ความผิดหวังซ้ำซากที่อาจชี้ให้เห็นว่า เหตุใดบางคนถึงสยบยอมต่อเผด็จการได้ง่ายดาย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมเราได้ไปพบปะพูดคุยกับนักการเมืองจากหลายพรรค เพื่อเตรียมทำ a day BULLETIN ฉบับพิเศษ รวบรวมเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้

     ประเด็นหนึ่งซึ่งพรรคการเมืองส่วนใหญ่พูดตรงกันก็คือ รู้สึกเป็นห่วงคะแนนเสียงของตัวเองที่มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงช่วงวัยเริ่มต้นทำงาน โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกลุ่มคนที่เพิ่งมีโอกาสได้ใช้สิทธิลงคะแนนเป็นครั้งแรกในชีวิต หลังจากที่สังคมไทยผ่านช่วงวิกฤตการเมือง การปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้ง จนต้องตกอยู่ในระบอบเผด็จการทหารมายาวนาน

     ผมเองรู้สึกว่าไม่ใช่เฉพาะกับคนรุ่นใหม่หรอก แต่มันอาจจะเป็นความรู้สึกโดยรวมของสังคมเราหรือเปล่า? โดยส่วนตัวผมเองยังรู้สึกเฉื่อยชาลงเรื่อยๆ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราพบเจอกับข่าวคราวแย่ๆ และสถานการณ์เลวร้ายมากมาย มองไปทางไหนก็รู้สึกว่ามีแต่ปัญหา ซึ่งดูเหมือนว่าจะต้องดำรงอยู่แบบนี้ตลอดไป ไม่มีทางที่เราจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้

     ซึ่งถ้าได้มาทบทวนความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังภายในใจของตัวเองให้ดีๆ จะพบว่ามันมาจากกระบวนการคิดที่ซับซ้อนภายในใจของเรา

 

     มีแนวคิดที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์แบบนี้ ว่า Learned Helplessness หรือความสิ้นหวังอันเนื่องมาจากการเรียนรู้ ในทศวรรษ 60 มีนักจิตวิทยา ชื่อว่า ดร. มาติน ซาลิกแมน ทำการทดลองที่ไม่ค่อยถูกจริยธรรมสักเท่าไร โดยนำหมาจำนวนหนึ่งมาฝึกเงื่อนไข เพื่อดูการเรียนรู้และหาวิธีแก้ปัญหาของมัน

     เริ่มต้นด้วยการแบ่งหมาออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเอามาใส่ปลอกคอไว้สักพักแล้วก็ปล่อยไปโดยไม่ได้ทำอะไร กลุ่มที่สองให้สวมปลอกคอที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าใส่ โดยมีปุ่มให้มันหัดกดเพื่อเรียนรู้ที่จะหยุดกระแสไฟด้วยตัวมันเอง และกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่สวมปลอกคอแล้วปล่อยกระแสไฟใส่แบบสุ่ม มันทำอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีปุ่มอะไรให้กด แกะปลอกคอออกก็ไม่ได้ ต้องยอมทนรับกระแสไฟไปแบบนั้น

     หลังจากนั้นเขาเอาหมาทั้งสามกลุ่มนี้มาทดลองต่อ โดยจับมันใส่กรงที่แบ่งออกเป็นสองฟาก มีแผงกั้นตรงกลางไว้เพียงเตี้ยๆ พอที่พวกมันกระโดดข้ามไปได้ พื้นของกรงฟากหนึ่งสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าช็อตได้ ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นส่วนที่ปลอดภัย เมื่อนำหมาทั้งสามกลุ่มที่ได้ผ่านการทดลองขั้นแรกมาใส่กรงนี้ แล้วก็พบปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจ

     หมากลุ่มที่หนึ่งและสอง เมื่อโดนพื้นกรงช็อตไฟฟ้าใส่ พวกมันจะกระโดดหนีไปยังฟากที่ปลอดภัยในทันที แต่หมากลุ่มที่สามกลับนอนแน่นิ่งอยู่เหมือนเดิม ยอมรับกระแสไฟฟ้าไปเรื่อยๆ แบบนั้น แม้ว่ามันจะเห็นแผงกั้นเพียงเตี้ยๆ อยู่ตรงหน้า

     อย่างน้อยที่สุด การทดลองที่แสนโหดร้ายนี้ก็มีประโยชน์ ตรงที่มันเผยให้เห็นแนวคิดที่น่าสนใจ เรื่องความสิ้นหวังอันเนื่องมาจากที่การเรียนรู้สามารถนำมาใช้อธิบายกระบวนการคิดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย รวมถึงคนเราด้วย ที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและวิวัฒนาการต่อไป

 

     เงื่อนไขสำคัญต่อความหวังของเรามาจากประสบการณ์ในอดีตที่เรียนรู้มาว่า ตนเองมีความสามารถมากแค่ไหน และสามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเองมากแค่ไหน ถ้าถึงแม้เรามีความรู้ความสามารถมากมาย แต่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับสถานการณ์เลวร้ายเรื้อรังยาวนาน โดยที่ตัวเองไม่สามารถแก้ไขหรือทำอะไรกับมันได้เลย ในที่สุด เราก็จะค่อยๆ เรียนรู้ว่าชีวิตนี้สิ้นหวังขึ้นมา

     คนที่สิ้นหวังจากการเรียนรู้ จะมีอาการเฉื่อยชาลงเรื่อยๆ ไม่ดิ้นรนต่อสู้ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วเขาสามารถเอาชนะได้ก็ตาม ยอมปล่อยชีวิตไปตามเงื่อนไขภายนอกกำหนด เหมือนเป็นเสือหรือสิงโตในคณะละครสัตว์ ที่แข็งแกร่งและมีเขี้ยวเล็บแหลมคม แต่กลับไม่ตระหนักถึงศักยภาพของตัวเองแต่อย่างใด

     แล้วในที่สุดเมื่อคนสิ้นหวังจำนวนมาก เติบโตขึ้นมาพร้อมกัน เคลื่อนกันเป็นลูกคลื่นเจเนอเรชัน มากองอยู่รวมกันเป็นสังคมใหญ่ที่มีอำนาจกดเราเอาไว้จนโงหัวไม่ขึ้น ทั้งสังคมก็จะสิ้นหวังโดยรวม

 

     ถ้านับย้อนไปตลอดทศวรรษ จะพบว่าไม่ใช่เพียงแค่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนแก่ๆ อย่างผมเอง ก็ผ่านช่วงประวัติศาสตร์ทางสังคมและการเมืองที่ย่ำแย่มาตลอด การรัฐประหารที่สูญเปล่าครั้งแล้วครั้งเล่า และถึงแม้จะมาถึงยุคสมัยที่พวกเราดีอกดีใจ ที่ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ คิดไปว่ามันจะช่วยปลดปล่อยตัวเองให้มีเสรีภาพ ล้มล้างระบอบเผด็จการ สร้างสังคมที่ดีกลับคืนมาอีกครั้ง แต่ในที่สุดมันก็ไม่ได้นำไปสู่อะไรอยู่ดี นอกจากอคติภายในใจตัวเอง และความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็ดูเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก

     วงจรอุบาทว์ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมมาอย่างยาวนาน ทำให้สังคมไทยมีการเลื่อนชั้นหรือเปลี่ยนฐานะทางสังคมได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำขยายกว้างมากขึ้น คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน และเงื่อนไขที่สร้างความสิ้นหวังให้เรามากที่สุดก็คือการเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า ไม่ว่าเราจะพยายามทำอะไรก็ตาม มันจะไม่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย และนี่คือความสำเร็จอย่างงดงามของเผด็จการ ความรู้สึกที่ฝังรากลึกและติดค้างอยู่ในใจเรา

     ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ผมได้พบปะและร่วมงานกับคนรุ่นใหม่จำนวนมาก และได้สังเกตเห็นความคิดอ่านบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งน่าสะท้อนให้เห็นความแตกต่างในสังคมและยุคสมัย

     คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย กล้ากระโดดหนีออกจากกรงที่มีกระแสไฟฟ้าคอยช็อตพวกเขาอย่างไม่มีเหตุผล แนวคิดเสรีภาพกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง มีการตั้งคำถามที่ท้าทายโครงสร้างสังคมแบบเก่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีหลายคนบอกว่าถ้าสังคมไทยเป็นแบบนี้ต่อไป พวกเขาวางแผนไปเรียนต่อเมืองนอก แล้วก็หางานทำและอยู่ที่โน่นไปเลยยาวๆ

     การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้ามันไม่ใช่ทางออก ถ้าระบอบอำนาจนิยมยังดำรงอยู่ต่อไป หรือจะยิ่งหนักหน่วงกดทับเสรีภาพเรามากขึ้นไปอีก ผมคิดว่าคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ฉลาดและกล้าหาญกว่าเราเยอะ พวกเขามีทางออกและมีโอกาสอื่นๆ ในชีวิตอีกมากมาย

     ในขณะที่สุดท้ายก็เหลือแต่คนแก่ๆ ที่เป็นเหมือนกับหมากลุ่มที่สาม ถูกช็อตไฟฟ้าไปแบบสุ่มๆ ไร้เหตุผล และก็ไม่ยอมทำอะไรนอกจากก้มหน้ารับชะตากรรมไป จนในที่สุดก็นอนนิ่งๆ อย่างสิ้นหวัง ซึ่งหมายรวมถึงพวกที่ยังจ่อมจมอยู่กับอคติภายในใจ และปักหลักอยู่กับกระบวนการคิดที่มีปัญหาของตัวเองไปอย่างนั้น