เกม

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | เมื่อทั้งชีวิตถูกทำให้กลายเป็นเกม และด่านสุดท้ายคือการฆ่าตัวตายถ่ายทอดสด

เป็นอีกเช้าที่ตื่นขึ้นมาพร้อมกับกิจวัตรแย่ๆ คือหยิบโทรศัพท์จากหัวเตียงขึ้นมาเปิดดูเฟซบุ๊กเป็นสิ่งแรก เจอสเตตัสของเพื่อนคนหนึ่งบอกเล่าถึงความว้าวุ่นใจในเรื่องชีวิตและการงาน เลื่อนลงมาเจอเพื่อนอีกคนถ่ายเซลฟีตัวเองกับรถยนต์หรูหรา… เพื่อนอีกคนถ่ายเซลฟีในต่างประเทศ… เพื่อนอีกคนกำลังเริ่มงานใหม่ที่เงินเดือนสูงกว่าเดิม… เพื่อนอีกคนมีลูกเรียนเก่งได้รับรางวัล… เพื่อนอีกคนโพสต์ด่าเพื่อนอีกคนแบบลอยๆ ว่าไร้มารยาทในการแสดงความเห็นในโพสต์ที่แล้ว… เพื่อนอีกคนโพสต์ด่านักการเมืองในข่าวว่าเสแสร้งแสดงตนเป็นคนดี… และเพื่อนอีกคนโพสต์บ่นว่ากำลังสิ้นหวัง อยากจะฆ่าตัวตาย…

     ชีวิตประจำวันดำเนินไปด้วยความรู้สึกว้าวุ่นใจ ว่าทำไมจึงมีผู้คนรอบตัวเยอะแยะไปหมด หลายชั่วโมงในแต่ละวันหมดไปกับการเลื่อนหน้าจอขึ้นลง แวะพักเพื่อกดไลก์บ้าง คอมเมนต์บ้าง จนรู้สึกเหนื่อยล้าหมดเรี่ยวแรง วิ่งตามใครเขาไม่ทัน วุ่นวายเร่งรีบ เรื่องนั้นก็ยังไม่รู้ เรื่องนี้ก็ยังไม่เข้าใจ พอกำลังจะวิ่งทันเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนอีกคนก็วิ่งแซงไปอีกทาง

     ข้อมูลข่าวสารถักทอเข้าด้วยกันกลายเป็นร่างแห เมื่อมีจำนวนมากขึ้นไปเรื่อยๆ ร่างแหก็จะมีตาถี่มากขึ้น จนกลายเป็นผืนผ้าเนื้่อเนียนเรียบไร้รอยต่อ ห่มคลุมลงมาทาบทับบนชีวิตประจำวันของเรา ผ่านทางการใช้งานโซเชียลมีเดียชนิดต่างๆ กลายเป็นโลกที่มีเลเยอร์หลายชั้น มีตัวตนหลายตัว มีพื้นที่และเวลาหลายมิติ ซ้อนทับและดำเนินไปพร้อมกันตลอดเวลา

 

     ทั้งชีวิตของพวกเรากลายเป็นเหมือนดั่งเกม ในยุคสมัยที่ทุกมิติในชีวิตประจำวันของเราถูกแปลงเป็นข้อมูลข่าวสาร มันถูกบันทึก จัดเก็บ ประมวล ประเมิน และนำเสนอตีแผ่ออกมาให้เห็นเปรียบเทียบกันในโซเชียลมีเดีย สถานการณ์แบบนี้บีบให้เราทุกคนต้องแข่งขันกันเองในทางใดทางหนึ่ง ผ่านการใช้ชีวิตทุกอย่าง การทำงาน ชื่อเสียง เงินทอง รูปร่างหน้าตา สุขภาพ อาหารการกิน ช้อปปิ้ง ครอบครัว ความสุข ความทุกข์ ฯลฯ

     เราแข่งขันกันแชร์ข้อมูลข่าวสารกันในเฟซบุ๊ก ว่าเราทำงานกันมากี่ปี มีผลงานอะไรบ้าง ความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน มีเงินมากน้อยแค่ไหน กินข้าวหรูหราแค่ไหน ขับรถราคาแพงแค่ไหน ไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยแค่ไหน แล้วแปรมันออกมาเป็นตัวเลขที่ระบุมูลค่าในเชิงปริมาณได้ชัดเจน คือจำนวนไลก์ จำนวนวิว จำนวนคอมเมนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใครทำงานในองค์กรสื่อออนไลน์ ผลงานของเขาก็ต้องถูกประเมินด้วยจำนวนออร์แกนิกรีช

     โซเชียลมีเดียแปลงชีวิตของเราให้กลายเป็นเกมง่ายๆ มีกฎกติกาโง่ๆ แค่ว่าใครได้รับการปฏิสัมพันธ์ด้วยมากกว่าชนะ แล้วเราก็มานั่งสไลด์หน้าจอง่อยๆ กันทุกเช้า ลากต่อกันไปตลอดทั้งวัน จนกระทั่งเข้านอน แอพพลิเคชันอื่นๆ ที่เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จอย่างสูง ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มักจะมีลักษณะร่วมกันประการหนึ่ง คือการสร้างสภาพการใช้งานให้ควบคู่ไปกับการเล่นเกม หรือ Gamiffiication มีการให้ถ้วยหรือโทรฟี มีการจัดอันดับผู้ใช้งานในรูปแบบต่างๆ เปิดเผยสถิติ จับคู่ เปรียบเทียบ อวดโอ่ โชว์ผลงาน ฯลฯ

 

     โปเกมอนโกก็เป็นอีกตัวอย่างของแอพฯ ที่ประสบความสำเร็จด้วยวิธีการ Gamiffiication โลกแห่งความจริงถูกซ้อนทับลงมาด้วยโลกของโปเกมอน โครงเรื่องเล่าเกี่ยวกับการออกเดินทาง แสวงหา และสะสม นอกจากนี้ยังมีแอพฯ รีวิวโรงแรม รีวิวร้านอาหาร รีวิวหนังสือ และเรามีแอพฯ ที่ให้เราแข่งกันวิ่งมาราธอน แข่งกันถ่ายรูป แข่งกันถ่ายวิดีโอ แข่งกันเขียนสเตตัส แข่งกันเปิดเผยเรื่องส่วนตัว ฯลฯ

     เราเสพติดเกมพวกนี้ เพราะว่าสารเคมีแห่งความสุขในสมองจะหลั่งออกมาเมื่อมันให้รางวัลตอบแทนแบบทันทีทันใด เหมือนกับเมื่อก่อนตอนเราเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เช่น เมื่อเราเห็นแท่งสี่เหลี่ยมหล่นมาลงล็อกพอดี แต้มดับเบิลเพิ่มเป็นสองเท่า หรือเมื่อเรายิงนกไปที่หมูแล้วบ้านถล่มลงมาราบคาบ ทุกวันนี้ สารเคมีแห่งความสุขหลั่งออกมาเมื่อเราได้ระยะทางการวิ่งที่ไกลกว่าเพื่อน หรือเมื่อเราแสวงหาและสะสมไลก์ได้มากขึ้น รีชมากขึ้น คอมเมนต์มากขึ้น

     ชีวิตที่กลายเป็นเกมแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดแล้ว เราจะหลงลืมตัวตนจริงๆ ไปเลยว่า ความต้องการที่แท้จริงของตัวเราเองคืออะไร ชีวิตจริงๆ ของเราคือใคร ทั้งชีวิตกลายเป็นการแข่งขัน การเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่น เราอยากวิ่งเพื่อไต่อันดับในแอพฯ หรือว่าเราอยากวิ่งจริงๆ เราอยากกินกาแฟที่ร้านเปิดใหม่เพื่อถ่ายภาพลงอินสตาแกรม หรือว่าเราอยากกินจริงๆ

 

     เทรนด์ของ Gamiffiication ดำเนินต่อเนื่องมา พวกเราได้ออกเดินทางไปตามเส้นทางของด่านต่างๆ ด่านแล้วด่านเล่า ผมคิดว่าจุดสุดยอดของเกมนี้ ในด่านสุดท้ายแล้วก็คือการฆ่าตัวตายจริงๆ เพื่อจะชนะในเกมแห่งการเรียกร้องความสนใจ จุดมุ่งหมายของ Gamiffiication ได้กลายมาเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตจริงอย่างสมบูรณ์แบบ

     เกมคอมพิวเตอร์แบบเดิมนั้นเรายังพอมองออกว่าเป็นแค่เกม แต่ Gamiffiication ในโซเชียลมีเดียที่เราเล่นกันทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา เป็นสิ่งที่ลวงตาเราจนมองออกไปจากเกมนี้ไม่ได้ ทุกอย่างเป็นจริงเป็นจัง คู่แข่งมากมายที่เราต้องเอาชนะ มีจุดหมายอีกแสนไกลที่เราจะต้องเดินทาง แสวงหา และสะสม

     จึงแน่นอนว่าเราจะต้องว้าวุ่นใจกับจำนวนเพื่อนและจำนวนข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาล ที่ทำให้เกิดความรู้สึกลึกๆ ตลอดเวลาว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่เร็วพอ ไม่เก่งพอ กลายเป็นผู้แพ้ในโลกยุคดิจิตอล มันง่ายมากในโลกยุคนี้ที่เราจะกลายเป็นผู้แพ้ แค่เผลอนอนหลับไปไม่กี่ชั่วโมง ตื่นขึ้นมาเห็นเพื่อนโพสต์สเตตัสคมๆ ฉลาดๆ เกี่ยวกับกระแสข่าวล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อคืนแล้วได้ไลก์และคอมเมนต์ไปมากมาย โดยที่ตัวเองไม่มีอะไรจะมาโพสต์แข่ง… แค่นี้ก็แพ้แล้ว

     สำหรับคนที่ไม่เข้าใจชีวิต และไม่มองโลกตามความจริงของมัน ว่าแท้ที่จริงแล้วนี่มันแค่ Gamiffiication แบบหนึ่ง

 

     เด็กรุ่นใหม่คิดว่าเพื่อนคนอื่นดูเก่งไปหมด รอบรู้ไปหมด ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยๆ กันหมด เหลือพวกเขาที่กำลังเรียนจบและต้องเริ่มต้นชีวิตทำงาน โดยไม่รู้ว่าจะโตไปเป็นอะไร นอกจากการเปิดอ่านเฟซบุ๊กทั้งวัน เพจโน้นเพจนี้ สำนักข่าวออนไลน์ นักคิด นักเขียน อินฟลูเอนเซอร์ เซเลบริตี้ เน็ตไอดอล ฯลฯ โดยคิดว่าข้อมูลข่าวสารมากมายในนั้นจะช่วยให้เขาเก่งขึ้นแบบนั้นบ้าง

     ผมเองก็เลิกตามอ่านโพสต์เร็วๆ เยอะๆ พวกนั้นมานานแล้ว เพราะรู้แล้วว่ามันยิ่งทำให้เราว้าวุ่น วันทั้งวันหมดไปกับการวิ่งไล่ตามรู้เรื่องราวโน่นนี่ ที่เพียงแค่อีกวันผ่านไป มันก็ถูกลืมเลือนไม่มีใครพูดถึงอีก วิธีเดียวที่เราจะหยุดความว้าวุ่นใจ ในโลกที่น่าวิงเวียนเช่นทุกวันนี้ คือการที่เราเริ่มต้นลงมือทำงานอะไรสักอย่าง ทุ่มเทอย่างจริงจัง เพราะว่าจุดหมายที่แท้จริงของเราอยู่ที่โลกข้างนอกนั่น ไม่ใช่ในเกม

     และเรามีชีวิตจริงๆ อยู่ข้างนอกนั่น เรานั่งรถเมล์ เรากินข้าวข้างถนน และเราทำงานที่เราเองมองเห็นคุณค่าในตัวมันเอง ด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องไปแข่งกับใคร เพราะชีวิตเราไม่ใช่เกม

 


*หมายเหตุ – เรียบเรียงจากบล็อกส่วนตัวเมื่อปี 2016