flow

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | เติบโตไปในทิศทางและจังหวะเวลาของเราเอง

การขับรถทางไกลมุ่งลงใต้มักจะให้ความรู้สึกยอดเยี่ยมเสมอ พอเลยช่วงการจราจรหนาแน่นแถวพระรามสองและมหาชัยไปได้ เห็นขวดน้ำปลายักษ์ตั้งตระหง่านอยู่ฝั่งตรงข้ามอัมพวา ผมชอบช่วงจังหวะเวลาที่ได้ห้อตะบึงขึ้นไปบนสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ท้องฟ้าภายนอกฉับพลันสว่างไสว ภายในรถสงบเย็นและมีเสียงเพลงคลอเบาๆ ราวกับกาลและจักรวาลทั้งปวงหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรที่สลักสำคัญไปกว่าตอนนี้ ตรงนี้ หลงลืมความวิตกกังวลและลังเลสับสนที่รออยู่เบื้องหน้า วางทิ้งเรื่องราวมากมายที่ผ่านเข้ามา ไว้ในกระจกมองหลังที่ดูห่างไกลออกไปๆ มีเพียงสองมือที่เกาะกุมพวงมาลัยควบคุมทิศทาง สองเท้าที่คอยเหยียบเบรกและคันเร่งเพื่อประคองความเร็วไว้ ทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องคิดคำนวณอะไร ปล่อยกายและใจให้ลื่นไหลไปในความรู้สึกดื่มด่ำล้ำลึก เป็นสุขใจอย่างน่าประหลาด นึกเปรียบเทียบมันกับชีวิตและการงานในบางช่วงเวลา ที่ให้ความรู้สึกยอดเยี่ยมแบบนี้เหมือนกัน เช่นบางครั้งที่ผมนั่งสนทนากับผู้คนที่น่าสนใจอย่างเพลิดเพลินจนมืดค่ำ ลืมดูนาฬิกา แล้วกระตือรือร้นที่จะนำกลับมาเรียบเรียงเขียนเป็นบทสัมภาษณ์อย่างลื่นไหล หรือในบางวันที่นั่งอยู่คนเดียว เปิดเพลงฟังแล้วเกิดความรู้สึกสงบอย่างยิ่ง จนอยากเขียนบทความอะไรสักชิ้น พอเปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมา เนื้อหาก็ลื่นไหลต่อเนื่องไปตั้งแต่คำแรก ย่อหน้าแรก ความคิดในหัวและการเคลื่อนไหวของนิ้วมือบนแป้นคีย์บอร์ดสอดประสานกัน เรียงร้อยเรื่องราวและประเด็นซับซ้อนไปโดยไม่มีรอยสะดุดติดขัดไปจนจบสิ้นกระบวนความที่ต้องการจะบอกกล่าว ถึงแม้สภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ทุกครั้งที่มันเกิดขึ้น ก็ให้ความรู้สึกอิ่มเอมใจและเป็นสุขในการทำงาน ถือเป็นรางวัลตอบแทนสำหรับการทำงานอยู่ในแวดวงนี้ ที่มีค่ากับชีวิตมากกว่าค่าต้นฉบับหรือเงินเดือน ทำให้ยืนหยัดทำงานนี้มาได้หลายสิบปี ถึงแม้จะมีคนอ่านหรือไม่ก็ตาม มีคนชื่นชอบหรือไม่ก็ตาม มันไม่ได้นำมาซึ่งฐานะอันร่ำรวย ชื่อเสียง การยอมรับ ความสำเร็จ หรือยอดไลก์ยอดแชร์ มันให้สิ่งที่เหนือกว่าความสุขในเชิงของวัตถุหรือเชิงปริมาณที่ชั่งตวงวัดกันภายนอก คือสภาวะดื่มด่ำล้ำลึกอันน่าประหลาดอย่างที่กล่าวไว้ ซึ่งถ้าใครเคยได้ประสบพบกับตัวเองสักครั้ง จะต้องเป็นอันเสพติดมัน และรู้เลยว่าชีวิตนี้เราจะไม่ยอมพลาดสิ่งนี้อีก ประเด็นนี้คือเนื้อหาที่ผมเพิ่งได้คุยกับ ‘พี่โลเล’ – ทวีศักดิ์ ศรีทองดี จากการเดินทางไปสัมภาษณ์ที่หัวหิน ลงในนิตยสาร a day BULLETIN ฉบับที่ 559 มันสามารถอธิบายอย่างเป็นทฤษฎีชัดเจนได้ด้วยเรื่อง Flow ของ มิฮาลี ชิกเซนมิฮาย บางคนเรียกมันว่ามณฑลแห่งพลัง บางคนเรียกมันว่าสภาวะลื่นไหล อธิบายง่ายๆ ด้วยการลองนึกภาพตามว่ามันเหมือนการวาดเส้นกราฟ โดยให้แกนนอนแทนระดับทักษะฝีมือ แกนตั้งแทนระดับความท้าทาย เส้นทางชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และการทำงานตั้งแต่เรียนจบจนวันเกษียณ เราต่างก็ดำเนินไปบนระนาบของกราฟนี้ ในแต่ละช่วงชีวิต เราจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาท้าทาย ด้วยตัวตนของเราที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัยและเวลา จุดตัดกันของตัวตนเราและสิ่งเหล่านั้นที่เข้ามา จะให้ประสบการณ์และเกิดเป็นความหมายที่แตกต่างกันไป การทำอะไรซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัยหรือทักษะ มักจะนำไปสู่ความเบื่อหน่าย ส่วนการทำอะไรยุ่งยากเกินความสามารถ ก็นำไปสู่ความตึงเครียด สิ่งที่ใกล้เคียงกับ Flow คือความเพลิดเพลิน เหมือนกับตอนที่เราขับรถระยะทางไกลๆ เปิดเพลงคลอไปเรื่อยๆ แล้วก็รู้สึกดื่มด่ำล้ำลึกไปกับบรรยากาศ ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ตรงข้ามกันกับ Flow คือความเฉื่อยชา เหมือนกับตอนเราก้มหน้าสไลด์หน้าจอมือถือไปเรื่อยๆ หรือนอนอืดอยู่หน้าจอทีวี นั่นไม่ใช่ความสุขที่แท้ เพราะมันไม่มีความท้าทายใดๆ มีแค่หายใจทิ้งขว้างไปโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ Flow คือเส้นทแยง 45 องศา เลี้ยงสมดุลระหว่างความยากและง่าย ความตึงเครียดและความผ่อนคลาย มันคือการดำเนินชีวิตประจำวันโดยไม่เพลิดเพลินเกินไปและไม่เฉื่อยชาเกินไป จนกลายเป็นทิศทางและจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเราเอง ชีวิตและการงานไม่ใช่เพียงเพื่อความสุขความสำเร็จ หลายคนถามหางานที่ตนเองรัก คำคมสอนว่าต้องหางานที่ทำแล้วเหมือนไม่ได้ทำงาน ทั้งที่จริงแล้วงานคือการมุ่งไปบนเส้นทางของการค้นหาความท้าทายใหม่ๆ ในระดับที่เหมาะสมกับความสามารถที่เพิ่มขึ้นไป ทำงานที่ยากขึ้นเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ดังนั้น ผมว่าเราต้องลองมองหาอะไรที่ทำแล้วให้ความรู้สึกดื่มด่ำล้ำลึก จดจ่อจนไม่สนใจอะไรอย่างอื่น ไม่วิตกกังวลต่ออนาคตและไม่เสียใจกับอดีต ไม่ใช่เงินทองหรือชื่อเสียง ไม่ใช่ความสุข ความสำเร็จ แต่คือประสบการณ์และความหมายใดๆ ก็ตามที่เรามอบให้กับตัวเอง นี่คือสิ่งที่ผมค้นพบจากการทำงานเขียนหนังสือ การพบปะสนทนากับผู้คน การพยายามเผชิญหน้ากับประสบการณ์ใหม่ การขับรถทางไกล การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ การอดทนใช้ชีวิตที่น่าเบื่อหน่ายนี้ และเรียนรู้ที่จะค้นหาความหมายของมัน ผมเขียนข้อความสั้นๆ ว่า “เติบโตไปในทิศทางและจังหวะเวลาของเราเอง” ลงไปบนหน้าแรกของหนังสือเล่มใหม่ เมื่อมีผู้อ่านนำมาขอลายเซ็น และอยากให้ทุกคนได้เข้าใจความหมายของมัน