อำนาจนิยม

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | เหมือนเวลานั่งประชุมกัน แล้วมีใครสักคนเริ่มนินทาเจ้านาย

เหมือนเวลาที่เรากำลังนั่งประชุมกันอยู่ แล้วมีใครสักคนเริ่มต้นเปิดประเด็นนินทาเจ้านาย ซึ่งวันนี้เขาไม่ได้เข้าร่วมประชุมอยู่ในห้องนั้นด้วย

     สังเกตไหม โดยที่เราเองอาจจะไม่รู้ตัว ระดับเสียงของเราแต่ละคนจะพลันหรี่ลง สายตาทุกคู่จะเหลือบไปมองกลอนประตูเป็นระยะๆ ระแวงว่าจะมีคนที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้เปิดผลัวะเข้ามา สักพักเราจะโน้มตัวเข้าหากันเพื่อพูดและฟังกันให้ถนัด บรรยากาศในห้องจะอึมครึมลงเหมือนมีเมฆหมอกปกคลุม ในขณะที่ประเด็นการพูดคุยในวงกลับเริ่มมีสีสันสว่างไสวขึ้นมา

     สังคมอำนาจนิยมดำเนินไปแบบนี้ ในภาพกว้าง มันหรี่เสียงของผู้คนลงไปให้ดูผิวเผินแล้วเหมือนว่าสงบเงียบดี ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเหมือนเดิมที่เคยเป็นมา ความเห็นต่างและความขัดแย้งจะถูกกดข่มซุกซ่อนไว้ แต่ถ้ามองให้แคบลงไปในรายละเอียด เราจะเห็นว่าสรรพเสียงต่างๆ แอบเล็ดลอดหาทางผลุบๆ โผล่ๆ ขึ้นมาได้อยู่ดี ที่สุดแล้วมันไม่มีทางปิดบังหรือทัดทานไว้ได้

     เหมือนกับในกรุ๊ปไลน์ของที่ทำงาน เราชอบมีกรุ๊ปลับแยกต่างหากออกไปโดยที่ไม่มีเจ้านายอยู่ด้วย (อย่าบอกนะว่าคุณไม่มี) เหมือนกับในโลกโซเชียลมีเดีย ที่เราชอบโพสต์บ่นหรือทวีตด่าแบบลอยๆ ห้วนๆ โดยที่ไม่ระบุชัดว่าเราหมายถึงใคร หมายถึงเรื่องอะไร เวลาที่ไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจเหนือกว่าที่ได้ส่งคำสั่งการลงมา (อย่าบอกนะว่าคุณไม่เคยทำ)

     แม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีการสื่อสารล้ำเลิศแค่ไหน แต่อำนาจนิยมก็ได้สร้างวัฒนธรรมการสื่อสารแบบหน้าไหว้หลังหลอกแบบนี้ขึ้นมาปกคลุมเราไว้อีกชั้นหนึ่ง ทำให้ในที่สุด ปัญหาหรือความขัดแย้งใดๆ จะไม่ได้รับการพูดจากันดีๆ ร่วมกันหาทางแก้ไข หรือแม้กระทั่งไม่เคยตระหนักถึงเลย ทั้งในระดับองค์กร ครอบครัว วงเพื่อน หรือแม้กระทั่งเรื่องการเมืองระดับประเทศ

 

     การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของเจ้านายในห้องประชุมนั้น จึงแทบไม่ต่างกันในความรู้สึกของเรา เขาเหมือนบทบาทผี หรือ Ghost Role ในทฤษฎี Deep Democracy ของ อาร์โนลด์ มินเดลล์ ที่ล่องลอยอยู่ในห้องและมีผลต่อการประชุมอยู่ดี อำนาจนิยมทำให้เราจะหรี่เสียงตัวเองลง แสร้งทำหน้าทำตาเลิ่กลั่กใส่กันไปวันๆ อย่างมากก็แค่แอบเหน็บหรือทำเป็นล้อเล่นกับอำนาจนั้น เพราะแท้ที่จริงแล้ว อำนาจจะแฝงตัวอยู่ในคำพูดและท่าทีของเราแต่ละคน เหมือนเราตกเป็นร่างทรงของมันที่คอยวนเวียนสลับเปลี่ยนบทบาทกันไปมา

     ทฤษฎี Deep Democracy จึงเสนอทางออกว่าไม่ใช่ความสงบสุข ถ้าความสงบสุขหมายถึงการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงบทบาทของผีตนนั้นไปเลย หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมัน เหมือนมีช้างทั้งตัวอยู่ในห้อง แต่ทุกคนในห้องทำเป็นมองไม่เห็น ไม่แม้จะเอ่ยถึง

     ในที่สุด ถ้าเป็นในองค์กรธุรกิจ ผลของการประชุมก็ยังวนเวียนอยู่ที่เดิม ไม่มีทางออกไปพบไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ ถ้าเป็นในระดับประเทศชาติ ก็ทำให้เราวนเวียนอยู่กับความขัดแย้งทางอุดมการณ์เหมือนเดิมไปเรื่อยๆ การกากบาทแค่สี่วินาทีในทุกรอบสี่ปีของการเลือกตั้งจึงไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย และแน่นอนอยู่แล้วว่าการปฏิวัติรัฐประหารกันทุกรอบ 10-15 ปีแบบนี้ ก็ยิ่งไม่มีทางทำให้สังคมสงบสุขได้จริง

     การเข้าถึงระดับลึกของประชาธิปไตยคือการเพิ่มเสียงให้กับทุกบทบาทในสังคมได้ดังขึ้นมา จนบางครั้งอาจจะทำให้พวกเราในครอบแก้วแห่งความสงบสุขต้องแสบแก้วหูจนทนไม่ไหว เหมือนเสียงมอเตอร์ไซค์แว้นปิดถนนแข่งกัน เสียงลำโพงยักษ์ในงานบวชที่วัดข้างบ้าน หรือเสียงต่อต้านจากชุมชนที่มีศูนย์การค้าหรือโครงการพัฒนาขนาดยักษ์ไปเปิดใกล้บ้าน เมื่อเสียงเหล่านี้ผุดขึ้นมาเมื่อไหร่ เราจึงตระหนักถึงความไม่ปกติของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ชนชั้น อุดมคติ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ฯลฯ

 

     หลังจากที่สังคมไทยดูเหมือนว่าจะสงบสุขอย่างผิวเผินมานานห้าปี นับต่อจากวินาทีที่กระบอกปืนและกฎหมายละเมิดสิทธิเสรีภาพหลุดลอยออกจากมือเผด็จการทหาร ผมเชื่อว่าตอนนี้สรรพเสียงจะยิ่งดังเซ็งแซ่จนเราจะทนนอนหลับคุดคู้อยู่ไม่ไหว เริ่มต้นจากการติดตามผลการนับคะแนน การคำนวณสูตรคณิตศาสตร์ทางการเมืองเมื่อจัดตั้งรัฐบาล ไปจนถึงวันที่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

     ไม่ว่าใครจะมาเข้าครองอำนาจต่อไป เสียงในห้องประชุมของเราจะดังขึ้นไปเรื่อยๆ จนใครสักคนกล้าพอจะลุกไปเปิดประตูเพื่อให้เสียงนี้ลอดออกไปทั้งตึก ในกรุ๊ปไลน์ลับของเราจะเดือดพล่านไปด้วยไอเดียดีๆ จนใครสักคนพิมพ์เพลินจนเผลอส่งแชตไปผิดห้อง ทำให้สารจากห้องลับไปปรากฏสู่สาธารณะ และเมื่อมีปัญหาหรือความไม่พอใจกับรัฐบาลหรือชนชั้นนำในสังคม เราจะโพสต์ความคิดเห็นออกไปตรงๆ ไม่อ้อมค้อมหรือแค่เขียนล้อเล่นลอยๆ

     เสียงดังโฉ่งฉ่างจึงเป็นสิ่งจำเป็นกับสังคมและชีวิตของเราทุกคนพอๆ กับความสงบสุข ความสงบที่เป็นเพียงการกดข่มของอำนาจ ไม่ได้หยุดความขัดแย้งที่แท้จริง การเข้าถึงระดับลึกของประชาธิปไตยคือการส่งเสียงและทนรับฟังกันไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องการความอดทนและการรู้คิดอย่างมาก จนถึงจุดที่เกิดการยอมรับและเห็นอกเห็นใจกัน