การต่อจุด

วาดเส้นต่อจุด วิชาพละ กพอ. สลน. และการนั่งหลับในห้องเรียนวิชาสังคม ว่าเราได้เรียนรู้อะไร

ข้อดีประการหนึ่งของโซเชียลมีเดียก็คือทำให้เราได้กลับมาพบเจอเพื่อนเก่าๆ และมีภาพความหลังเก่าๆ ย้อนกลับมาให้ได้รู้สึกอบอุ่นหัวใจ

อย่างในเพจกรุ๊ปของโรงเรียนเก่า มีบรรดาศิษย์เก่าหลายสิบรุ่นมารวมตัวกันอยู่เป็นร้อยคน นอกจากจะได้เห็นว่ารุ่นพี่รุ่นน้องคนไหนทำงานอะไรกันอยู่บ้าง บางทีก็ได้เห็นภาพของคุณครูที่โรงเรียนตั้งแต่สมัยเราเป็นเด็กๆ ว่าตอนนี้เขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร อย่างครูประจำชั้นตั้งแต่สมัยประถม ซึ่งเวลาผ่านมานานเกือบสี่สิบปี จนถึงตอนนี้พวกเขาอายุปาเข้าไป 70-80 ปี แก่หง่อมพอๆ กับพ่อแม่ของเรา มีบางคนล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล หรือกระทั่งมีบางคนนอนติดเตียงแล้ว และมีบางคนที่ตายจากไป ในงานศพก็มีบรรดาลูกศิษย์ไปกันอุ่นหนาฝาคั่ง

     ครูคนหนึ่งเพิ่งตายจากไป ผมจดจำเขาได้ในฐานะครูพละตอนชั้นมัธยม เขาสอนวิชายืดหยุ่นและกีฬาอีกหลายประเภท ตอนช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เขาสั่งให้เด็กทุกคนไปฝึกวิดพื้นและซิตอัพ เพื่อที่เปิดเทอมมาจะได้สอบเก็บคะแนน เขากำหนดให้วิดพื้นอย่างน้อย 15 ครั้ง และซิตอัพให้ได้อย่างน้อย 20 ครั้งติดต่อกัน โดยจะสุ่มให้เด็กมาสอบทีละคนๆ

     สมัยนั้น เรายังไม่ค่อยตื่นตัวเรื่องการออกกำลังกายสักเท่าไหร่ แฟชั่นการวิ่งมาราธอนก็ยังไม่มี แฟชั่นการเข้าฟิตเนสก็ยังไม่มี เด็กวัยรุ่นอายุสิบกว่าขวบก็แค่วิ่งเตะฟุตบอลเล่นกันตามธรรมดา แต่ในปิดเทอมฤดูร้อนปีนั้น เราทุกคนได้รับการบ้านให้ไปซ้อมการวิดพื้นและซิตอัพกันมา เมื่อมองย้อนกลับไป ก็รู้ว่ามันจำเป็นอย่างมากต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายในช่วงวัยนั้น  ผมจำได้ว่าหลังจากปิดเทอมฤดูร้อนปีนั้น ร่างกายของผมและเพื่อนๆ สูงใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเวลาผ่านมาหลายสิบปี มองกลับไปก็รู้สึกสำนึกบุญคุณของเขาอย่างยิ่ง

     วิชาเรียนมากมายในสมัยตอนเราเป็นเด็กๆ ถึงแม้จะรู้สึกว่าไร้สาระ โบราณ เชย หรือไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนเลย และส่วนใหญ่เราไม่ค่อยตั้งใจเรียนหรอกตอนนั้น เราเลือกสนใจเรียนเฉพาะวิชาที่จะนำไปสอบแข่งขัน เพราะคิดว่าวิชาเหล่านั้นจำเป็น แต่ยังมีวิชาอีกมากมายที่เรามองข้าม แล้วมันก็มีส่วนสำคัญในชีวิตเรา แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงรู้ว่าทุกเรื่องทุกราวที่ได้เรียนรู้มานั้น มีประโยชน์มากบ้างน้อยบ้าง และในที่สุดแล้ว เราก็ได้นำมาประกอบร่างสร้างเป็นชีวิตของเราในทุกวันนี้

     นอกจากวิชาพละ แม้กระทั่งวิชาสร้างเสริมลักษณะนิสัย ที่เหมือนเป็นวิชาพักร้อน เราจัดตารางสอนเหมือนไว้คุยเล่นกัน มีวันหนึ่งครูสอบวิชากวาดบ้าน เขาให้เราไปเอาไม้กวาดคนละด้ามมากวาดพื้นห้องเรียนให้เขาดู แล้วก็ให้คะแนนเด็กแต่ละคน ผมกวาดไปแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว เพราะปกติก็ไม่ค่อยได้ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านสักเท่าไหร่ ก็เลยสอบตก เขาสอนว่าการใช้ไม้กวาดที่ถูกวิธี ต้องกวาดไปแบบแบ็กแฮนด์จึงจะคล่องกว่า ถ้าเรากวาดพื้นแบบโฟร์แฮนด์ จะทำให้ด้ามไม้กวาดทิ่มท่อนแขน จนมาทุกวันนี้ เวลาช่วยภรรยากวาดบ้าน ผมยังจดจำวิธีการกวาดด้วยแบ็กแฮนด์ และยังนึกถึงคำสอนครูเสมอมา

 

     เราสามารถใช้คำว่า Connecting the dots เหมือนกับที่ สตีฟ จ็อบส์ อธิบายไว้ในหนังสือชีวประวัติของเขาว่า เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราล้วนมีความจำเป็นในแง่ใดแง่หนึ่ง แต่ในขณะที่เราดำเนินชีวิตอยู่ตอนนั้นมักจะไม่รู้ตัว จนกระทั่งเมื่อผ่านเวลาผ่านไป พอได้มองย้อนกลับมาจึงจะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเชื่อมต่อกันในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกับการเล่นเกมลากเส้นต่อจุด

     เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปบรรยายให้กับน้องๆ ในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับโครงการ daypoets Society ที่เป็นการฝึกงานสำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจ มีน้องๆ เข้ามาร่วมฟังการบรรยายถามคำถามขึ้นมา ว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นเสียเวลา ไม่ค่อยได้วิชาความรู้อะไรเท่าไหร่ เมื่อจบออกไปแล้วก็นำออกไปใช้ในการทำงานจริงไม่ได้

     ผมบอกว่าตอนเด็กๆ ก็เคยคิดแบบนั้นเหมือนกัน จนกระทั่งตอนนี้อายุ 40 กว่า ทำงานมานานเกือบ 30 ปี ก็พบว่าแต่ละวิชาความรู้นั้น เมื่อนำมาเรียงต่อจุดกันแล้ว มันกลายเป็นการทำงานและการใช้ชีวิตของเราในทุกวันนี้ ถ้าใครอยากเป็นนักเขียน หรือคนทำคอนเทนต์ลงนิตยสารหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ อย่างน้อยที่สุด วิชาความรู้ด้านเทคนิคที่มักได้เรียนตอนชั้นปี 3 ปี 4 ก็จะช่วยใช้ช่วยในการทำงานจริงได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นและคาดไม่ถึงเลย ก็คือพวกวิชาพื้นฐานที่เรียนตอนปี 1 ปี ที่มีเลขรหัส 101 ทั้งหลาย

 

     สมัยเด็กๆ ผมและเพื่อนร่วมชั้นปีโดดเรียนกันกระจาย ถ้าวิชาไหนมีการบังคับเช็กชื่อ ก็แทบจะเหมือนเราเข้าไปนั่งตากแอร์นอนหลับอยู่หลังห้อง เพราะวิชาพวกนี้จัดสอนกันเซกชันใหญ่ เด็กเรียนกันทีเป็นร้อยคน ตอนนั้นก็คิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องเข้าเรียนเลย จำพวกวิชาประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา ปรัชญา ฯลฯ

     จนกระทั่งเมื่อจบออกมาและทำงานมาถึงระดับหนึ่ง ก็พบว่าในการเขียนงานทุกชิ้น การสัมภาษณ์บุคคลทุกครั้ง ในการประชุมกับทีมงาน หัวหน้าหรือลูกน้อง เพื่อรวบรวมประเด็น ระดมสมอง วิชาพื้นฐานที่เรียนตอนปี 1 คือสิ่งที่วางรากฐานความคิด และการมีชีวิตที่ดีอยู่ร่วมกับคนอื่น

     ยังจำได้ตอนที่ผมเริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวใหม่ๆ ได้ไปสัมภาษณ์นักโฆษณาชั้นนำของประเทศไทย เราคุยกันถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ความรู้ทั่วไปที่อยู่ในวิชาพื้นฐานชั้นปีหนึ่ง ล้วนถูกขุดกลับขึ้นมาใช้โดยที่เราไม่รู้ตัวว่ามันมาจากไหน มันเป็น Random Knowledge ที่ไม่มีวันรู้ล่วงหน้าว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ จะได้ใช้ทำอะไร ในสถานการณ์หรือโอกาสใด อย่างน้อยที่สุด ชีวิตตอนเป็นเฟรชชีในมหาวิทยาลัย ก็มอบให้เราได้แบบง่ายๆ สะดวกสบาย โดยไม่ต้องไปขวนขวายซื้อหาอ่านเอง

 

     หลายครั้งที่ผมไปบรรยายเรื่องอิคิไก ในฐานะผู้แปลหนังสือเล่มนี้ ให้กับน้องนักศึกษา มีทั้งตัวน้องๆ ผู้ปกครอง และอาจารย์ เข้ามาชวนคุยหลังการบรรยายเพื่อขอคำปรึกษา ว่าระบบการศึกษาทุกวันนี้ไม่ตอบโจทย์โลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

     ผมมักจะบอกว่าชีวิตข้างหน้านั้นแท้จริงแล้วมันมีความยืดหยุ่นและมีความเป็นไปได้มากมาย ชีวิตวัยเริ่มทำงานหลังจากเรียนจบออกมา อาจจะไม่เป็นไปตามแกรนด์นาร์เรทีฟของยุคสมัย ที่เราจะวาดแผนผังวงกลมสี่วงมาตัดกัน เสร็จแล้วก็ไปจับกลุ่มกับเพื่อนตั้งธุรกิจอะไรสักอย่าง แล้วปุบปับประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ร่ำรวยได้แบบไวๆ เกษียณอายุไปตั้งแต่สามสิบและมีความสุขความสบายอย่างล้นพ้นไปตลอดชีวิต

     นั่นแปลว่าชีวิตในห้องเรียนจึงไม่ใช่จะสูญเปล่าไปเสียทั้งหมด มันอาจจะได้ถูกนำมาใช้แบบตรงๆ หรืออาจจะไม่ได้ใช้เลยก็ได้ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้อนาคต แต่สิ่งสำคัญคือการทำงานและมีชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เมื่อมองย้อนกลับมา แล้วสามารถเห็นรูปแบบของการเรียงต่อจุดเรื่องราวต่างๆ

     อาจจะแค่การวิดพื้น ซิตอัพ หรือกวาดบ้าน เรื่อยมาถึงวันที่เรานั่งหลับๆ ตื่นๆ อยู่หลังห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์อารยธรรม ทุกอย่างจะมาบรรจบกันในวันที่เรากำลังนั่งเขียนคอนเทนต์อะไรสักชิ้น ด้วยร่างกายที่ยังแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย สมองและจิตใจยังแจ่มใส เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัวที่ต้องดูแล

     ผมเห็นชีวิตของรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนเก่า แต่ละคนมีเส้นทางที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป ถึงแม้เราจะมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน แต่เส้นทางก็นำพาเราแยกย้ายกันไป จุดประสงค์ของการศึกษาและการเรียนรู้จึงไม่ได้เป็นเรื่องตรงไปตรงมา เหมือนกับชีวิตที่ไม่ได้เป็นสิ่งสำเร็จรูปที่จะมาวาดแผนผังและคาดหวังอะไรจากมัน