ผมทำงานเขียนหนังสือมายี่สิบกว่าปี ผลงานทั้งหมดล้วนเป็นแบบ non fiction คือแนวบทความและสารคดี พอมาช่วงหลังๆ นี้ก็อยากออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง อยากจะทดลองเปลี่ยนแนวมาเขียนเป็น fiction หรือเรื่องแต่งดูบ้าง
เมื่อสองสามปีก่อน ผมเคยไปสมัครเรียนคอร์สการเขียนบทละครเวที สอนโดยคณะละครพระจันทร์เสี้ยว ครูชื่อ คุณอรดา ลีลานุช เพราะคิดเอาเองว่าการเขียนบทละครเวทีแบบสั้นๆ เป็นการฝึกเขียนเรื่องแต่งและน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ในคลาสของเรามีผู้เรียน 10 คน พวกเรามารวมตัวกันตั้งแต่เช้า นั่งล้อมเป็นวงกลมบนพื้นห้องซ้อมละคร ครูเริ่มต้นด้วยการให้แนะนำตัวทีละคนวนไปจนครบรอบวง เพื่อทำความรู้จักคุ้นเคยกันเล็กน้อยว่าใครทำงานอะไร มาจากไหน และมาเพื่อต้องการเรียนรู้อะไร เสร็จแล้วก็เริ่มต้นให้เราลงมือเขียนบทละครเลย!!
ไม่มีการพูดพล่ามทำเพลงอะไรมาก ผู้สอนให้จับฉลากสุ่มเลือกรูปภาพตัวละคร 2 ตัว และสถานที่ 1 แห่ง โดยบอกโจทย์เพียงแค่ว่า ให้เปิดเรื่องมาโดยมีตัวละครตัวแรกนั่งอยู่ แล้วมีตัวละครตัวที่สองเดินเข้ามาคุยด้วย พวกเขาจะคุยอะไรกันก็ได้ โดยให้ตอนจบของเรื่อง ตัวละครตัวแรกเดินออกจากห้องไป
ความคิดทุกอย่างเปิดกว้าง ให้ผู้เรียนแต่ละคนจินตนาการเองเลยว่าทั้งสองคนนี้จะพูดอะไรกัน ผู้สอนบอกให้ลองเขียนออกมาโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ถ่ายทอดจินตนาการแรกที่ผุดขึ้นมา ผู้เรียนทุกคนใช้เวลาอยู่กับตัวเอง มีแผ่นกระดาษว่างเปล่าตรงหน้ากับปากกาอีกหนึ่งด้าม และเวลานานประมาณ 2-3 ชั่วโมง
แล้วในตอนบ่ายแก่ๆ ของวันนั้น เราทุกคนก็ได้บทละครของตัวเองขึ้นมาจริงๆ และผมเองก็ได้เรื่องแต่งเรื่องแรกในชีวิตของตัวเองจริงๆ
ผมจับฉลากได้ภาพตัวละครเป็นชายชราและชายหนุ่ม ฉากสถานที่เป็นสำนักงานแห่งหนึ่ง ก็จินตนาการเป็นหัวหน้ากับลูกน้องในบริษัท กำลังทะเลาะกันเรื่องวัฒนธรรมองค์กร มีจุดเริ่มต้นของบทสนทนาที่โต้เถียงกัน ฝ่ายหนึ่งกุมสถานการณ์ไว้ได้ในตอนแรก แล้วก็นำไปสู่จุดจบของเรื่องที่กลายเป็นชัยชนะของอีกฝ่ายหนึ่ง
หลังจากทุกคนเขียนเสร็จ เราก็นำบทละครของเราไปให้เพื่อนร่วมชั้นอ่านออกเสียงที่หน้าชั้น เพื่อผู้เขียนจะได้ฟังเสียงของตัวละครของตัวเองได้ชัดเจน พออ่านเสร็จ เราก็จะแสดงความคิดเห็นโดยวนรอบเป็นวงกลม วิจารณ์ เสนอแนะ และบอกความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากบทละครชิ้นนั้นๆ
ในทุกๆ วัน เราเข้าสู่กระบวนการเดิม คือเริ่มต้นมาเจอกันในเวลาเช้า นั่งล้อมวงเพื่อคุยกันเล็กน้อย แล้วก็ได้รับโจทย์ที่เปิดกว้าง ให้อิสระกับจินตนาการของผู้เรียนออกไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปหามุมสงบ เพื่อลงมือเขียนบทละครเรื่องใหม่ของตัวเอง จนเวลาบ่ายแก่ๆ ก็กลับมานั่งล้อมวงเพื่ออ่านบทละคร และพูดคุย วิจารณ์ และแสดงความเห็นกันเป็นวงกลมอีกครั้ง
เมื่อสิ้นสุดคอร์สนี้ ผมเขียนบทละครของตัวเองสำเร็จเสร็จสิ้นออกมา 3 เรื่อง มันมีลักษณะเป็น ffiiction หรือเรื่องแต่ง อย่างที่ตัวเองอยากเขียนมานานแสนนาน แต่ไม่เคยเขียนได้เลยตลอดเวลาที่ผ่านมา มันให้ความรู้สึกดีอย่างบรรยายไม่ถูก เป็นความภาคภูมิใจอยู่ลึกๆ และความตื่นเต้นจนแทบจะสะกดอาการไว้ไม่อยู่
เวลาที่บทละครของเราถูกเพื่อนนำออกไปอ่านออกเสียงที่หน้าชั้น ใจผมเต้นไม่เป็นส่ำ เป็นความเขินอายอย่างบอกไม่ถูก ตะขิดตะขวงใจพิกล เหมือนโดนคนอื่นละลาบละล้วงเข้ามาถึงในเบื้องลึกของความรู้สึกนึกคิด เหมือนกำลังยืนเปลือยกายอยู่หน้าชั้น
ไม่เพียงเปิดให้คนอื่นเห็นความเพ้อเจ้อของเรา แต่ยังเปิดเผยให้เห็นถึงเบื้องลึกเข้าไปภายใน ทั้งๆ ที่เรื่องราวในบทละครนั้นเป็นเรื่องแต่งจากจินตนาการ แต่ไม่รู้ว่าทำไมมันกลับสะท้อนตัวตนของเราออกมาได้ชัดเจนเหลือเกิน มันชัดเจนยิ่งกว่างานเขียนแนวบทความที่เขียนจากเรื่องจริงเสียอีก… ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
พลังของกลุ่มผู้เรียนร่วมกันในห้องสิบคนสะท้อนกันไปมาผ่านการพูดคุย วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นแบบต่อหน้าต่อตา ช่วยผลักดันและส่งเสริมให้ผู้เรียนแต่ละคนพยายามเรียนรู้และพัฒนาตัวเองขึ้นไป จนสามารถข้ามผ่านขีดจำกัดเดิม
สิ่งที่ผมเรียนรู้จากชั้นเรียนแบบนี้คือการพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่เป็นแค่การแยกตัวออกไปฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเองเท่านั้น เหมือนกับยี่สิบกว่าปีที่ทำงานเขียนมา แต่ไม่เคยสามารถข้ามผ่านขีดจำกัดเดิมๆ ของตัวเองได้ ดังนั้น เรายังต้องการวงกลมของเพื่อนที่ไว้วางใจกัน และพลังของการพูดคุยสะท้อนความคิดกันไปมาภายในวง เพื่อพาเราออกไปให้ไกลกว่าเดิม
ในกระบวนการเรียนรู้ คุณครูเป็นเพียงแค่ผู้นำกลุ่ม เป็นกระบวนกรที่มีหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกของกระบวนการนี้เท่านั้น แล้วปล่อยให้ผู้เรียนผ่านเข้าไปในกระบวนการ ไม่ใช่เรียนรู้ผ่านบทเรียนจากการบรรยายที่หน้าชั้น แต่เป็นการเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้ผู้อื่น มีการสอนกันเอง ช่วยเหลือกัน เป็นวง dialogue ที่โต้ตอบกันไปมา การเรียนรู้แบบนี้น่าสนุกและท้าทายกว่า
และเมื่อคอร์สสิ้นสุดลง เราทุกคนเรียนจบกลับบ้านไป เราไม่ได้เพียงแค่สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองติดไม้ติดมือกลับไป แต่เราได้เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับมิติอื่นๆ ในชีวิตของเรา