วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | หนุ่มสาวที่ไม่เป็นลิเบอรัลนั้นไม่มีหัวใจ คนแก่ที่ไม่เป็นคอนเซอร์เวทีฟนั้นไม่มีสมอง

‘คนหนุ่มสาวที่ไม่เป็นลิเบอรัลนั้นไม่มีหัวใจ คนแก่ๆ ที่ไม่เป็นคอนเซอร์เวทีฟนั้นไม่มีสมอง’

คำคมตลกๆ นี้อาจจะฟังดูเหมารวม และโอเวอร์ซิมพลิฟายด์ทรรศนะทางการเมืองของคนต่างวัย แต่ถ้าคุณได้มาทำงานเป็นสื่อมวลชนในเทศกาลเลือกตั้งอย่างตอนนี้ และได้ออกเดินสายสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลายวัยที่เป็นนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมต่างๆ ก็จะพบเลยว่าคำกล่าวติดตลกนี้เป็นจริงอยู่ไม่น้อย

     ตลอดเดือนที่ผ่านมา ผมได้พบปะกับนักการเมืองรุ่นเก่าๆ ที่ช่วงนี้กำลังโดนคนหนุ่มสาวโห่ฮาและด่าทอในโซเชียลมีเดีย มาบอกเล่าถึงเรื่องราวโลดโผนโจนทะยานในชีวิตวัยหนุ่มสาวของเขา ว่าเคยยืนหยัดต่อสู้เผด็จการ หรือขัดขืนกฎระเบียบเคร่งครัดของสังคม ออกเดินทางแสวงหาตัวตน เขาบอกเล่าถึงความหลงใหลในนิยายอย่าง โจนาธาน ลีฟวิงสตัน และเพลงเพื่อชีวิตที่เคยกอดคอกันร้องกับเพื่อนๆ

     ผมมักจะถามเขาว่าเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาล้มเลิกการเป็นคนแบบนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ พวกเขาส่วนใหญ่จะหัวเราะ และบอกว่าสักวันผมจะเข้าใจเอง

     ในทางตรงกันข้าม ผมได้ไปพบปะกับพวกนักการเมืองหนุ่มสาวไฟแรงที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย เพราะพวกเขามีท่าทีเปิดกว้าง พูดจาด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงอุดมคติสูงส่ง

     เมื่อเราสัมภาษณ์กันไปถึงจุดหนึ่ง ผมมักจะถามพวกเขาว่า ถ้าสักวัน ในยามที่แก่ชรามาเท่ากับผม เรี่ยวแรงลดน้อยถอยลง และได้พบกับความผิดหวังซ้ำซากกับสภาพสังคมอย่างที่ผมเองได้ประสบมา พวกเขาจะยืนหยัดกับอุดมคติต่อไปได้ไหม

     บางคนบอกว่า ยังคงมั่นใจว่าไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ในขณะที่มีบางคนนิ่งงัน เพราะเข้าใจถึงเจตนาที่ผมถามคำถามนี้ เขาเอ่ยถึงผู้คนที่เคยเป็นไอดอลหรือโรลโมเดลทางความคิด ที่ในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมราวกับเป็นคนละคน

     ผมคิดว่าอายุเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดทรรศนะทางการเมือง มีบทความในเว็บไซต์ The Guardian ชื่อเรื่องว่า Do we really become more conservative with age? อธิบายแนวคิดนี้ได้อย่างน่าสนใจ ยกตัวอย่างบรรดารัฐบุรุษและนักคิดนักเขียนระดับโลกอย่าง วินสตัน เชอร์ชิลล์, เบนจามิน ดิสราเอลี, วิกเตอร์ ฮูโก คนเหล่านี้เคยมีหัวเอียงซ้ายมากๆ ในตอนวัยหนุ่ม แต่พอแก่ชราก็มีความโน้มเอียงมาทางด้านคอนเซอร์เวทีฟมากขึ้นเรื่อยๆ

     ผมเชื่อว่าในโลกแห่งความจริงไม่มีอะไรที่แบ่งขั้วกันแบบตัดขาด มีเพียงในโลกแห่งอุดมคติที่เป็นเช่นนั้น ซึ่งเรามักจะเห็นกันในคำปราศรัยของนักการเมืองที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างแบบขาวและดำ ถูกและผิด ดีและเลว

     ทรรศนะทางการเมืองในหัวของเราแต่ละคนล้วนพร่าเลือนและกระจัดกระจาย ในแต่ละเรื่องที่เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้นสามารถแยกออกไปเป็นหลายระดับ และแถมยังไม่มีความสอดคล้องกันเมื่อมองไปในประเด็นแยกย่อย คนที่ยอมรับความหลากหลายเท่าเทียมทางเพศ อาจจะใช่หรือไม่ใช่คนเดียวกันกับที่ยอมรับเรื่องการทำแท้งเสรีหรือสิทธิของคนต่างด้าว

 

     ในบทความของ The Guardian บอกว่า ในประเทศอังกฤษ อายุของกลุ่มประชากรใช้ทำนายผลคะแนนการโหวตของพวกเขาได้เลย คนมีอายุมากขึ้นมีแนวโน้มเลือกพรรคอนุรักษ์นิยมมากขึ้น เทียบกับคนหนุ่มสาวที่มีแนวโน้มว่าจะเลือกพรรคแรงงาน พรรคเสรีประชาธิปไตย และพรรคกรีน รูปแบบนี้เป็นมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

     สิ่งที่น่าสนใจคือ คำถามว่าเพราะอะไร??

     คำตอบคือ เมื่อคนอายุมากขึ้น จะมีลำดับความสำคัญในชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เรื่องที่ไม่เคยสลักสำคัญก็กลายเป็นเรื่องสำคัญกว่า เรื่องที่ไม่เคยคิดถึงจึงกลายเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องใส่ใจขึ้นมา ทรรศนะทางการเมืองในหัวที่เดิมก็พร่าเลือนอยู่แล้ว และกระจัดกระจายในมิติต่างๆ จึงเปลี่ยนแปลงระดับไปมา

     การเติบโตไม่ได้มีแค่อายุที่เป็นตัวเลข แต่ยังหมายถึงการเติบโตทางสังคม อันได้แก่ การศึกษา การแต่งงาน การมีลูก หรือการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

     นอกจากนี้ เงื่อนไขในชีวิตแต่ละคนในฐานะปัจเจก เงื่อนไขจากสังคมในภาพรวมก็เกี่ยวข้องอย่างมาก ปัจจัยอื่นๆ นอกจากอายุ ยังมีเรื่องชนชั้นทางสังคม ระดับการศึกษา ความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ ตัวตนของเราไม่ได้คงที่และตัดขาดจากคนอื่นๆ แต่มันเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกับบริบทต่างๆ รอบตัวในแต่ละช่วงของชีวิต

     การเติบโตขึ้นมาร่วมอยู่ในเจเนอเรชันหนึ่งๆ จะมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ประชากรรุ่นนั้นๆ ก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น ถ้าได้รับการศึกษาสูงกว่า มีสภาพสังคมสงบสุขกว่า ก็มักจะมีแนวคิดลิเบอรัลมากกว่า ทำให้มีมุมมองต่อประเด็นทางสังคม เช่น โทษประหาร หรือการรับผู้อพยพ ไปในทางเดียวกัน

     ขณะที่เมื่อโลกมีแนวโน้มจะเป็นเสรีนิยมมากขึ้น เด็กทั้งเจเนอเรชันนี้เติบโตมาพร้อมกับทรรศนะเปิดกว้างกว่า ดังนั้น  ก็เป็นไปได้ที่ระลอกคลื่นของยุคสมัย จะพัดพาเอาแนวคิดอนุรักษ์นิยมตกกระแสไปในการเลือกตั้งแต่ละครั้งๆ ที่ดำเนินไป

     แต่แนวคิดและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมจะไม่ถูกพัดพาหายไปเสียทั้งหมด เพราะถึงแม้สังคมโดยรวมจะมีแนวคิดเรื่องเสรีภาพมากขึ้น แต่เมื่อคนแต่ละเจเนอเรชันแก่ตัวลง พวกเขาก็จะค่อยๆ ตลบกลับมาอนุรักษ์นิยมอยู่ดี เพื่อจะรักษาสภาพการณ์ต่างๆ ไว้ให้เหมือนเดิม เพราะพวกเขาไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

     คนไม่ได้สนใจการเมืองลดลงเมื่อเขาแก่ตัวลงและอยู่แต่ในบ้าน เพียงแต่ทรรศนะเขาจะเปลี่ยนไป แล้วในท้ายที่สุด คนทุกวัย จากทุกเจเนอเรชัน ก็จะมากองอยู่รวมกันในช่วงเวลาหนึ่งๆ เมื่อต้องลงคะแนนเสียง

     แล้วในจังหวะนั้น เราก็จะมามองหน้ากันแบบสับสนงุนงง ฝ่ายหนึ่งก็สงสัยว่าทำไมพวกคุณจึงเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าทำไมพวกคุณถึงไม่ยอมเข้าใจอะไรเลย

     เรามีทรรศนะหลากหลายภายในตัว เพียงแต่ในช่วงเวลาและสถานการณ์นั้นๆ ทรรศนะใดจะปรากฏออกมาเท่านั้นเอง