Viking Line

City Tales | วิธีการเดินทางที่ใช้เวลามากขึ้นอีกหน่อย กับความทรงจำระหว่างทางที่เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย

มันมีเหตุผลที่คำกล่าวว่า ‘การเดินทางสำคัญกว่าจุดหมาย’ ถูกยกขึ้นมากล่าวบ่อยครั้งทั้งในแง่การใช้ชีวิตและการเดินทาง นอกไปจากการเลือกปลายทางที่จะไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานาแล้ว การเลือกวิธีการเดินทางก็ดูจะให้ประสบการณ์ที่ต่างกันไปในแต่ละครั้ง บ้างถึงเร็วแต่ก็พลาดโอกาสเห็นวิวข้างทาง บ้างหนทางก็ไม่สะดวกเท่าไหร่

     แต่เวลาที่ยืดออกไปก็ดูจะทำให้มิตรภาพระหว่างทางขยายตาม โดยปกติแล้วเราจะดูแผนที่ ดูสภาพภูมิประเทศเชื่อมต่อระหว่างต้นทางและปลายทาง และเมื่อครั้งมาถึงประเทศแถบคาบสมุทรสแกนดิเนเวียที่ประเทศต่างๆ ถูกห้อมล้อมด้วยทะเลเหนือและทะเลบอลติก จึงไม่พลาดที่จะลองหาวิธีการเดินทางโดยเรือ ให้ได้ประสบการณ์แบบชาวไวกิ้ง ชาวพื้นเมืองสมัยก่อนของแถบนี้

 

Viking Line

 

     และเราก็พบวิธีการโดยสารทางเรือนั่นจริงๆ Viking Line เป็นเรือโดยสารที่เราเลือกให้พาออกเดินทางจากสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน ไปยังเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ โดยหลังจากเล่าให้เพื่อนชาวสวีดิชฟังว่ากำลังจะนั่งเรือโดยสารนี้ข้ามเมืองเพื่อนก็ขำออกมาแล้วถามว่าเราจะไปซื้อ booze (เหล้า) หรือ!? คุยไปคุยมาจึงได้รู้ว่าคนท้องถิ่นเองมีชื่อเล่นให้กับเรือโดยสารประเภทนี้ว่า ‘booze cruise’ หรือล่องเรือเหล้า

     มาคิดดูแล้วก็ไม่น่าแปลกใจที่เรือลักษณะนี้เกิดขึ้นในแถบประเทศเมืองหนาวที่หน้าหนาวมักยาวนาน และมีสภาพอากาศมืดครึ้มแทบทั้งฤดูกาลจนทำให้รัฐบาลต้องควบคุมการบริโภคสุราเข้มงวดมากกว่าปกติเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย ในประเทศสวีเดน รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดการจำหน่ายสุราที่มีอัตราแอลกอฮอล์สูงกว่า 3.5% ผ่านร้านค้าที่เรียกว่า ‘Systembolaget’ จนทำให้เรามักเห็นชาวสวีดิชนิยมเครื่องดื่มที่เรียกว่า ‘Lättöl’ (light-beer) หรือ ‘Folköl’ (people’s beer) ทั่วไปเสียมากกว่า

     อัตราภาษีสุราก็ถูกกำหนดไว้ตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มแต่ละชนิดด้วยเช่นกัน การตั้งภาษีสุราไว้สูงนั้นเป็นหนึ่งปัจจัยทำให้ยอดอุบัติเหตุด้วยสาเหตุจากแอลกอฮอล์ในสวีเดนต่ำไปด้วยหรือไม่นั้นไม่แน่ใจนัก แต่ที่แน่ๆ มันมีส่วนทำให้เรือโดยสารที่จำหน่ายสินค้าปลอดภาษีเกิดขึ้นมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

 

Viking Line

 

     กำหนดการเรือออกจากสตอกโฮล์มในช่วงเวลาเย็นพอให้มีเวลาเดินเล่นในเมืองที่มีความน่าสนใจแตกต่างกันไปในแต่ละย่าน เราเลือกเดินย่าน Gamla Stan เขตเมืองเก่าพื้นปูด้วยหินตลอดทาง ผนังอาคารสร้างขึ้นด้วยอิฐบล็อกร้านค้าข้างทางตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์ในทุกรายละเอียดน่าใช้เวลาทั้งบ่ายแวะมันไปซะทุกร้าน

     เดินต่อไปย่าน SOFO ไม่ไกลท่าเรือเพื่อดูงานดีไซน์ของสวีเดน ที่เป็นหนึ่งในชื่อเสียงหลักของประเทศนี้ และแวะ Fotografiska พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายสมัยใหม่ที่มีคาเฟ่บนดาดฟ้า พอให้ได้ดื่มด่ำกับวัฒนธรรม ‘FIKA’ หรือการหยุดพักนั่งทานเบเกอรีคู่กาแฟยามบ่าย ที่ฟังเผินๆ ดูเสียเวลาแต่ชาวสวีดิชนั้นให้ความสำคัญนักหนากับช่วงเวลาการหยุดพักให้ได้เกิดบนสนทนาและปฏิสัมพันธ์ในช่วงเวลาระหว่างวันนั้น เราเลือก Semla ขนมปังไส้ครีมสดแบบดั้งเดิมของชาวสวีดิชมาทาน มองออกไปเห็นวิวริมน้ำ และเรือ Viking Line เรือที่กำลังจะพาเราล่องผ่านทะเลบอลติกไปเฮลซิงกิ จอดรอเทียบท่าอยู่ไม่ไกล

     เดินเข้าไปในเรือเจอห้องโถงกลางปูพรมสีแดง บันไดราวจับสีทองเชื่อมต่อเรือทั้งหมด 8 ชั้น เรือขนาดไม่ใหญ่มาก แต่มีอุปกรณ์ทุกอย่างราวกับโรงแรมเคลื่อนที่ห้องอาหารที่มีกระจกเห็นวิวโดยรอบ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ห้องเล่นเกม และแน่นอนห้องขายสินค้า Duty Free ที่กินพื้นที่ชั้นสองกลางเรือแทบจะทั้งหมด และดูจะเป็นจุดที่คนแห่มารวมตัวกันซื้อสินค้า ซื้อเครื่องดื่มกันก่อนย้ายไปมุมต่างๆ ของเรือตามความพอใจแต่ละคน มาคู่ก็กอดกันรับลมหน้าเรือไป
มาเป็นกลุ่มก็รวมตัวกันในห้องเล่นเกม มาเดี่ยวก็เดินว่อนได้ทั่วเรือตราบใดที่ไม่มีป้าย ‘crew only’ แปะไว้

     ห้องนอนบนเรือมีหลายรูปแบบ หลายราคา เราเลือกห้อง 4-bed cabin room ห้องรวมเตียง 2 ชั้น 4 เตียง ที่อยู่แทบจะชั้นใต้สุดของเรือ ให้สมสถานภาพความเป็นนักเรียน และคิดว่าน่าจะทำให้ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ บนเรือ แต่วันที่ไปยังเป็นช่วงฤดูหนาว คนเดินทางน้อย เลยกลายเป็นว่าได้ห้องเดี่ยวส่วนตัวไปโดยปริยาย ถ้าใครงบมากหน่อยอาจเลือกห้องชั้นบนๆ มาตรฐานโรงแรมแถมได้วิวตื่นมาเห็นทะเล งบน้อยหน่อยแบบเราก็เดินขึ้นไปดูวิวเองได้ออกกำลังกาย สบายกระเป๋าตังค์

 

Viking Line

 

     เย็นวันแรกผ่านไปอย่างรวดเร็วกับการเดินสำรวจเรือใช้เวลายาวนานบนดาดฟ้าเรือที่ค่อยๆ เคลื่อนผ่านหมู่เกาะเล็กๆ ของสวีเดน ที่ทำให้เห็นว่าสวีเดนนั้นได้ชื่อเล่น ‘Land of a thousand islands’ มาได้อย่างไร เกาะเล็กๆ ที่มีต้นไม้สีเขียวล้อมบ้านสีแดง เหลือง น้ำเงิน พระอาทิตย์ตกที่ค่อยๆ เปลี่ยนแสงสีส้มเป็นสีชมพูตามแนวเส้นขอบฟ้าตัดกับน้ำทะเลสีน้ำเงินใสราวกระจกเป็นภาพวิวทิวทัศน์ที่ละสายตาไม่ได้แม้อากาศบนดาดฟ้าเรือจะเย็นเฉียบในช่วงปลายฤดูหนาวก็ตาม

     เมื่ออาทิตย์ค่อยๆ ลับฟ้า อุณหภูมิที่ลดต่ำลง และลมที่แรงขึ้น ผู้คนก็เริ่มหลบเข้ามาในเรืออีกครั้ง บางคนเลือกทานอาหารในห้องอาหารเย็นที่จัดไว้เราเลือกทานอาหารในร้านเล็กๆ ที่เล่าว่าใช้วัตถุดิบอาหารทะเลท้องถิ่น ร้านเล็กๆ ที่ดูจะดึงดูดนักเดินทางคนเดียวให้มารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมายบทสนทนาที่เกิดขึ้นบนโต๊ะเคาน์เตอร์บาร์ระหว่างเพื่อนร่วมทางเชฟที่ทำอาหารไปหันมาคุยไปนั้นดูจะทำให้เวลาบนเรือคืนนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว

     เราตื่นขึ้นมาในห้องเคบินเพราะเสียงครืดๆ ที่ดังกว่าเสียงเครื่องเรือปกติออกมาดูวิวถึงได้รู้ว่านั่นคือเสียงท้องเรือที่ค่อยๆ เบียดผ่านผิวน้ำแข็งไปเรื่อยๆ เป็นสัญญาณว่าเรากำลังเข้าใกล้เขตเมืองต่อไปแล้ว แวะทานมื้อเช้าในห้องอาหารที่เต็มไปด้วยปลาแซลมอน ปลาแฮร์ริง ผลไม้ตระกูลเบอรีสดๆ นั่งทานอาหารไป ชมวิวทิวทัศน์ขณะเรือแล่นผ่านน้ำทะเลที่เกาะตัวเป็นน้ำแข็งบางๆ ไป วิวแปลกตาเช่นนี้ที่ทำให้รู้สึกว่าคุ้มค่าแล้วกับระยะเวลาข้ามเมืองที่ยาวนานกว่าการเดินทางรูปแบบอื่น

 

Viking Line

 

     เรือมาถึงเฮลซิงกิตอนสิบโมงเช้า ท่าเรือจอดไม่ไกลจาก Market Square ที่มักมีของพื้นเมืองมาตั้งขาย บางคนเลือกนั่งต่อเรือข้ามไป Suomenlinna ป้อมปราการเก่าแก่บนเกาะที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกแต่เราเลือกใช้เวลาทั้งวันในเฮลซิงกิ

     โดยเริ่มจาก City Center ที่มีนิทรรศการบอกเล่าความเป็นมาของเมืองได้อย่างน่าสนใจผ่านการจัดแสงทั้งรูป รส กลิ่น เสียง (ตอนเราไปมีห้องเปล่าๆ ให้ดมกลิ่นเมืองในศตวรรษที่ 18) ถัดออกไปไม่ไกลก็จะเจอ Helsinki Cathedral โบสถ์สีขาวตระหง่านตั้งอยู่ที่จัตุรัสกลางเมือง ผ่านร้านค้าที่มีเจ้าตัวการ์ตูน Moomin ที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่ฟินแลนด์ ถูกนำมาทำเป็นสินค้าต่างๆ มากมาย หนึ่งวันดูจะไม่มีทางเพียงพอสำหรับเมืองที่เสน่ห์จัดแม้ในวันไร้แดดอย่างเฮลซิงกินี้ป่วยการที่จะเร่งรีบ เราจึงตัดสินใจแวะ Ekberg Cafe ร้านเก่าแก่ที่พนักงานยังใส่ผ้ากันเปื้อนและเสิร์ฟเมนูเดิมอย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่ร้านเปิดในปี 1861 ก่อนเดินย่อยลัดรอบขอบเมืองติดท่าน้ำกลับขึ้นเรือในช่วงเย็น

     ข้อเสียอย่างเดียวที่นึกได้ในการเดินทางครั้งนี้คือ ความต่างของเวลาที่เฮลซิงกินั้นเร็วกว่าสตอกโฮล์มไปหนึ่งชั่วโมง นั่นหมายความว่า เรามีเวลาน้อยลงไปอีกในเฮลซิงกินี้ แต่ความรวดเร็วของเวลาอาจเป็นสัญญาณบอกโดยนัยว่า การเดินทางครั้งนี้เพลิดเพลินจนเวลาผ่านไปเร็วมากเพียงใด น่าแปลกที่ในรูปแบบการเดินทางยิ่งเร็วเรากลับยิ่งเร่ง แต่พอการเดินทางนั้นช้าเรากลับอยากให้มันยืดยาวออกไป

     ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับ Viking Line ในครั้งนี้เองที่ทำให้เราเริ่มหาวิธีการเดินทางใหม่ๆ ถึงแม้จุดหมายปลายทางจะเป็นที่เดิม แต่วิธีการไปถึงนั้นต่างออกไปอรรถรสในการเดินทางก็ดูจะได้รสชาติที่พิเศษกว่าที่เคย —เวลาที่ใช้ระหว่างทางอาจเพิ่มขึ้นอีกนิด แต่ความทรงจำที่เกิดขึ้นระหว่างทางก็เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย