WWF

WWF | การเดินทางจากจุดเริ่มต้นสู่การเป็นองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF (World Wide Fund for Nature) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เป็นเวลากว่า 57 ปี โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ใน 3 เขตพื้นที่ชุมชนทางนิเวศ คือ ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำจืด และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

และเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดทำโครงการเพื่อการอนุรักษ์มามากกว่า 1,300 โครงการ ใน 150 ประเทศ และมีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก

จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ WWF ยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ระบบนิเวศ บำบัดสารพิษ รวมทั้งปกป้อง ‘บ้าน’ ของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำทุกตัว

wwf

1961: THE FIRST CALL FOR WILDLIFE

     ปี ค.ศ. 1961 องค์กรขนาดใหญ่ที่ทำงานเพื่อการอนุรักษ์มีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และสมาคมอนุรักษ์แห่งสหราชอาณาจักร (The Conservation Foundation) ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังหายไป กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมชาวอังกฤษจำนวน 16 คน จึงเริ่มจัดตั้งองค์กร WWF ขึ้นที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อระดุมทนและช่วยเหลือการเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก

 

WHY PANDA?

     สัญลักษณ์ของ WWF ออกแบบโดย เจอราลด์ วัตเตอร์สัน นักสิ่งแวดล้อมและศิลปินชาวอังกฤษ โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘ชิชิ’ แพนด้ายักษ์เพศเมียที่ได้มาอยู่สวนสัตว์ในเมืองลอนดอนเมื่อปี ค.ศ. 1961 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ WWF ได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นมา “เราต้องการสัตว์ที่มีความงดงาม ใกล้จะสูญพันธุ์ และเป็นที่รักใคร่ของผู้คนทั่วโลกด้วยภาพลักษณ์ภายนอกของมัน” ปีเตอร์ สก็อตต์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกล่าว

 

WWF

 

ENVIRONMENTALISM AS A PUBLIC ISSUE

     ก่อนหน้านี้ประเด็นการอนุรักษ์และพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักล่าเพียงเท่านั้น แต่ WWF ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้สังคมหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นครั้งแรกของโลก โดยมีโครงการ ‘ร่วมกันพิทักษ์สัตว์โลก’ ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไปและองค์กรต่างๆ จนสามารถระดมทุนได้สูงถึง 1.9 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งWWF นำเงินส่วนนั้นไปใช้จัดโครงการต่างๆ ในทวีปแอฟริกา ยุโรป และประเทศอินเดียช่วงสามปีแรกที่ทำการก่อตั้ง

 

GROWING BIG AND QUICKLY

     การเติบโตอย่างรวดเร็วของ WWF ส่วนหนึ่งมาจากเครือข่ายที่กว้างขวางของเหล่าผู้ก่อตั้ง และอีกส่วนหนึ่งคือการทำสิ่งที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม เพราะในช่วงยุค 60s-70s สื่อโทรทัศน์เริ่มเป็นที่แพร่หลาย มีการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาวะหลังสงคราม ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมและมลพิษ การปรากฏตัวของ WWF จึงทำให้สาธารณชนตระหนักถึงปัญหาการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

 

WWF

 

1983: WWF THAILAND

     WWF เข้ามาดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 โดยสนับสนุนทุนแก่กรมป่าไม้ในโครงการอนุรักษ์เสือโคร่งที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มอบเรือเพื่อการสำรวจสถานภาพเต่าทะเลในบริเวณอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และโครงการอื่นๆ อีกมากมาย จากนั้น WWF จึงได้ก่อตั้งสำนักงานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1995

 

1985: WORLD WIDE FUND FOR NATURE

     ในปี ค.ศ. 1985 WWF ได้ทำการจดทะเบียนชื่อใหม่อีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อจาก World Wildlife Fund มาเป็นชื่อ World Wide Fund for Nature เพื่อนำเสนอการรักษาสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ และสะท้อนถึงมุมมองที่กว้างขึ้นขององค์กร อีกทั้งยังร่วมมือกับ IUCN และ UNEP ในการวางกลยุทธ์การอนุรักษ์โลกที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง นับว่าเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติก็ว่าได้ที่มีการกำหนดขอบเขตในการพัฒนาและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

WWF

WWF

 

COOPERATION WITH COMPANIES

     WWF เคยถูกกล่าวหาว่าการรณรงค์มีการใกล้ชิดกับธุรกิจต่างๆ มากเกินไป เพราะเป็นพันธมิตรกับบริษัทอย่างโคคา-โคลา ลาฟาร์จ และอิเกีย แต่ WWF ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าการร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าปลาทะเลรายใหญ่ที่ดูเหมือนจะเป็นศัตรูต่อการอนุรักษ์อย่าง Unilever กลับกลายเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะ Unilever ได้นำความสนใจเรื่องทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต และพร้อมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่บริษัทที่เน้นความยั่งยืนกว่าเดิม

 

2007: EARTH HOUR

     กิจกรรม ‘Earth Hour ปิดไฟให้โลกพัก’ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2007 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนในการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมมากถึง 187 ประเทศ 7,000 เมืองทั่วโลก สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพฯ การเข้าร่วมโครงการนี้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 16,371 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 56.91 ล้านบาท และสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 9,233 ตัน

 

WWF