สถานการณ์ทางการเมืองกลับมาร้อนแรงกันอีกครั้ง และมันทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง Sophie Scholl: The Final Days มันเป็นเรื่องราวของกลุ่ม White Rose นักศึกษาเยอรมันที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาทำใบปลิวออกแจกจ่าย เขียนข้อความบนผนังและกำแพงไปทั่วเมือง เพื่อปลุกให้ชาวเยอรมันเลิกก้มหัวด้วยความหวาดกลัวให้กับเผด็จการฮิตเลอร์เสียที
โซฟี โชลล์ และพี่ชายของเธอ ฮานส์ โชลล์ เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา พวกเขาถูกตำรวจเกสตาโปจับได้ระหว่างกำลังเอาใบปลิวไปโปรยในมหาวิทยาลัย เรื่องราวในหนังดำเนินไปตอนช่วงเวลาที่เธอถูกสอบสวนและดำเนินคดีในศาล ซึ่งใช้เวลารวบรัดเพียงแค่ 5 วัน แล้วเธอและพี่ชายก็โดนตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตีน
หนังได้แสดงให้เห็นความคิดอันสลับซับซ้อนของตัวละครแต่ละฝ่าย ทั้งฝ่ายเผด็จการขวาจัดและเสรีนิยมซ้ายจัด ความคิดของฝ่ายนาซีเล่าผ่านตัวตำรวจผู้ทำหน้าที่สอบสวน ชื่อว่า โรเบิร์ต มอห์ร ที่มีความเชื่อมั่นในลัทธิชาตินิยม เผด็จการ และเชื่อสุดใจว่าในที่สุด ฮิตเลอร์จะนำพาชาวเยอรมันไปสู่ความสงบสุขและร่ำรวย ในขณะที่ฝ่ายคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อย่าง โซฟี โชลล์ และพี่ชาย ก็ยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย
ทั้งสองคนต่อปากต่อคำกันในระหว่างการสอบสวน โรเบิร์ต มอห์ร ยกเหตุผลว่าเผด็จการฮิตเลอร์ช่วยนำพาเยอรมนีให้รอดพ้นจากการรุกรานของประเทศอื่น และแนวคิดชาตินิยมจะช่วยให้เยอรมนีรอดพ้นจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำไปได้
ส่วนฝ่ายโซฟีก็บอกว่าลัทธิเผด็จการชาตินิยมแบบนี้สิ้นหวัง ถ้าผู้นำเป็นพวกบ้าอำนาจและคลั่งสงครามล่ะ มันจะนำพาประเทศไปถึงไหนกัน เราจึงควรจะต้องเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ และให้สิทธิเสรีภาพแก่ทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องพื้นฐานที่สุดของความเท่าเทียม ก็คือการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการได้นี่แหละ
การถกเถียงกันเรื่องความถูก-ผิด ความดี-เลวแบบนี้ เถียงกันไปทั้งปีทั้งชาติก็ไม่มีสิ้นสุด ถ้าต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นกันไปอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เผด็จการชาตินิยมก็ดีในระดับหนึ่งเมื่ออยู่ในสถานการณ์สงคราม ในขณะที่เสรีนิยมก็มีข้อดีในอีกสถานการณ์หนึ่ง และในระดับหนึ่ง
ในกรณีของฮิตเลอร์ตอนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มันดูง่ายมากๆ ว่าฝ่ายไหนถูกหรือผิด ก็ฮิตเลอร์สั่งล้างเผ่าพันธุ์ และนำพาทั้งโลกเข้าสู่มหาสงคราม ในที่สุดแล้วก็เป็นฝ่ายแพ้สงคราม ในขณะที่ประเด็นหลักๆ ของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่การต่อต้านนาซีและไม่ใช่การเชิดชูประชาธิปไตย มันไม่ได้สรุปแบบฟันธงว่าอะไรดีอะไรเลวแบบตื้นๆ แค่นั้น
หนังเรื่องนี้ตั้งคำถามกับคนดูในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ ว่ามนุษย์คนหนึ่งควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความเชื่อ และอุดมคติของตนเองมากแค่ไหน และถ้าความคิดความเชื่อของเขาแตกต่างไปจากคนอื่น หรือมันขัดกับกฎหมายที่เผด็จการตั้งขึ้นมาเองล่ะ เขาควรต้องรับโทษสถานหนักถึงตายหรือเปล่า
และในขณะเดียวกัน มนุษย์คนหนึ่งควรจะยืนหยัดกับสิทธิเสรีภาพของตัวเองไปจนถึงจุดไหน สิทธิและเสรีภาพนั้นมีคุณค่าคู่ควรถึงขนาดที่เราจะสละชีวิตเพื่อมันหรือไม่
ฉากที่น่าประทับใจ คือฉากที่โซฟีและพี่ชายของเธอถูกนำตัวขึ้นศาล โดยมีผู้พิพากษาคือ โรแลนด์ ฟรีสเลอร์ ในวินาทีสุดท้ายก่อนจะตัดสินคดี ศาลเปิดให้จำเลยลุกขึ้นกล่าวประโยคสุดท้าย เพื่อบอกว่าจะยอมรับความผิดและเพื่อขอความเมตตาจากศาล เผื่อว่าศาลจะลดโทษจากประหารชีวิตให้เหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งสถานการณ์สงครามในตอนนั้นเข้าสู่ช่วงปลายๆ ที่ทุกคนพอจะเห็นเค้าลางพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมันแล้ว
ถ้าคุณจะได้รับการลดโทษให้เหลือแค่ติดคุกตลอดชีวิต และใครๆ ก็พอจะคาดเดาได้ว่านาซีกำลังจะแพ้สงครามแน่ๆ นั่นแปลว่ารู้กันอยู่แล้วว่าคุณจะติดคุกอยู่จริงๆ ไม่นานเท่าไหร่ คำถามคือ ถ้าเป็นคุณล่ะ? ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์นั้น ในวินาทีนั้น คุณจะยังคงยืนหยัด ยืนยันกับความคิดเห็น ความเชื่อ และอุดมคติของคุณต่อไป โดยยอมตายเพื่อแสดงเป็นมรณสักขี หรือว่าคุณจะยอมรับผิดไป ยอมรับว่าที่เขียนในใบปลิวนั้นเหลวไหล และอ้อนวอนขอให้ศาลไว้ชีวิต เอาชีวิตให้รอดไว้ก่อน วันหน้าค่อยมาต่อสู้กันใหม่
โรเบิร์ต มอห์ร: นี่คือกฎหมาย และนี่คือประชาชน หน้าที่ของผมคือทำให้ทั้งสองสิ่งนี้มาบรรจบกัน พวกเราทุกคนต้องยึดตามกฎหมาย ไม่ว่าใครจะร่างมันก็ตาม ไม่อย่างนั้นแล้วจะให้เรายึดถืออะไร
โซฟี โชลล์: ใช่ ฉันทำ (แจกใบปลิว) และฉันก็ภูมิใจกับสิ่งที่ทำลงไป
เมื่อมีแท่นประหารชีวิตรออยู่ตรงเบื้องหน้า คุณจะยอมรับผิดและร้องขอชีวิต หรือจะยังคงยืนหยัด ยืนยันต่ออุดมคติที่สูงส่งขึ้นไป
ถ้าในโลกนี้ เรื่องความถูก-ผิด ความดี-เลว นั้นซับซ้อน ไม่สามารถตัดสินแบบฟันธง และเราจะต้องดำเนินชีวิตอยู่ให้รอดในสภาวะเช่นนี้ด้วยความประนีประนอมและสมดุลแล้ว แบบนี้เราจะมีท่าทีต่อความคิดเห็น ความเชื่อ และอุดมคติของตัวเราเอง และของผู้อื่นอย่างไร
*หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อกส่วนตัว ปี ค.ศ. 2006