fandom

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | ทำไมเราต้องคลั่งไคล้อะไรสักอย่าง และประกาศให้คนอื่นรู้

อะไรมาก่อนกัน ระหว่างเพลงเศร้ากับความเศร้า? …เราฟังเพลงเศร้าเพราะว่ากำลังเศร้า หรือว่าที่กำลังเศร้าอยู่นี่เป็นเพราะเพลงเศร้าที่เราฟัง – จากหนัง High Fidelity (2000)

 

     บทบรรณาธิการนี้เรียบเรียงจากบทความเก่าที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน เพื่ออธิบายว่าทำไมเราต้องคลั่งไคล้อะไรสักอย่าง และประกาศความคลั่งไคล้นั้นให้คนอื่นรู้ วงดนตรีที่ชอบ ทีมฟุตบอลที่เชียร์ สมาร์ตโฟนที่เพิ่งซื้อมา อุดมการณ์ทางการเมืองที่ยึดถือ เราต้องคอยโพสต์บอกคนนั้นคนนี้ตลอดเวลาว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร

 

     ผมนึกถึงหนังเรื่อง High Fidelity ของ สตีเฟน เฟรียส์ ที่สร้างจากนิยายของ นิก ฮอร์นบี พระเอกของเรื่องชื่อร็อบ (จอห์น คูแซ็ก) มีเพื่อนคู่หูชื่อแบร์รี (แจ็ก แบล็ก) ร็อบเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียงที่ใกล้จะเจ๊งเต็มที โดยมีแบร์รีเป็นลูกจ้างประจำร้าน พวกเขาสองคนหมกมุ่นกับเรื่องเพลง มีความรู้และรสนิยมดี เวลามีลูกค้าเข้าร้านมาถามถึงเพลงไหน วงอะไร พวกเขารู้จักหมด

     ดังนั้น วันๆ นอกจากการนั่งเฝ้าร้านที่ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้ามา พวกเขาก็นั่งคุยกันแต่เรื่องเพลง และจัดลิสต์ 5 อันดับเพลงสำหรับฟังในโอกาสต่างๆ เพื่อมาประชันขันแข่งว่าใครรสนิยมดีกว่ากัน โดยเรียกกิจกรรมนี้ว่า Top Five List ความหมกมุ่นการจัดอันดับเพลง ทำให้พวกเขาลามไปถึงการจัดอันดับให้กับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต โดยเรียกว่า Top Five List of Everything จนถึงขั้นที่พระเอกเริ่มต้นเล่าเรื่องชีวิตรักของตัวเองผ่านการจัด 5 อันดับอกหักครั้งที่เจ็บที่สุดในชีวิต

     High Fidelity ก็เหมือนกับหนังสือเรื่องอื่นๆ ของ นิก ฮอร์นบี ที่มักจะเล่าเรื่องของผู้ชายไม่ยอมเติบโต เมื่อต้องมาพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต อย่างเรื่อง Fever Pitch เกี่ยวกับชายหนุ่มคลั่งทีมฟุตบอลอาร์เซนอลจนแฟนสาวเอือมระอา ส่วน About a Boy ก็คือเรื่องของชายหนุ่มผู้ร่ำรวยโดยไม่ต้องทำงานทำการ ติดอยู่กับชีวิตอิสรเสรี แต่ลึกๆ นั้นเปล่าเปลี่ยว

     กล่าวโดยสรุปก็คือ สิ่งที่เป็นปัญหาในนิยายเหล่านี้ คือเด็กหนุ่มหรือ Lad ที่ไม่ยอมโตเป็นผู้ใหญ่เสียที ใน Fever Pitch คือคนที่วันๆ เอาแต่เชียร์บอลและพูดแต่เรื่องบอล ในขณะที่ About a Boy คือผู้ชายที่สุขสบายมากเกินไปจนชีวิตไร้จุดหมาย ปัญหาของร็อบใน High Fidelity คือการไม่สามารถข้ามผ่านช่วงวัย จากวัยรุ่นที่คลั่งไคล้ดนตรีไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ แต่งงาน และสร้างครอบครัวกับผู้หญิงที่ตนรัก

 

     ประเด็นที่น่าสนใจคือ สิ่งที่เราหมกมุ่น หลงใหล คลั่งไคล้เหลือเกินนั้นกลายเป็นปัญหาได้อย่างไร

 

     ความคลั่งไคล้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้เรานำมันมาอ้างอิงกับทุกเรื่องในชีวิต ชีวิตของเราเชื่อมกับโลกภายนอกและผู้คนรอบตัวผ่านทางการบริโภค เสพ และสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องนั้น อย่างร็อบที่ทำความเข้าใจชีวิต เรื่องความเศร้าโศก ความรัก ความสัมพันธ์ และความโรแมนติกต่างๆ ผ่านเพลงเหล่านั้น ซึ่งมันค่อยๆ ทำให้เขาถอยห่างออกจากความเป็นจริง

     ในสายตาของแฟนเก่าทั้งห้าที่ทิ้งเขาไป ร็อบเป็นเด็กไม่รู้จักโต ห่วยแตก เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คิดว่ารสนิยมการฟังเพลงจะทำให้เขาดูเจ๋ง และเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต การที่วันๆ มานั่งคุยแต่เรื่องเพลงกับคู่หู สำหรับคนทั่วไปเมื่อมองเข้ามามันดูไร้สาระ

     แต่สำหรับคนอย่างร็อบและแบร์รี มันคือกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของพวกเขา เป็นการสื่อสารตัวตนออกไปให้โลกภายนอกยอมรับ มันเป็นวิธีเดียวและวิธีสุดท้าย เท่าที่พวกเขาพอจะทำได้ เพื่อให้คนอื่นเข้าใจพวกเขา เป็นการแสดง Field of Experience โดยนำรสนิยมของตัวเองมาทาบลงบน Field of Experience ของคนอื่น เพื่อหวังว่าจะมีใครที่สามารถเข้าใจพวกเขาได้ แต่ในที่สุดแล้วมันไม่มีใครเข้าใจพวกเขา

     แรกๆ อาจจะดูว่าความคลั่งไคล้แบบนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ เรามักจะได้เห็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่ดำดิ่งลงไปในเรื่องของไอดอลบ้าง ดนตรีบ้าง กีฬาบ้าง แต่พอเวลาผ่านไป เมื่อสิ่งเหล่านั้้นล้าสมัยหรือกระแสจืดจางไป นอกจากคนในกลุ่มพวกเขากันเอง พวกเขายิ่งสื่อสารกับใครไม่ได้อีกเลย เปรียบเหมือนกับแผ่นเสียงที่วางขายเต็มร้านของร็อบ ที่กำลังจะตกยุคสมัยไป

     ถ้าเป็นช่วงเด็กวัยรุ่น คนอย่างร็อบและแบร์รีนั้นเจ๋งสุดๆ เพราะการแสดงออกถึงรสนิยมถือเป็นเรื่องสำคัญ มันคือจุดเริ่มต้นในการก่อสร้างตัวตน เด็กวัยรุ่นชายที่เริ่มสนใจเพศตรงข้าม จะดึงดูดเพื่อนให้เข้ามาล้อมรอบตัวได้อย่างไร จะดึงดูดผู้หญิงให้มาปิ๊งเขาได้อย่างไร คำตอบง่ายๆ คือการแสดงออกถึงรสนิยม

     การพูดถึงแนวหนังที่ชอบดู หนังสือเล่มโปรด วงดนตรีที่ติดตาม ทีมฟุตบอลที่เชียร์ คือรูปแบบหนึ่งของการเปิดประเด็นการพูดคุย ทำให้เขาสามารถหาเพื่อนฝูง เกี้ยวพาราสี และจับคู่ ผ่านการสื่อสารเรื่องรสนิยมระหว่างคนหนุ่มสาวในชนชั้นเดียวกัน

 

     ในอดีตที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารจำกัด การสื่อสารรสนิยมถูกจำกัดอยู่แค่ในพิกัดสถานที่หนึ่งๆ เช่นการเชียร์ทีมฟุตบอลของเมืองตัวเอง แต่เมื่อเทคโนโลยีรุดหน้าขึ้น รสนิยมถูกแพร่กระจายออกไปผ่านสื่อบันทึกต่างๆ แผ่นเสียง เทป วิดีโอ วงของการสื่อสารก็ขยายตัวออกไป จนมาถึงยุคดิจิตอล โซเชียลมีเดียเปิดกว้างให้เราเสพเนื้อหาและประกาศรสนิยมให้กว้างออกไปอีก

     ในช่วงนี้ แต่ละวันๆ จึงมีคนออกมาโพสต์ประกาศว่าคืนนี้เขาเชียร์ทีมฟุตบอลทีมชาติใด มันคือการเปิดประเด็นชวนพูดคุยแบบกลายๆ ดูเผินๆ มันเหมือนเป็นการบอกให้รู้เฉยๆ ไม่ได้เรียกร้องความสนใจ ไม่ได้ต้องการให้ใครมาตอบ แต่ข้างในลึกๆ นั้นกำลังโหยหาการปฏิสัมพันธ์ ใครสักคนที่ชอบเหมือนกับเขา หรือใครสักคนที่เชียร์ทีมตรงข้ามกับเขา เพื่อให้คนอื่นๆ เหล่านั้นสื่อสารสะท้อนกลับมา ทำให้เขาสามารถค้นหาตัวตนของตัวเอง

     หรือถ้าพ้นจากช่วงนี้ไป ก็มักจะมีการโพสต์ในโซเชียลมีเดียประมาณว่า ให้เราลิสต์หนัง ลิสต์หนังสือ ลิสต์เพลง แล้วก็ติดแท็กเพื่อนคนอื่นเพื่อส่งต่อการสื่อสารออกไปเรื่อยๆ หรือโพสต์ประมาณว่าเขาไปร่วมกิจกรรมการจับมือนักร้องดารา หรือไปร่วมกิจกรรมเดินขบวนรณรงค์อะไรสักอย่าง ในโลกแบบนี้ เราต้องเป็นแฟนของอะไรสักกลุ่ม คลั่งไคล้อะไรสักอย่าง เปิดให้คนมาเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เพื่อจะได้ตระหนักถึงการดำรงอยู่ของตัวเอง

 

     นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องคอยประกาศบอกใครต่อใครว่าเราคลั่งไคล้อะไร เราก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นมาจากการประกาศถึงสิ่งที่เราคลั่งไคล้ จนบางครั้งเรานึกย้อนไปไม่เจออีกเลย ว่าตัวตนของเรานั้นมีมาก่อน หรือว่าสิ่งที่เราคลั่งไคล้นั้นมีมาก่อน

 

     อะไรมาก่อนกัน ระหว่างเพลงเศร้ากับความเศร้า อะไรมาก่อนกัน ระหว่างตัวตนของเรากับทีมฟุตบอลที่เราเชียร์