลงไปอีกเมื่อความเป็นแพทย์ผิวสียังไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนในเมืองนั้น ทำให้เขาถูกปฏิเสธขอเปลี่ยนตัวจากคนไข้อยู่หลายหน จนกลายเป็นว่าจำนวนคนไข้ที่จะเล็ดลอดมาถึงเขานั้นน้อยจนแทบจะเลี้ยงดูตัวเองไม่ได้ ความเครียดทั้งเรื่องงาน การขึ้นทะเบียนแพทย์ การไม่ได้รับความยอมรับในสังคม ล้วนส่งผลต่อสภาพจิตใจของเขาในตอนนั้นจนเกิดเป็นโรคหัวใจที่ติดตัวมาจนวันนี้

     คีธตัดสินใจออกจากเมืองเล็กๆ แห่งนั้นมาอยู่ในเวียนนา ด้วยความหวังว่าจะมีโอกาสมากขึ้น เขาใช้เวลาหางานอยู่หลายปี หากแต่รู้ตัวอีกทีประวัติการทำงานของเขาก็โหว่ว่าง กลายเป็นคนไร้บ้านไปเสียแล้ว

     เรื่องราวของคีธทำให้นึกถึงหนังเรื่อง The African Doctor ภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่สร้างจากเรื่องจริงของแพทย์ชาวคองโก ซึ่งเล่าเรื่องราวการเติบโตและฝ่าฟันชีวิตการเป็นแพทย์ผิวสีในเมืองเล็กๆ ของฝรั่งเศส เรื่องราวของหนึ่งชีวิตที่สะท้อนประเด็นทางสังคมส่วนใหญ่ แต่ชีวิตของคีธนั้นไม่ได้จบลงอย่างอบอุ่นงดงามเช่นในภาพยนตร์ที่มักทำให้เราเข้าใจกันไปว่าเรื่องราวทั้งหลายจะคลี่คลายจากร้ายกลายเป็นดีในท้ายที่สุด เพราะชีวิตจริงของคนบางคนนั้น เรื่องราวอาจจะค้างเติ่งอยู่เป็นปมปัญหาที่คลายไม่ออก จากร้ายไม่กลายเป็นดี แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเป็นพล็อตเรื่องที่ไม่ได้ถูกเล่า เพราะเป็นเรื่องเศร้าที่ไม่มีใครอยากฟัง

 

เวียนนา

 

     เราเดินกันมาเรื่อยๆ ในสวนสาธารณะไม่ไกลจากโอเปราเฮาส์ นั่งล้อมวงพูดคุยกันในสวนที่ผู้คนออกมาพักผ่อนในตอนกลางวัน แต่บางมุมของสวนนั้นอาจกลายเป็นที่พักของใครบางคนในตอนกลางคืน คีธเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์คนไร้บ้านในเวียนนาว่า ปัจจุบันมียอดคนไร้บ้านอยู่ที่ 11,000 คนในเวียนนา และ 16,000 คนในออสเตรียตามจำนวนที่ ‘นับได้’ ในจำนวนนี้ 70% เป็นคนที่ ‘eligible’ มีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักที่กำหนดว่าคนไร้บ้านคนนั้นจะมีสิทธิ์ในการเข้าถึงการคุ้มครองในด้านใดบ้าง คุณสมบัติที่กำหนดโดยรัฐนี้เป็นตัวแปรที่สำคัญต่อความเป็นอยู่ของคนไร้บ้าน ทั้งในแง่ของที่พักอาศัยชั่วคราว อาหาร การรักษาพยาบาล ฯลฯ เรียกได้ว่า หากคนไร้บ้านเป็นสถานะด้านล่างในสังคม คนไร้บ้านที่ ‘ineligible’ ไม่มีคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนดนั้นก็นับได้ว่าเป็นสถานะอีกชั้นที่ถูกกดทับไปอีก 

     เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายมาเป็นคนไร้บ้าน คีธเล่าว่ามีเหตุผลหลักๆ อยู่ 6 ประการคือ การว่างงาน, การเสพติด, มีหนี้สิน, ความป่วยกายและใจ, ปัญหาครอบครัว/สังคม, หรือเป็นทางเลือกของคนคนนั้น ตามลำดับ

     เรานั่งกันในสวนนั้นอีกพักใหญ่เพื่อฟังเรื่องราวของเพื่อนคนไร้บ้านที่คีธรู้จัก บ้างเคยเป็นเจ้าของกิจการบางอย่างแต่ขาดทุน เกิดหนี้สิน และโรคที่ตามมากับความเครียดเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ทำให้เขาคนนั้นกลายเป็นคนไร้บ้าน บ้างสูญเสียคนในครอบครัวและไม่สามารถเข้ากันได้กับญาติที่เหลืออยู่จนตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เรื่องราวของคีธและเพื่อนของเขาที่ทำให้เราเงียบกันไป เพราะสถานการณ์เหล่านั้นช่างคลับคล้ายคลับคลา ราวกับว่าใครๆ ก็กลายเป็นคนไร้บ้านได้ทั้งนั้น 

     คีธเห็นเราเงียบลง จึงชวนเดินออกจากสวนมายังถนนเล็กๆ เส้นหนึ่งที่ตรงข้ามเป็นร้านอาหาร ผู้คนเริ่มออกมานั่งกินเบียร์กันแล้วในตอนเย็นเกือบพลบค่ำเช่นนี้ แต่ใครจะรู้ว่าตรงข้ามร้านอาหาร ห้องแถวเดียวที่ประตูปิดสนิทอยู่ตอนเย็นนั้น เป็นสถานที่ที่คนไร้บ้านจะมารวมตัวกันยามเช้ามืดเพื่อรอรับอาหารจากองค์กรอิสระที่ให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ โดยอาหารส่วนมากนั้นมักจะเป็นซุปและขนมปัง เพราะจัดการง่าย อิ่มท้อง (คีธพูดติดตลกว่ากินง่าย สำหรับคนไร้บ้านที่มักมีปัญหาด้านช่องปาก) คีธเล่าว่า การขาดแคลนอาหารไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่สำหรับคนไร้บ้าน เพราะมีองค์กรจำนวนมากคอยแจกจ่ายอาหารตามจุดต่างๆ อยู่เสมอ และปัจจุบันก็มีการร่วมมือกันของร้านค้าต่างๆ ในการนำอาหารที่เหลือจากการขายแต่ยังอยู่ในสภาพดีมาแจกจ่ายเพิ่มเติม 

     เรานึกถึงประสบการณ์ตรงที่เคยยื่นขนมปังที่ซื้อมาให้กับคนไร้บ้าน แต่ถูกปฏิเสธและขอเป็นเงินแทน สิ่งที่คีธเล่ามาทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า มีเรื่องไหนเกี่ยวกับพวกเขาอีกที่เราอาจคิดกันไปเองแต่ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ใช่ความต้องการจริงของพวกเขา เราถามคีธว่า แล้วจริงๆ ควรให้เงินหรือไม่ ความต้องการจริงๆ คือเรื่องอะไร คีธตอบว่า มันขึ้นอยู่กับผู้ให้ ถ้าให้แล้วสบายใจก็ให้ ขอเพียงแค่ไม่มองกันด้วยสายตาหวาดกลัวหรือรังเกียจก็พอ ส่วนเรื่องความต้องการนั้นเขาไม่สามารถตอบคำถามนี้แทนทุกคนได้ แต่สำหรับเขานั้น งานคือสิ่งที่น่าจะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด ไม่เพียงแต่เพราะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้ แต่มันคือการทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้ ‘ด้วยตัวเอง’

 

เวียนนา

 

     เราเดินย้อนกันกลับมา ณ จุดเริ่มต้นที่ประตูเหล็กสีแดง ด้านหลังโอเปราเฮาส์ เราถามคีธว่าคืนนี้จะมาพักที่นี่หรือเปล่า คีธอธิบายว่าที่นี่เปิดเฉพาะหน้าหนาวเท่านั้น ในฤดูอื่นเขาจะไปนอนในที่พักพิงตอนกลางคืน ซึ่งต้องจ่ายเงินวันละ 2 ยูโร และเปิดให้พักได้แค่ตอนกลางคืนตามชื่อเรียกของมัน ในตอนกลางวันพวกเขาต้องเก็บสัมภาระออกไปหาที่อยู่เอง คีธบอกว่าเขามักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องสมุดสาธารณะที่คนไร้บ้านผู้มีบัตรสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ห้องสมุดเป็นที่ที่เขาชอบที่สุดในเมืองแห่งนี้ เพราะมันทั้งอุ่น และทำให้เวลาในแต่ละวันผ่านไปได้ไม่ยากเย็น ส่วนวันอาทิตย์นั้นเป็นวันที่คีธบอกว่าลำบากที่สุด เพราะสถานที่ต่างๆ มักปิดให้บริการ วันอาทิตย์จึงยาวนานกว่าวันอื่นๆ เสมอ เมื่อเขาต้องรอจนถึง 4 ทุ่ม กว่าประตูที่พักพิงจะเปิดให้เขาเข้าไปอาศัยได้อีกครั้ง วันเวลาที่ดูจะยาวนานเกินไปเสมอ สำหรับผู้มีสิ่งเดียวติดตัวคือเวลาทั้งชีวิต 

     เราถามคีธก่อนจากกันว่าเรื่องยากที่สุดของการเป็นคนไร้บ้านคืออะไร และคนทั่วไปจะมีส่วนทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง คีธบอกว่า สำหรับเขาแล้ว เขาอยากให้คนในครอบครัวรู้ว่าเขาปลอดภัยดี ไม่ได้สบายนัก แต่ก็ปลอดภัย หากนั่นก็เป็นเรื่องยากที่สุดเช่นกัน เพราะเขาไม่สามารถให้คนที่บ้านรู้ได้ถึงสถานการณ์ของเขาในตอนนี้ และตอบคำถามที่สองคือ การที่มีคนมาสนใจสนับสนุนทัวร์แบบนี้ก็นับว่าเป็นการช่วยเหลือที่มากแล้ว หากจะเล่าเรื่องราวของเขาและเพื่อนต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน เขาก็จะถือว่างานของเขาได้ทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์

     “คนไร้บ้านเกิดขึ้นได้กับทุกคน ครั้งหนึ่งผมก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดกับผมเช่นกัน”

     ฝนเริ่มตก เวียนนามืดสนิทแล้ว เรากอดลาขอบคุณคีธแล้วเดินกลับที่พักเพื่อหลบฝนและความเย็นที่ตามมา แต่ยังเหลือเวลาอีกสองสามชั่วโมงกว่าประตูที่พักพิงชั่วคราวจะเปิดให้เขากลับเข้าไปพักผ่อนได้อีกครั้ง…