อุเบกขา

ความหมายและความสำคัญของ ‘อุเบกขา’ ในโลกโซเชียลมีเดีย

ในโลกแห่งคอมเมนต์อันร้อนแรงและพลุ่งพล่าน มักมีคนมาถามผมเสมอว่า – หากเจอคนคอมเมนต์แบบเข้าใจผิด (หรือแม้กระทั่งเข้าใจถูกแล้ว แต่เข้ามา ‘เกรียน’) โดยไม่ยอมลดราวาศอก ไม่เปิดกว้างรับฟังคำอธิบายใดๆ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มี Empathy เลย มุ่งแต่จะเอาชนะคะคานจนคล้ายฆ่าฟันเปิดศึก, เราควรทำอย่างไร

        คำแนะนำที่ผมมักบอกทุกคนไปก็คือ ให้ ‘ยักไหล่’ แล้วก็บอกตัวเองว่า – ช่างมัน

        หลายคนฟังผ่านๆ หลายคนทำตาม แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีคนหนึ่งตั้งคำถามกลับมาว่า – นี่คือการมี ‘อุเบกขา’ ใช่ไหม

        ผมบอกเขาไปว่า – ทั้งใช่และไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับว่า เรามองคำว่า ‘อุเบกขา’ อย่างไร

        เรามักจะแปลคำว่าอุเบกขาว่าการ ‘วางเฉย’ เหมือนกับไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสิ่งต่างๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข วางทุกข์และสุขพวกนั้นเอาไว้นอกตัว ก่อให้เกิดความรู้สึก ‘เฉยๆ’ ขึ้นมาภายใน แล้วก็บอกตัวเองว่า นี่คือคือภาวะ – ช่างมันฉันไม่แคร์ เมื่อไม่แคร์เสียแล้วก็ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร ซึ่งหากทำแบบนี้บ่อยๆ ก็เป็นไปได้ว่าเราจะก้าวเข้าไปอยู่ในสภาวะ – ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง, คือไม่รู้สึกอะไรเลย

        แต่คำว่า ‘อุเบกขา’ เป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

        เรามักจะบอกว่า อุเบกขาธรรมคือการ ‘วางใจ’ ให้เป็นกลาง ซึ่งก็แปลว่าเราต้อง ‘จัดการ’ ด้วยการเอาใจของเราไป ‘วาง’ ไว้ในที่ใดที่หนึ่ง (ในที่นี้ก็คือที่ที่อยู่ตรงกลาง) เพื่อจะได้กระทบซ้ายกระทบขวา หรือกระทบหนาวกระทบร้อนที่อยู่สุดปลายขั้วให้น้อยที่สุด

        แต่นั่นคือความหมายของอุเบกขาจริงหรือ?

        ชาวพุทธทั่วๆ ไปจะคุ้นเคยกับอุเบกขาเฉพาะในพรหมวิหาร 4 เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ในทางพุทธศาสนา อุเบกขาซับซ้อนมาก ถ้าพูดกันแบบภาษาพระหน่อย ก็ต้องบอกว่ามีอุเบกขาในโพชฌงค์ อุเบกขาในฌาน อุเบกขาในเวทนาขันธ์ แล้วก็อุเบกขาในพรหมวิหาร 4 ซึ่งแต่ละแบบล้วนแต่แตกต่างกันไปอย่างพิสดารซับซ้อนทั้งสิ้น

        อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ หากลองนำมาแบ่งแบบคร่าวที่สุด โดยส่วนตัว (ซึ่งต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นผู้รู้เรื่องพุทธศาสนามากมายนัก แต่เป็นการแบ่งเพื่อให้เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่สติปัญญาที่มีอยู่จะพอทำได้) อยากจะแบ่งออกเป็นอุเบกขาสองแบบ

        นั่นก็คืออุเบกขาแบบที่ ‘รับรู้’ กับอุเบกขาแบบที่ ‘ไม่รับรู้’

        เวลาเราพูดว่าอุเบกขาคือการวางเฉยหรือวางใจให้เป็นกลางเพื่ออยู่ห่างจากสิ่งที่ ‘สุดขั้ว’ สองปลาย ไม่ว่าจะรักเกลียดร้อนหนาว หลายคนเข้าใจว่าอุเบกขาคือการไม่ต้องไปรับรู้อะไรเลย เมื่อไม่รับรู้ก็ไม่เดือดร้อน เช่น ต่อให้มีคนแชร์หรือรีทวีตความเห็นของเราไปด่าว่าอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าไปดู ก็ไม่เกิดการรับรู้ เมื่อไม่รับรู้ก็ไม่เดือดร้อน

        หรือในบางกรณี ถ้าไม่อยากให้เดือดเนื้อร้อนใจอะไรเลย ก็ปิดคอมเมนต์ หรือไม่ก็บล็อกคนที่คิดเห็นแตกต่างจากเราไปเลย แบบนี้เราก็ไม่รู้อีกเช่นกัน เมื่อไม่รู้ก็สามารถ ‘วางใจเป็นกลาง’ หรือ ‘วางเฉย’ ได้ง่ายมาก

        การ ‘ไม่รู้’ นี้ อาจทำให้เราไม่เดือดเนื้อร้อนใจ แต่ในเวลาเดียวกัน ความไม่รู้ก็คือความไม่รู้ นอกจากเราจะไม่รู้ว่าคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์เราอย่างไร (ซึ่งอาจมีแง่งามและข้อดีอยู่ในความสาดเสียเทเสียนั้นก็ได้) ความไม่รู้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ – เราจะไม่มีวันรู้เลยว่า ตัวเรา ‘รู้สึก’ อย่างไร

        เราจึงอาจพลาด ‘บททดสอบ’ แห่งความเป็นมนุษย์ที่สำคัญไป

        มันคือบททดสอบว่าเราจะมีอุเบกขาธรรมอยู่ได้ไหม – แม้เมื่อเรา ‘รู้’ เสียแล้วว่าตัวเอง ‘รู้สึก’ อย่างไร

        อุเบกขาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราเอาตัวเองไป ‘จัดวาง’ ไว้ตรงนั้นตรงนี้เพื่อให้สิ่งต่างๆ มาตกกระทบเราน้อยที่สุด อุเบกขาไม่ได้แปลว่าเราจะไม่เกิดความรู้สึกในเรื่องอะไรเลย อุเบกขาไม่ใช่การ ‘มองให้ไม่เห็น’ ทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้คนที่ต้องพบเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างที่ตัวเองทำอะไรกับมันไม่ได้ (แล้วสุดท้ายเราก็เลยเสวยสุขอยู่ในอุเบกขาธรรม)

        แต่อุเบกขาคือการ ‘มองให้เห็น’ ถึงความเป็นไปต่างๆ ของโลก มองเห็นความเกี่ยวเนื่องของเหตุและผลต่างๆ ถ้าพูดแบบนักปรัชญายุค Enlightenment ก็ต้องบอกว่าเป็น ‘มนุษย์ที่มีเหตุผล’ คือมองเห็นและเชื่อมโยงได้ว่าเหตุและผลของสรรพสิ่งคืออะไร แต่ถ้ามีอุเบกขาด้วย ก็คือการ ‘รับรู้’ และอาจ ‘รู้สึก’ อย่างลึกล้ำกับสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้ายหรือดี พองฟูหรือฟีบแฟบ – แต่เป็นการรับรู้และรู้สึกที่ ‘รู้เท่าทัน’ กับการรับรู้และความรู้สึกเหล่านั้นด้วย

        การรู้ปัญหาเป็นเรื่องเชิงสังคมที่ต้องทำความเข้าใจ ส่วนความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรู้ปัญหาเหล่านั้น เกิดขึ้นจากการทำงานของสมอง วิวัฒนาการ พันธุกรรม และต้นทุนในการอบรมเลี้ยงดูให้เติบโตมา มันจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราควบคุมอะไรมันไม่ได้ แต่เมื่อ ‘รู้’ และ ‘รู้สึก’ แล้ว ก็ต้องรู้เท่าทันมันด้วย โดยไม่ปรุงแต่งเพิ่มเติม รู้และมองให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร ปัญหาอยู่ตรงไหน ใครกำลังทำอะไร

        อุเบกขาไม่ได้แปลว่าเราต้องถอนตัวออกจากปัญหา หลบหนีไปจากสังคม แต่อุเบกขาอาจหมายถึงความสามารถในการทุ่มเทแสวงหา solution ให้กับปัญหาต่างๆ โดยไม่ยึดติดอยู่กับความสำเร็จ และไม่ยึดติดแม้กระทั่งกับความทุ่มเทที่ถาโถมลงไปอย่างสุดกำลัง อุเบกขาอาจหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่และสุดจิตสุดใจ – ในท่ามกลางความสืบเนื่องของสรรพสิ่งต่างๆ อันยาวนานและบ้าคลั่ง

        รู้ รู้สึก และรู้เท่าทัน

        การยักไหล่และบอกตัวเองว่า – ช่างมัน, จึงไม่ใช่การยักไหล่และช่างมันในแบบที่ไม่สนใจอะไรเลย แต่ถ้าใครจะไม่สนใจอะไรเลย เพื่อตัดปัญหาไม่ให้ต้องผจญกับเชื้อเพลิงแต่ต้น – ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร จะทำก็ทำได้

        ด้วยเหตุนี้ เมื่อถูกถามว่านี่คืออุเบกขาหรือเปล่า ผมจึงบอกออกไปว่า – ทั้งใช่และไม่ใช่

        เพราะสำหรับผม – มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ