C.F. Martin

C.F. Martin | ย้อนดูประวัติศาสตร์กว่า 180 ปี ของแบรนด์กีต้าร์ชื่อดัง

เหล่าศิลปินและผู้ชื่นชอบดนตรีคงเคยได้ยินชื่อของกีตาร์ C.F. Martin กันมาบ้าง เพราะแบรนด์กีตาร์นี้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตกีตาร์คุณภาพระดับตำนาน ที่มีพัฒนาการน่าจับตามองตลอดระยะเวลากว่า 180 ปี โดยมี คริสเตียน เฟรเดอริก มาร์ติน ผู้ก่อตั้งบริษัท เป็นคนบุกเบิกแนวทาง ดีไซน์ และลูกเล่นต่างๆ ของกีตาร์มาตั้งแต่อดีต จนกลายมาเป็นมาตรฐานของกีตาร์โปร่งทั่วโลก เรียกได้ว่าหากไม่มีมีเขาและบริษัท ซี.เอฟ. มาร์ติน แล้ว เราก็เดาไม่ออกเลยว่าทิศทางและรูปแบบของกีตาร์โปร่งในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร หรือที่แย่ไปกว่านั้น กีตาร์อาจเป็นเครื่องดนตรีเฉพาะกลุ่มไปเลยก็ได้

C.F.Martin

1833: Start with X-Bracing

     คริสเตียน เฟรเดอริก มาร์ติน เกิดในตระกูลช่างไม้เก่าแก่ที่เมืองมาร์กนอยเคียร์กเชน ประเทศเยอรมนี เขาอพยพมาตั้งร้านขายกีตาร์เล็กๆ ที่นิวยอร์ก ในปี 1833 และขยับขยายเป็นร้านที่ใหญ่ขึ้นในรัฐเพนซิลเวเนียในอีก 5 ปีต่อมา ในช่วงนั้นเขาได้เพิ่มลูกเล่นให้กับกีตาร์แบบดั้งเดิมอีกหลายอย่าง เช่น หัวกีตาร์แบบมีตัวปรับเสียงด้านเดียว หรือคอกีตาร์ที่สามารถปรับได้ และริเริ่มทำกีตาร์ที่มีโครงสร้างด้านในเป็นรูปตัว X หรือที่เรียกว่า X Bracing ซึ่งกลายมาเป็นมาตรฐานของโครงสร้างกีตาร์ในทุกวันนี้

C.F.Martin

1888: Survive the Civil War

     สงครามกลางเมือง ปี 1888 ทำให้เศรษฐกิจผันผวนอย่างมาก บริษัท ซี.เอฟ. มาร์ติน ภายใต้การดูแลของลูกชายวัย 48 ปีของคริสเตียน จึงตัดสินใจร่วมมือกับ C.A., Zobisch & Son บริษัทจำหน่ายเครื่องดนตรีออร์เคสตรา แม้การร่วมทุนจะมีความมั่นคง แต่กีตาร์ของซี.เอฟ. มาร์ติน กลับถูกมองข้าม ทำให้ยอดขายไม่กระเตื้อง เขาจึงตัดสินใจยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว ต่อมาไม่นานเครื่องสายก็เริ่มได้รับความนิยมจากอิทธิพลของชาวอิตาลีที่อพยพมาอเมริกา ทำให้ยอดขายกีตาร์กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ซี.เอฟ. มาร์ตินผลิตกีตาร์กว่า 220 ตัวต่อปี ต่อมาจึงขยายสาขาไปยังนิวยอร์กและนิวอิงแลนด์

C.F. Martin

1920: The First Ukulele

     ปี 1920 ถือว่าเป็นยุคทองของซี.เอฟ. มาร์ตินเลยก็ว่าได้ เพราะบริษัทมียอดผลิตกีตาร์ถึงพันกว่าตัวต่อปี และยังได้เปิดตัวอูคูเลเลรุ่นแรกด้วย แม้ตอนแรกอูคูเลเลนั้นจะไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะมีโครงสร้างที่ซับซ้อน และใช้ไม้สนในการผลิต ทำให้เสียงไม่สดใส แต่ไม่นาน ซี.เอฟ. มาร์ตินก็ได้ปรับโครงสร้างให้เรียบง่าย นำไม้มะฮอกกานีมาใช้แทนไม้สน เสียงอูคูเลเลจึงสดใสกังวานขึ้น ทำให้บริษัทเปิดตลาดอูคูเลเลได้สำเร็จ และมียอดสั่งซื้อที่มากพอๆ กับกีตาร์
 
1929: Dreadnought

     ปี 1929 อเมริกาเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ซี.เอฟ. มาร์ตินจึงเร่งเปิดตัวกีตาร์ดีไซน์ใหม่เพื่อกระตุ้นยอดขาย ชื่อว่า Dreadnought กีตาร์รุ่นนี้เป็นกีตาร์ที่มีความยาว 14 เฟรต ซึ่งยาวกว่าจากเดิมที่มี 12 เฟรต ทำให้มีเสียงที่ไพเราะกังวานมากขึ้น นอกจากนี้ Dreadnought ยังถือได้ว่าเป็นแบบมาตรฐานของกีตาร์ในอเมริกาอีกด้วย ยิ่งกระแสของโฟล์กซองเริ่มได้รับความนิยม ยอดขายของ Dreadnought ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

C.F. Martin

To meet the Demand

     หลังสงครามเป็นยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง อิทธิพลของดนตรีโฟล์กเข้ามาในอเมริกา ทำให้ซี.เอฟ. มาร์ตินมียอดขายที่สูงขึ้นมากจนทำให้สินค้าขาดตลาด คริสเตียน เฟรเดอริก มาร์ติน รุ่นที่สาม หรือรุ่นหลานของผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นผู้บริหารในตอนนั้น รู้สึกเสียดายโอกาสเหล่านี้มาก เนื่องจากไม่สามารถผลิตให้พอกับความต้องการของคนซื้อได้ ทำให้เสียรายได้ที่ควรจะได้ไปมาก เขาจึงสร้างโรงงานใหม่ให้สามารถผลิตกีตาร์ได้เยอะขึ้น และยังควบคุมผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นด้วย

C.F. Martin

Living with Trend

     ยุค 90s ซี. เอฟ. มาร์ตินร่วมงานกับศิลปินชื่อดัง และรายการเพลงที่เป็นที่นิยมมากมาย โดยทำกีตาร์รุ่นที่เป็นโมเดลของศิลปินอย่าง ยีน ออทรีย์, เอริก แคลปตัน (Eric Clapton) และ มาร์ตี้ สจ๊วต รวมถึงทำกีตาร์กับช่องเอ็มทีวี ในชื่อรุ่น MTV Unplugged MTV-1 ยิ่งไปกว่านั้น ซี.เอฟ. มาร์ตินยังได้จดสิทธิบัตรให้กีตาร์รุ่น X-Series ซึ่งเป็นกีตาร์ที่ออกแบบโดยใช้การคำนวณทางคอมพิวเตอร์เครื่องแรก พร้อมทั้งใช้สื่อกระแสหลักเข้ามาเพิ่มยอดขาย ทำให้ขายดีจนมีตัวแทนจำหน่ายทั่วโลก

 

Sustainable Brand

     ยิ่งปริมาณความต้องการกีตาร์สูงขึ้น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย ซี.เอฟ. มาร์ตินจึงทำ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ (CITES) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน โดยในการผลิตกีตาร์แต่ละครั้งจะต้องไม่ใช้วัสดุจากพืชหรือสัตว์ป่าสงวน ในปัจจุบัน มีกีตาร์บางรุ่นที่ต้องใช้ไข่มุกในการผลิต และไข่มุกก็เริ่มมีจำนวนน้อยลง ทำให้บริษัทต้องปรับตัวครั้งใหญ่ โดยอาจเพิ่มมูลค่าของกีตาร์ตามความหายากของวัสดุ

C.F. Martin

C.F Martin

2018

     คริสเตียน เฟรเดอริก มาร์ติน ที่สี่ ผู้บริหารคนปัจจุบัน ปรับตัวแบรนด์ให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างดี โดยเขาได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียมาช่วยให้กีตาร์เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นมากขึ้น เขากล่าวว่า “เดี๋ยวนี้เมื่อเราเห็นศิลปินสักคนเล่นดนตรีบนเวที เราก็อยากเป็นแบบนั้นบ้าง และหนึ่งในวิธีที่เราจะดูเท่แบบศิลปินคนนั้นได้คือการใช้กีตาร์แบบเขา ซึ่งกีตาร์ตัวนั้น ก็คือ ซี.เอฟ. มาร์ติน”
     แม้จะอาศัยกระแสในการเพิ่มยอดขาย แต่ซี.เอฟ. มาร์ตินก็ยังไม่ละที่จะพัฒนาคุณภาพของกีตาร์ โดยเมื่อต้นปีได้เปิดตัว NAMM 2018 กีตาร์ที่นำเอารุ่น Standard Series มาพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอีกขั้น

C.F. Martin

 


Christian Frederick Martin IV

C.F. Martin

     คริสเตียน เฟรเดอริก มาร์ติน ที่สี่ เป็นทายาทรุ่นที่สี่และผู้บริหารคนปัจจุบันของบริษัท ซี.เอฟ. มาร์ติน เขาเรียนจบจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยบอสตัน และเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทในวัยเพียง 30 ปี แต่ด้วยความพยายาม และบุคลิกที่กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ ก็ทำให้เขาสามารถพัฒนาบริษัทกีตาร์ระดับตำนานนี้ได้อย่างราบรื่น

ภาพ: www.martinguitar.com