ความรุนแรง

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | เมื่อความชั่วร้ายอยู่ในชนชั้นสังคม และชีวิตเราเป็นเพียงการสวมบทบาทสมมติ

เวลามีคนพูดว่า เด็กเป็นสิ่งสวยงาม บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่

     ตั้งแต่จำความได้ การละเล่นแรกๆ ในชีวิตของเราทุกคนไม่ใช่อะไรนอกไปจากเกมวิ่งไล่กันไปไล่กันมา แปลกดีที่เหล่าเด็กอายุไล่เลี่ยกันจะถูกดึงดูดด้วยพลังลึกลับบางอย่างให้ออกจากบ้านมารวมตัวกันที่ลานกว้างในละแวกบ้าน แต่ละคนจะมองดูเพื่อนคนอื่นแล้วก็เปรียบเทียบกัน จัดระดับกัน ว่าใครเหนือกว่าหรือด้อยกว่าโดยอัตโนมัติแล้วก็แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันด้วยวิธีเสี่ยงทายต่างๆ เพื่อแยกกันสวมบทบาทสมมติเป็นขั้วตรงข้าม กำหนดกติกาที่เป็นจริงเป็นจังเสียเหลือเกินเพื่อจะได้วิ่งเล่นไล่กันตามจินตนาการแบบนั้นอย่างสนุกสนาน

     พลังลึกลับนี้ยังคงอยู่ต่อมาจนถึงวัยเรียน ถึงแม้กิจกรรมหลักอย่างเป็นทางการของโรงเรียน คุณครูจะจับเราใส่เครื่องแบบเหมือนกัน มายืนเข้าแถวหน้าเสาธงร้องเพลงชาติอย่างพร้อมเพรียง แล้วก็เดินเรียงกันเข้าห้องเรียนเพื่อท่องอาขยาน แต่กิจกรรมการละเล่นในเวลาพักเที่ยงของเรา เราจะนัดกันมาล้อมวง เปรียบเทียบกันแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สวมบทบาทสมมติเป็นขั้วตรงข้าม แล้วก็วิ่งไล่กันเหมือนเดิม

 

     ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งอ้างอิงถึงการวิจัยของมหาวิทยาลัยเมน อธิบายว่าทำไมเด็กๆ จึงชอบเล่นต่อสู้กัน เขาศึกษาองค์ประกอบในการละเล่นเด็กๆ แล้วก็พบว่าสิ่งที่จำเป็นต้องมีเสมอ คือ ‘ผู้ร้ายในจินตนาการ’ ไม่ว่าจะสอนให้เด็กเล่นเกมอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เด็กจะย้อนกลับมาสร้างผู้ร้ายของเขาขึ้นมาใหม่ในเกมนั้น นักวิจัยเชื่อว่าเป็นผลมาจากสื่อทีวี ข่าว การ์ตูน และหนังจำพวกซูเปอร์ฮีโร่ ฯลฯ ถ้าลองแบนผู้ร้ายออกไปจากเกม จะพบว่าเด็กไม่สนใจที่จะเล่นเกมนั้นต่อไป

     The bad guys serve a purpose for the children – นักวิจัยสรุปไว้แบบนี้

     แปลกดีที่ผู้ร้ายในใจเรา แท้ที่จริงแล้วมันคือจุดประสงค์ในการมีชีวิตอยู่ของเราเอง ความรุนแรงที่เรากระทำต่อกันและกัน แท้ที่จริงแล้วมันคือการดิ้นรนแสวงหาตัวตนของเรา จากความแตกต่างแบบขั้วตรงข้าม ยิ่งดิ้นรนแสวงหาตัวตนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งกระทำรุนแรงกับผู้คนและโลกรอบตัวมากเท่านั้น

 

     ยังมีบทความอีกชิ้นหนึ่งที่ผมเคยเขียนไว้ เกี่ยวกับสาเหตุพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียนของเด็กๆ

     โดยส่วนใหญ่เคยมีความเชื่อกันมาว่า เด็กอันธพาลมาจากครอบครัวที่ขาดความรักความอบอุ่นหรือเด็กที่เลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัว แต่ผลการวิจัยของนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เสนอเหตุผลว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมมากกว่า

     นักวิจัยไปสัมภาษณ์เด็กนักเรียน โดยให้ระบุชื่อเพื่อนที่ถูกแกล้งและเพื่อนที่ไปแกล้งคนอื่น แล้วนำรายชื่อทั้งหมดมาวาดเป็นเส้นทางของความรุนแรงในโรงเรียน แล้วพบว่าชนชั้นในสังคมโรงเรียนเป็นตัวกำหนดให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กเมื่อถูกจับมาอยู่รวมกันมีแนวโน้มที่จะดิ้นรนแสวงหาการยอมรับ ค้นหาตัวตน มีตำแหน่งแห่งที่ของตนในสังคม เหตุผลที่เด็กใช้ความรุนแรงก็เพื่อทำให้ตัวเองป๊อปปูลาร์ และช่วยให้ตัวเองไต่เต้าระดับทางสังคมขึ้นไปเรื่อยๆ

     มันทำให้ผมนึกถึงนิยาย Lord of the Flies หรือ เจ้าแห่งแมลงวัน ของ วิลเลียม โกลดิง

     เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งติดอยู่บนเกาะร้าง แล้วการละเล่นของพวกเขาก็จริงจังขึ้นเรื่อยๆ ลุกลามไปกลายเป็นสงครามและความตายจริงๆ ความเป็นเด็กนั้นอาจจะบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา แต่เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นสังคม มันไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด เวลาเห็นเด็กวิ่งเล่นกันสนุกสนาน เบื้องหลังนั้นคือแบบจำลองสังคมที่ต้องดิ้นรนต่อสู้

 

     ในหนังเรื่อง All about Lily Chou Chou ซึ่งเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น มีฉากหนึ่งที่ตัวละครเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งนั่งคุยกัน

     “พวกเธอรู้ไหมว่าต้นไทรมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าต้นไม้รัดคอ ต้นไทรต้นใหญ่ๆ มันโตขึ้นมาจากการไปบีบรัดต้นไม้ต้นอื่นจนตาย เพื่อจะได้ยึดลำต้นนั้นมาใช้เป็นทางเลื้อยขึ้นไปสู่แสงแดด ปะการังก็เหมือนกัน มันแผ่ขยายตัวได้ด้วยการเอาเข็มพิษไปทิ่มใส่ปะการังตัวข้างๆ จนกระทั่งตาย แล้วมันค่อยยึดพื้นที่ตรงนั้นมา สำหรับคนเรา เวลาเรามองเห็นป่าเขาท้องทะเล เราคิดว่ามันสวยงามเหมือนสรวงสวรรค์ แต่จริงๆ แล้ว สำหรับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในนั้น มันเป็นเหมือนดั่งนรกบนดิน ทุกชีวิตกำลังต่อสู้เข่นฆ่ากันอย่างโหดร้าย”

     จนกระทั่งไต่เต้าขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของระดับชั้นทางสังคม ส่วนใหญ่เด็กที่ป๊อปปูลาร์มากๆ แล้วจะหยุดพฤติกรรมรุนแรงเมื่อพบว่าโครงสร้างสังคมนี้เอื้อประโยชน์ต่อตัวเขาเรียบร้อยแล้ว ความสุขสงบและดีงามภายในใจของชนชั้นสูงจึงไม่ใช่อะไรนอกจากการได้มาซึ่งสถานะทางสังคมเรียบร้อยแล้ว และต้องการรักษาสถานะนั้นเอาไว้ต่อไป

 

     เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พ้นจากรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เราคิดว่าตัวเองรู้จักคิด รู้จักใช้เหตุผล และเป็นคนดีมีคุณธรรม แต่แท้ที่จริงแล้ว ผู้ร้ายในใจเราคนนั้นยังคงอยู่ตลอดมา และโครงสร้างสังคมได้ผลิตซ้ำตัวเองออกไปจนเหมือนกันทุกที่

     ตราบที่เรายังอยู่ร่วมกันในสังคม เราจะออกจากบ้านมายืนล้อมวงกันแล้วก็เปรียบเทียบกัน เริ่มต้นจัดระดับชั้น แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วก็วิ่งไล่กันไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบสิ้น วนเวียนเหมือนหนูถีบจักรในสังคมที่ใหญ่ขึ้นไขว่คว้าหาความสำเร็จเพื่อจะได้ไต่เต้าขึ้นไป ด้วยหน้าที่การงาน เงินทอง ชื่อเสียง การยอมรับ

     แม้กระทั่งในโลกออนไลน์ วันนี้ได้กี่ไลก์ กี่วิว ก็ขึ้นอยู่กับความโดดเด่นเหนือใครในการโพสต์ การแชร์ เราจึงได้รู้สึกสงสัยว่าทำไมในโลกออนไลน์ ผู้คนจึงหยาบคาย ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรงทางวาจาต่อกันมากกว่าปกติ

     นรกคือคนอื่น ความชั่วร้ายอยู่ในชนชั้นทางสังคม และชีวิตเราเป็นเพียงการสวมบทบาทสมมติ วิ่งเล่นไล่กันไปบนเส้นทางของความรุนแรงไปเรื่อยๆ ตราบจนเราค้นพบตัวเอง และรู้สึกพึงพอใจกับสถานะทางสังคมของตัวเองแล้วเท่านั้น