ความพัง

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | เรื่องเล่าที่ขาดหายไปในสังคมแห่งความสุขความสำเร็จ

ช่วงนี้ผมกำลังแปลหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ คาดว่าจะเสร็จประมาณปลายปีนี้ ชื่อเรื่อง KINTSUGI : Embrace your imperfections and find happiness – the Japanese Way โดยผู้เขียน โทมาส นาวาร์โร เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือพูดเกี่ยวกับการยืนหยัดมีชีวิตอยู่ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เลวร้าย และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างพังทลายลง

     ระหว่างที่อ่านไป ก็ทำให้นึกถึงช่วงเวลานี้เมื่อปีที่แล้ว ที่ทีม a day BULLETIN เราจัดงานอีเวนต์ BULLETIN TALK ตั้งเป็นวงไดอะล็อก ชวนผู้อ่านซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มานั่งล้อมวงคุยกันเรื่องพังๆ ในชีวิตของเรา ถึงแม้จะคุยเรื่องเศร้าๆ แต่ยิ่งคุยก็ยิ่งสนุก และยิ่งได้แนวคิดที่ควรเรียนรู้จากกัน แล้วหลังจากนั้น โดยส่วนตัวของผมได้มีโอกาสไปอยู่เบื้องหลังงาน YED Talks x Heineken ของ Dudesweet ก็พบว่าเรื่องราวในชีวิตของสปีกเกอร์หลายคนในงานนั้นสอดคล้องต้องกันกับแนวความคิดเรื่องความพังทลาย และการยืนหยัดมีชีวิตอยู่

     ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในเว็บไซต์ The Momentum และอยากจะนำบางส่วนกลับมาเรียบเรียงให้ได้อ่านทบทวนกัน

     ‘ความพัง’ มีเสน่ห์ดึงดูดอย่างน่าประหลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่โลกของเราท่วมท้นไปด้วยภาพความสุขความสำเร็จ

     ทุนนิยมและบริโภคนิยมเฉลิมฉลองคุณค่าอยู่แค่สี่ประการ หนึ่ง เซ็กซ์ สอง ความสนุกสนาน สาม ความหนุ่มสาว และสี่ ความสำเร็จ เราเห็นภาพการเฉลิมฉลองทั้งสี่ประการนี้มาตลอดชีวิต ทุนนิยมสนับสนุนให้สร้างและเผยแพร่ภาพแบบนี้ออกไป เพราะมันช่วยกระตุ้นให้เราบริโภคมากขึ้น สรุปรวมง่ายๆ ให้พอเห็นภาพ สินค้าและบริการทั้งหมดในระบบสังคม ซื้อขายกันเพื่อให้เรามีเซ็กซ์ที่สนุกสนาน ในร่างกายที่งดงามแข็งแรงแบบหนุ่มสาว และมุ่งหน้าไปสู่ความสุขความสำเร็จ

     ภาพผ่านสื่อผลิตซ้ำสังคมแบบนี้ และมันขัดเกลาเข้าไปถึงแก่นแกนภายใน จนทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตนี้เกิดมาต้องมีความสุข ทำอะไรต้องสำเร็จ ถ้าชีวิตไม่มีความสุขความสำเร็จก็ไม่คุ้มค่าที่จะอยู่ต่อไป หรือแม้กระทั่งไม่น่าจะเกิดขึ้นบนโลกนี้ด้วยซ้ำ

 

     ในทุกวันนี้ ภาพเหล่านี้ถูกจัดแสดงอยู่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมันไม่ได้เป็นแค่เทคโนโลยีการสื่อสาร แต่เป็นเทคโนโลยีทางสังคมด้วย มันไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการใช้งานสื่อสารคมนาคมเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นเพื่อตอกย้ำและผลิตซ้ำสังคม จนกระทั่งมันยิ่งหนักแน่นและเป็นจริงเป็นจัง

      เมื่อมีโทรศัพท์มือถืออยู่บนฝ่ามือ เราจึงแทบไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากการเป็นร่างทรงของสังคมแห่งความสุขความสำเร็จ ทำเราทุกคนให้กลายเป็นพวกขี้โม้โอ้อวด รู้สึกตลกตัวเองบ้างไหมที่เราอวดทุกอย่าง แม้กระทั่งกาแฟ ความสุขคือการได้บริโภคเหนือกว่า ความสำเร็จคือการทำงานที่ยิ่งใหญ่ ทะเยอทะยาน ล้ำหน้าไปกว่าคนอื่น สังคมทำงานผ่านปลายนิ้วเราออกไป โดยที่ส่วนใหญ่เราไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ

     ภาพความสุขความสำเร็จไม่ได้หลอมรวมเรา แต่แบ่งแยกเราออกเป็นปัจเจกที่รู้สึกแหว่งวิ่นและขาดพร่องตลอดเวลา ต้องคอยซื้อหาข้าวของอะไรมาเติมเต็ม หรือไม่ก็ต้องคอยเอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบ วางวัดประกบอยู่กับชีวิตของคนอื่น ภายในใจเราส่วนใหญ่รู้สึกพ่ายแพ้เจ็บปวด สำหรับคนที่ยังพอมีแรงกำลังฮึดสู้แข่งขัน ภายนอกของเขาจึงต้องทำตัวให้ดูชาญฉลาดเหลือเกิน แข็งแกร่งเหลือเกิน สวยงามเหลือเกิน แล้วก็ยิ่งโอ้อวดมากขึ้นเป็นลูปที่หมุนวนไปเรื่อยๆ

     คอนเทนต์ในโลกสมัยใหม่ โฟกัสไปที่ความสุขความสำเร็จมากเกินไป มีข้อสรุปที่ลงตัวเกินไป มีบทเรียนที่ฉลาดเกินไป และใครๆ ต่างก็ช่างมีข้อคิดอะไรๆ กันได้เร็วเหลือเกิน บางทีกวาดตาไปบนหน้าวอลล์ก็เห็นแค่เด็กวัยรุ่นออกมาอัดคลิปสอนการใช้ชีวิต อ้างตัวเป็นโค้ช เป็นกูรู มีความสุขความสำเร็จกันไปหมด นักคิดนักเขียนที่แสนชาญฉลาด นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ สตีฟ จ็อบส์ บิล เกตส์ อีลอน มัสก์ แจ็ก หม่า เรื่องเล่าท่วมท้นพวกนี้กลับทำให้ชีวิตแห้งแล้ง

     ไม่แปลกใจกันเหรอ ที่มีผู้คนออกมากมายมาพร่ำสอน ออกมาให้แรงบันดาลใจ ออกมาประกาศคุณค่ามากมายต่างๆ ท่ามกลางภาพแห่งความสุขความสำเร็จในโซเชียลมีเดีย แต่ทำไมภายในใจเรากลับพังฉิบหาย

 

     ในขณะที่ความจริงแท้กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น และเราเชื่อมโยงและกลมกลืนกันด้วยเรื่องพังๆ

 

     a day BULLETIN เคยจัดงานอีเวนต์เล็กๆ ล้อมวงนั่งสนทนากันแบบใกล้ชิด วงหนึ่งมีคนมาร่วมแค่สิบกว่าคน แต่ละคนนั่งฟังและนั่งเล่าเรื่องราวที่เป็นตัวของตัวเองอย่างที่สุด เราพบว่าเรื่องเล่าที่ดี การสนทนาที่ดี และความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ดีนั้น ส่วนใหญ่แล้วล้วนผ่านมาทางเรื่องพังๆ
ความรัก ความสัมพันธ์ การงาน สุขภาพ บรรดาความฝันและความหวังที่ไม่มีวันเป็นจริง ยิ่งเล่า ทั้งคนเล่าและทั้งคนฟังก็ยิ่งอิน และมันทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมา แปลกใจมากๆ ว่าเรื่องราวเหล่านี้มีคุณค่ามาก แต่มันกลับสูญหายไปไหนในโลกปัจจุบัน

     สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรื่องพังๆ ของเพื่อนพ้องน้องพี่ คือการรู้จักเปิดมุมมองและเปลี่ยนมุมมอง เพื่อจะได้เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ โอกาสใหม่ๆ เรียนรู้และเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น มีอีกมากมายหลายเรื่องที่เรายังคับแคบเกินไปโดยไม่ทันรู้ตัว