การเดินทาง

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | ‘ไม่ต้องออกไปไหนไกล’ การเดินทางที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงตัวเรามากที่สุด

เมื่อหลายปีก่อน ผมไปสัมภาษณ์ ‘พี่จุ้ย’ – ศุ บุญเลี้ยง มีช่วงหนึ่งของการสนทนา เราคุยกันเรื่องการพัฒนาตัวเองและการหาแสวงหาแรงบันดาลใจจากการเดินทาง เพราะผมชอบที่เขาแต่งเพลงเกี่ยวกับทะเล ภูเขา และเขียนหนังสือยอดฮิตเกี่ยวกับการเดินทาง ผมคิดว่าเขาคงได้เรียนรู้อะไรเยอะมากจากการเดินทาง จึงถามไปว่า การเดินทางครั้งไหน ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อตัวเขาเองมากที่สุด 

เขาตอบว่า คือการเดินทางจากคณะนิเทศศาสตร์ไปที่คณะอักษรศาสตร์

     แล้วก็เล่าย้อนไปถึงสมัยเป็นนิสิต ที่เป็นคนประเภทเด็กหลังห้อง หรือไม่ก็โดดเรียนไปทำกิจกรรมเลย เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่น่าสนใจจริงๆ ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน และไม่ได้อยู่ในหลักสูตรที่กำหนดไว้ เขาจึงออกเดินทางไกลเพียงแค่ข้ามฝั่งถนนพญาไท ไปลงทะเบียนเรียนวิชาของคณะอักษรฯ กับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายคน ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เป็นวิชาที่นับหน่วยกิต อย่างวิชาการละครของ อาจารย์สุรพล วิรุฬห์รักษ์ อาจารย์ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง ฯลฯ

     คำตอบของพี่จุ้ยตลกดี ตอนแรกผมเดาว่ามันน่าจะเป็นการเที่ยวเล่นแบบหัวหกก้นขวิดประสาวัยรุ่น แบบในเพลง เที่ยวละไม หรือในหนังสือเรื่อง หนุ่มนักโบกกับสาวขี้บ่น หรือไม่ก็เป็นการออกเดินธุดงค์แสวงหาตัวตนแบบโรแมนติกบนเส้นทางอันไกลโพ้น นานเป็นแรมเดือนแรมปี เหมือนในหนังฮอลลีวูด อย่าง The Motorcycle Diaries (2004) หรือ The Secret Life of Walter Mitty (2013)

     คำตอบของเขาช่วยทำให้เราเข้าใจไปในอีกทางหนึ่งว่า การเดินทางและความเปลี่ยนแปลง บางทีมันไม่ได้ขึ้นกับระยะทางหรือระยะเวลา การเดินทางนั้นมีความหมายที่เป็นนามธรรมกว่า คือระยะทางและระยะเวลาระหว่างตัวเราในฐานะของผู้เรียน เพื่อไปให้ถึงใครสักคนที่เป็นกัลยาณมิตรหรือครู

 

     เมื่อสองเดือนที่แล้วผมไปสัมภาษณ์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักเขียนคนโปรด เราคุยกันเรื่อง Disruption และ Re-invention เขาบอกว่าเมื่อช่วงชีวิตดำเนินมาถึงจุดที่ตีบตัน เราจำเป็นต้องก้าวข้ามหรือกระโจนไปสู่อีกระดับขั้นหนึ่ง เราต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องมี ก็คือความรู้ใหม่

     ผมคิดว่าคุณสมบัติที่จำเป็นที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่ ในยุคสมัยศตวรรษที่ 21 ก็คือความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่งกับตัวตนเดิม ความรู้เดิม มีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องที่ชีวิตการทำงานหามาไม่ได้ เราก็ต้องกระหายและกระตือรือร้นที่จะไปหามาจากแหล่งอื่น

     ผมสังเกตว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา นอกจากการเดินทางท่องเที่ยวจะเป็นกิจกรรมที่ฮิตระเบิด ผมยังได้เห็นเพื่อนๆ รอบตัวที่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เข้าร่วมกิจกรรมในการแสวงหาความรู้มากมาย ในขณะที่ตัวผมเองก็เป็นเหมือนกัน ผมมีกิจวัตรในวันเสาร์-อาทิตย์ ในการไปเข้าร่วมวงเสวนา นั่งฟังสัมมนา และลงเรียนในคลาสเวิร์กช็อปต่างๆ ที่น่าสนใจ ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเป็นการหาความรู้แบบสุ่ม หรือ Random Knowledge เผื่อไว้ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

     อยากจะยกตัวอย่างคลาสหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตผม คือเมื่อสองสามปีก่อน ได้ไปลงเรียนวิชาเขียนบทละครเวทีกับคณะละครพระจันทร์เสี้ยว ครูสอนชื่อ อรดา ลีลานุช จำได้ว่าตอนจะไปลงทะเบียนเรียน พบว่ากำหนดวันเรียนนั้นชนกับกำหนดการเดินทางไปต่างประเทศร่วมกับทริปสื่อมวลชนพอดี ผมก็บ่นกับภรรยาว่าถ้าไปเรียนคอร์สนี้ก็จะอดไปเที่ยว เสียดายจัง จะเลือกไปทางไหนดี?

     เธอถามกลับมา เลือกทางไหนแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตมากกว่ากัน? พอเราเชื่อมโยงการตัดสินใจเข้ากับเรื่องความเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยากเลย

     ดังนั้น แทนที่จะออกเดินทางไกลหลายพันไมล์ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อเดินทางแสวงหาตัวตน ผมออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟฟ้าไปลงสถานีทองหล่อ แล้วเดินเท้าเข้าซอยไปอีกสิบนาที ก็ได้พบกับครู เพื่อนร่วมชั้นเรียน ความรู้ใหม่ และความเปลี่ยนแปลง

     มันเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมสามารถเขียนเรื่องแต่ง และสร้างตัวละครจากจินตนาการ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นนักเขียนอยู่แล้ว และทำงานในแวดวงสื่อมายี่สิบกว่าปี แต่ตลอดมาเขียนได้แต่สารคดีและบทความจากเรื่องจริง ไม่เคยเขียนเรื่องแต่งเลย ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน

     เมื่อเขียนบทละครเรื่องแรกของตัวเองออกมา และนำไปให้เพื่อนร่วมชั้นทดลองอ่าน ผมตื่นเต้นจนตัวชาตั้งแต่หัวจรดเท้า นับเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ น่าประหลาดใจ เปิดโลกทัศน์ และปลดล็อกสำนวนการเขียนครั้งสำคัญ

 

      ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน ตอนที่เรียนปริญญาโท คณะวารสารศาสตร์ ด้วยความที่ไม่มีพื้นฐานด้านทฤษฎีสังคมศาสตร์มามากนัก ตอนช่วงที่ต้องเริ่มทำวิทยานิพนธ์ จึงเป็นเรื่องยากเย็นที่จะทบทวนวรรณกรรมและหาระเบียบวิธีวิจัย ผมและเพื่อนๆ จึงแอบไปซิตอินในชั้นเรียนของคณะรัฐศาสตร์

     จำได้ว่าทุกเช้าวันเสาร์ ตั้งแต่เก้าโมงจนถึงเที่ยง พวกเราไปนั่งเรียนวิชาขอบเขตวิชารัฐศาสตร์ สอนโดย อาจารย์ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร มันเป็นวิชาที่เรียนสนุกอย่างน่าเหลือเชื่อ พวกเราแอบอยู่หลังห้อง แต่ก็ตั้งอกตั้งใจฟังการบรรยาย ไล่เรียงปรัชญามาตั้งแต่กรีกโบราณ ศาสนา เรื่อยมาจนถึงโมเดิร์นิสม์ มาร์กซิสม์ เอ็กซิสเตนเชียลิสม์ โพสต์โมเดิร์นิสม์ สิ่งที่ได้จากการเรียน ไม่ใช่เพียงแค่เอาไปใช้ทำวิทยานิพนธ์ แต่มันมีอิทธิพลในการทำงานเขียนหนังสือของผมตลอดมา

     ผมเคยแอบโดดงานตลอดทั้งอาทิตย์ สมัครเรียนในคอร์สผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ของ อาจารย์ประชา หุตานุวัตร เขาเชิญชาวเยอรมันชื่อ แมกซ์ และ เอลเลน ชูปัค มาสอนเรื่องประชาธิปไตยเชิงลึกกับการคลี่คลายความขัดแย้ง

     เก้าโมงเช้า เดินทางไปถึง สสส. ในซอยงามดูพลี เจอเพื่อนใหม่หลายสิบคนร่วมเรียนกันอย่างเพลิดเพลิน มีกิจกรรมให้แต่ละคนสวมบทบาทจำลองที่ขัดแย้งกัน แล้วมาถกเถียงกันเรื่องประเด็นทางสังคม หลังเลิกเรียนห้าโมงเย็น พวกเรายังนั่งคุยและอภิปรายถึงบทเรียนวันนั้นกันต่ออย่างออกรส จนมืดค่ำจึงค่อยแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน

     มันจึงไม่ใช่เรื่องราวของประสบการณ์เฉียดตายในระหว่างการเดินทางไกลโพ้น และไม่ใช่ช่วงเวลา Gap Year ที่ยาวนานเหมือนชั่วกัปกัลป์ในการหยุดพักและทบทวนตัวเอง วรรณกรรมเกี่ยวกับการเดินทางของคนหนุ่มสาว มักจะถูกทำให้โรแมนติกและกลายเป็นพิธีกรรมของการข้ามผ่านช่วงวัยหนึ่งๆ ทั้งที่จริงแล้วการก้าวข้าม เปลี่ยนแปลง หรือค้นหาตัวเอง ทำได้ในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย

 

     จนถึงวันนี้ก็ยังนึกไม่ออกว่าความรู้ที่ได้เรียนมาจากอาทิตย์นั้น ผมได้นำมาใช้ประโยชน์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ที่รู้สึกได้ชัดเจน คือความเพลิดเพลิน ความสุขที่ได้เจอความรู้ใหม่ เพื่อนใหม่ แล้วตัวตนภายในก็อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยๆ โดยที่เราจะทันสังเกตหรือไม่ทันสังเกตเลยก็ได้

     เพราะจุดประสงค์ของการเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์แบบเป็นรูปธรรม การศึกษากับการเรียนรู้นั้นแตกต่างกัน เราสามารถเรียนรู้ไปได้เรื่อยๆ แม้จะสำเร็จการศึกษามาแล้วก็ตาม เราเลือกเรียนรู้ได้ตามต้องการ ไม่มีคนอื่นมาบังคับ และเราก็ไม่ต้องบังคับตัวเอง เพียงแค่มีความสนใจใคร่รู้ผุดบังเกิดขึ้นมา และมีความสุขที่ได้เรียนรู้

     แล้วความเปลี่ยนแปลงจะบังเกิด เมื่อเราได้สะสมให้มากพอ และปล่อยให้มันตกตะกอนนานพอ

     เหมือนกับที่พี่จุ้ยในวันนี้ นึกย้อนกลับไปในวัยเด็ก แล้วบอกเล่าเรื่องราวว่าการเดินทางครั้งที่สำคัญที่สุด ก็คือการเดินจากคณะนิเทศฯ ไปคณะอักษรฯ 

     ชีวิตเราทุกคนออกเดินทางกันมายาวไกลและเนิ่นนาน เราเรียนจบกันมานานจนแทบจะจำบทเรียนในวิชามากมายเหล่านั้นไม่ได้แล้ว เริ่มต้นชีวิตการทำงาน ผ่านความยากลำบาก ความกดดัน ความผิดหวัง ล้มเหลว และความสำเร็จ มากบ้าง น้อยบ้าง

     เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการนั้น ไม่ได้ลอยมาหาเราเอง แต่เราต้องออกไปแสวงหา ออกไปเรียนรู้ พิธีกรรมเดินทางนั้นก็เป็นหนทางหนึ่ง การเรียนรู้ทั้งชีวิตก็เป็นอีกหนทางที่ทำได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือใครสักคนที่จะมาเป็นครู