ตลาดล่าง

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | ตลาดล่าง

ข่าวอาชญากรรมที่ปรากฏให้เห็นกันมากขึ้นในแต่ละวัน ทำให้ชนชั้นกลางตื่นตระหนกและฉุกคิดได้ว่าโลกภายนอกนั้นกำลังโกลาหลวุ่นวาย อีกไม่นานมันคงจะถล่มลงมาใส่ครอบแก้วแห่งความหรูหราสะดวกสบาย ทะลวงผ่านเขตแดนรั้วแห่งความปลอดภัยของเราเข้ามา

     ข้างนอกนั่น ที่ซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากการรับรู้และแวดวงของเรา มีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเราไม่ตระหนักถึงการดำรงอยู่ของพวกเขามาก่อน มีวิถีชีวิตและชุดความคิดที่แตกต่างไปจากเราราวฟ้ากับดิน เหมือนอยู่กันคนละโลก เรามักจะใช้คำเหมารวมเรียกพวกเขาอย่างดูถูกดูแคลนว่า พวกตลาดล่าง

     ในแต่ละวันๆ ฟีดส์ในโซเชียลมีเดียของเราจึงดูเขย่าขวัญมากขึ้นๆ เพราะมันนำข่าวสารทุกอย่างมากางแผ่ในระนาบเดียวกัน เราจะเห็นภาพชีวิตหรูหราเต็มไปด้วยความสุขความสำเร็จของวงเพื่อนที่เราฝันอยากมีอยากเป็น และกำลังทะเยอทะยานทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา วางเคียงอยู่ในระนาบเดียวกับข่าวอาชญากรรมที่รุนแรงและไร้เหตุผลอย่างไม่น่าเชื่อ

     อย่างล่าสุดคือข่าวเด็กวัยรุ่นแทงกันตายแบบหน้าตาเฉยบนรถประจำทาง และแก๊งอันธพาลยกพวกไปข่มขู่คุกคามและทำลายความปกติสุขในโรงเรียนมัธยม ข่าวพวกนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังเขย่าขวัญอย่างเรื่อง Deliverance (1972) ของ จอห์น บัวร์แมน เกี่ยวกับกลุ่มคนหนุ่มออกเดินทางท่องเที่ยวผจญภัยล่องแก่ง แล้วไปเจอแก๊งอันธพาลชาวบ้านในท้องถิ่นรุมทำร้าย หรือเรื่อง Straw Dog (1971) ของ แซม เพกคินพาห์ เกี่ยวกับครอบครัวชนชั้นกลางจากเมืองใหญ่ย้ายบ้านไปอยู่ชนบท แล้วโดนอันธพาลเจ้าถิ่นข่มขู่คุกคาม

     มันเป็นความรุนแรงอีกระดับที่เพิ่งปรากฏขึ้นมา ซึ่งชนชั้นกลางปกติทั่วไปอย่างเราไม่มีวันเข้าใจ ได้แต่สงสัยว่าคนเหล่านี้มาจากไหน คำตอบคือจริงๆ แล้วพวกเขาอยู่รอบตัวเรามาตลอด เพียงแต่เราไม่เคยสนหรือใส่ใจ และเราก็ถามกันว่าความรุนแรงโดยไร้เหตุผลเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบอาจจะมีหลากหลาย อาจจะมาจากความชั่วร้ายในตัวเขาเอง หรือมาจากการเลี้ยงดูสั่งสอนจากครอบครัว หรือมาจากปัญหาระดับโครงสร้างของสังคม

 

     เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ตั้งแต่ผมยังเรียนอยู่ชั้นประถม ที่บ้านตึกแถวเปิดเป็นร้านขายของชำ มีพ่อค้าก๋วยเตี๋ยวเนื้อมาขอเปิดร้านแผงลอยอยู่ที่หน้าบ้าน ทุกวันตอนเย็นเขาขนข้าวของมาเปิดร้าน มีลูกชายอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับผมมาช่วยเป็นลูกมือ ผมเรียนอยู่โรงเรียนวัดฝรั่ง เขาเรียนอยู่โรงเรียนวัดไทยที่อยู่ใกล้ๆ กัน เรายังได้นั่งคุยเล่นกันทุกวัน กว่าพ่อแม่ของเราจะเก็บร้านในตอนมืดค่ำ

     หลายปีผ่านไป บ้านผมขายกิจการและโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ร้านก๋วยเตี๋ยวแผงลอยนั้นก็เจ๊งไป หรือย้ายไปเปิดที่อื่นก็จำได้ไม่แน่ชัด จำได้เพียงแค่ตอนเย็นวันหนึ่ง ผมกลับจากโรงเรียนกวดวิชา ตอนนั้นกำลังใกล้การสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ผมเดินผ่านวินมอเตอร์ไซค์แถวบ้านเก่า ก็เห็นเพื่อนเก่าคนนี้สวมเสื้อวิน นั่งสูบบุหรี่รอผู้โดยสารอยู่ตรงนั้น

     ผมจำเขาได้ แต่ก็ไม่ได้ทักทายเขา เพราะคิดว่าเขาอาจจะอาย หรือเขาอาจจะจำผมไม่ได้แล้ว จึงได้แต่เดินผ่านไปเหมือนไม่มีใครนั่งอยู่ตรงนั้น

     สังคมแบบไหนกัน ที่เวลาเพียงแค่สามสี่ปีผ่านไป แล้วทำให้เด็กวัยรุ่นสองคนมีชีวิตแตกต่างและมีช่องว่างห่างจากกันได้ขนาดนั้น คนหนึ่งกำลังมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับสูงขึ้นไป อีกคนหนึ่งถูกทิ้งไว้อยู่ที่เดิมตรงนั้น ที่พ่อแม่เขาเคยเปิดร้านแผงลอย นั่งสูบบุหรี่รองานที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ มันไม่ใช่ว่าเพราะผมเรียนเก่งกว่าเขา และมันไม่ใช่ว่าพ่อแม่ผมร่ำรวยกว่าพ่อแม่เขา แต่มันมีปัจจัยทางสังคมอีกมากมายเข้ามากำหนด

     หลายอาทิตย์ก่อนผมได้ไปสัมภาษณ์ ‘ป้ามล’ – ทิชา ณ นคร เธอบอกว่าสังคมไทยเราก้าวหน้าไป เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นไป โดยได้ทอดทิ้งผู้คนไว้มากมายอยู่เบื้องหลัง ผมนึกเพื่อนเก่าคนนี้ขึ้นมา และผมนึกถึงข่าวอาชญากรรมมากมาย รวมถึงถ้อยคำด่าทอจากคนชนชั้นกลางที่ดูถูกดูแคลนกลุ่มคนที่เราเรียกเขาว่า ตลาดล่าง

 

     ช่วงยุค 2530 ตอนผมยังเป็นเด็กๆ จำได้ว่าเศรษฐกิจเติบโตแบบพรวดพราด ภาคอุตสาหกรรมและตลาดเงินตลาดทุนของเรารุดหน้า เราเคยคิดว่าจะได้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ได้เป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย นั่นเป็นยุคสมัยที่เราทุกคนหลงลืมเพื่อนของเราไปจริงๆ เพราะทุกคนจะต้องต่อสู้ดิ้นรนและแก่งแย่งแข่งขัน พาตัวเองให้รอด ให้ร่ำรวย  และประสบความสำเร็จ

     จำได้ว่าเด็กรุ่นผมพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อจะได้จบออกไปทำงานบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับท็อปทรีท็อปโฟร์ มีตำแหน่งสูงๆ ได้โบนัสเยอะเป็นสิบๆ เดือน สมัยนั้นไม่มีใครพูดถึงโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ การทำงานเพื่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เรายังไม่ค่อยได้ยินคำว่าซีเอสอาร์จากฝ่ายพีอาร์ของบริษัทใหญ่ๆ เลยด้วยซ้ำ ถึงแม้สมัยนั้นเราจะฮิตฟังเพลงเพื่อชีวิต บอกเล่าเรื่องราวชีวิตคนยากคนจน แต่ในที่สุดเราก็รู้แล้วทั้งคนฟังและคนร้องเพลงพวกนั้น ต่างก็หมายถึงเพื่อชีวิตกู

     ผมคิดว่าช่วงยุค 2530 ได้สร้างประชากรกลุ่มใหญ่ขึ้นมา ซึ่งทุกวันนี้กลายมาเป็นวัยกลางคนที่มีความแตกต่างและเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นชนชั้นกลางที่ทะเยอทะยาน มองแบบเหมารวมก็พบเห็นได้ในศูนย์การค้าชานเมืองในวันเสาร์อาทิตย์ ที่ขับรถคันใหญ่ๆ พาลูกไปวิ่งเล่นและเรียนพิเศษ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ซึ่งถูกเรียกว่าตลาดล่าง ในวัยเด็กเราอาจจะพบเจอเขา แต่เราหลบลี้และทอดทิ้งเขาไว้เบื้องหลัง และในที่สุดแล้ว ลูกหลานของทั้งสองกลุ่มนี้ก็ต้องมาอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน

     หลายปีก่อนในรายการ เจาะใจ มี ‘ครูหยุย’ – วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ ไปออกรายการ พิธีกรถามว่าทำไมคนทั่วไปต้องยื่นมือเข้าไปแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน คำตอบของครูหยุยที่ผมยังจดจำได้ขึ้นใจ เขาบอกว่า ถึงแม้ว่าเด็กเหล่านั้นไม่ใช่ลูกหลานของเราเอง แต่ในที่สุดพวกเขาก็ต้องเติบโตขึ้นมาอยู่ร่วมสังคมเดียวกับลูกหลานของเราอยู่ดี ถ้าเราไม่ร่วมกันดูแลทั้งสังคมให้ดีและก้าวไปพร้อมกัน ในที่สุดปัญหาก็จะย้อนกลับมาถึงตัวเรา หรือไม่ก็ลูกหลานของเรา 

     การที่เราสามารถใช้ชีวิตหรูหราสะดวกสบาย ไม่ได้รับประกันอะไรเลยว่า รุ่นลูกของเราจะได้เป็นแบบเดียวกัน ถ้าตราบใดยังมีเพื่อนของเราบางคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สักวันข้างหน้า ลูกๆ ของพวกเขาก็จะเติบโตมาพร้อมกับลูกของเรา และไม่เร็วก็ช้า พวกเขาจะมาปะทะกัน ไม่มีใครมีความสุขไปได้ตลอดในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันแบบนี้

     สัปดาห์ที่แล้ว ผมไปสัมภาษณ์นักการเมืองคนหนึ่ง ในฐานะแคนดิเดตสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตอนท้ายๆ ของการพูดคุย ผมบ่นกับเขาว่ารู้สึกสิ้นหวังกับสังคมไทยอย่างมาก ตอนนี้มันเต็มไปด้วยปัญหาในทุกองคาพยพ ผู้คนใช้ความรุนแรง และสังคมมีแต่ความโกลาหล เขาหัวเราะและบอกว่าคุณอย่าเพิ่งสิ้นหวัง

     ผมถามเขาว่า พวกผู้ใหญ่อย่างเราๆ ได้ทำอะไรผิดพลาดไว้ จึงได้ส่งต่อสังคมแย่ๆ แบบนี้มาให้คนรุ่นปัจจุบัน
เขาครุ่นคิดอยู่นาน เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง …คงเป็นเพราะคนรุ่นเราเห็นแก่ตัวเกินไปใช่ไหม เราแค่ดิ้นรนเอาตัวรอดให้ได้ โดยไม่ได้สนใจปัญหาส่วนรวม

     ผมบอกเขาว่าตอนนี้มันคงยังไม่สายเกินไปที่เราจะเริ่มต้นทำอะไรเพื่อสังคมส่วนรวม มากกว่าการด่าทอ ประณาม สาปแช่งคนร้ายที่เห็นในข่าวอาชญากรรมรายวัน และการดูถูกคนอื่นว่าเป็นตลาดล่าง