ความตาย

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | อนันตกาลในวาระสุดท้าย

ความจริงแท้มีลักษณะอย่างไร? มันดำรงอยู่คงที่และดำเนินไปเป็นนิรันดร์ หรือว่ามันจำกัดตามการรับรู้ และสิ้นสุดลงพร้อมกับชีวิตของเรา

     นี่คือคำถามปรัชญาที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่อง The Fault in Our Stars เป็นเรื่องราวของเด็กสาวผู้กำลังนับถอยหลังชีวิตตัวเอง เนื่องจากโรคมะเร็งที่รุมเร้าเข้ามา ทำให้เธอต้องพยายามดิ้นรนค้นหาสัจธรรมให้กับตัวเอง

     ฉากสำคัญของเรื่องนี้มีอยู่ 2 ฉาก ฉากแรกนั้นไม่เกินความคาดเดา คือฉากที่เด็กสาวเดินทางไปพบนักเขียนคนโปรดของเธอ เพื่อถามถึงตอนจบที่แท้จริงของนิยายของเขา เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาวที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเช่นเดียวกับเธอ และมันจบลงอย่างห้วนๆ ไม่มีการบอกเล่าบทสรุปของตัวละครอื่นๆ หลังจากที่เธอตายไป

     นักเขียนปฏิเสธที่จะตอบ และปฏิเสธที่จะเขียนนิยายภาคต่อ เขาเพียงนั่งจิบเหล้าอย่างหงุดหงิด แล้วจู่ๆ ก็เอ่ยถึง Zeno’s Paradox (ปฏิทรรศน์ของซีโน) “ลองจินตนาการว่าคุณวิ่งแข่งกับเต่า โดยคุณต่อให้เต่าวิ่งนำหน้าไปก่อน 10 หลา ในเวลาที่คุณวิ่งตามไปให้ถึง 10 หลานั้น เต่าจะสามารถวิ่งต่อไปได้อีก 1 หลา และในเวลาที่คุณวิ่งตามต่อไปอีก 1 หลา เต่าจะยังคงสามารถวิ่งนำหน้าคุณไปได้อีก เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าคุณวิ่งเร็วกว่าเต่า แต่เท่าที่คุณทำได้คือวิ่งไล่ให้ใกล้เข้าไปเรื่อยๆ คุณจะไม่มีทางวิ่งทันเต่า”

     เด็กสาวผิดหวังอย่างรุนแรงกับคำอธิบายของนักเขียน เธอกำลังจะตาย จึงขวนขวายค้นหาความหมายของชีวิต โดยเชื่อว่ามันแฝงอยู่ในตอนจบของนิยายเรื่องโปรดที่ตัดจบลงอย่างห้วนๆ ทำไมเขาต้องมาพูดถึงเรื่องเหลวไหลเกี่ยวกับการวิ่งแข่งกับเต่า มันเกี่ยวข้องอย่างไรกับตอนจบของนิยายเรื่องนั้น และมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตของเธอ

 

     ในโลกสมัยใหม่ เรามีวิทยาศาสตร์เป็นกรอบในการมองสรรพสิ่ง ด้วยการสังเกตและทดลอง และเราใช้คณิตศาสตร์เป็นภาษาในการสื่อสารกับสรรพสิ่ง ด้วยการชั่ง ตวง วัด ทำให้เรารับรู้โลก ความจริง และชีวิตของเรา ได้อย่างจำกัดอยู่เพียงแค่ Physical โดยไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่อยู่นอกเหนือขึ้นไป คือ Metaphysical

     ในวิชาฟิสิกส์ ม.4 สอนเรื่องกฎการเคลื่อนที่ บอกว่า ระยะทาง = ความเร็ว x เวลา ถ้าในเวลาที่เราวิ่งได้ 10 หลา เต่าวิ่งได้ 1 หลา นั่นเท่ากับเราว่าวิ่งเร็วกว่าเต่า 10 เท่า และเราจะวิ่งไปทันเต่าที่ระยะ 11 หลา

     หรือถ้าจะให้ได้คำตอบที่ละเอียดกว่านั้น ด้วยวิชาคณิตศาสตร์ ม.5 ที่สอนเรื่องลำดับ อนุกรม และลิมิต ถ้าเรามองระยะทางการวิ่งว่าเป็นอนุกรมของลำดับแบบอนันต์ คือ 10/100 + 10/101+ 10/102 + 10/103 + … + 10/10n โดยที่ n เป็นจำนวนนับ ลำดับแบบอนันต์นี้เป็นลำดับคอนเวอร์เจนต์ มีค่า ‘ลู่’ เข้าสู่ 0 ดังนั้น เราจึงคำนวณได้ด้วยการหาลิมิตของอนุกรม 10 + 1 + 0.1 + 0.01 + … โดยค่าของลำดับท้ายๆ นั้นน้อยลงจนแทบไม่มีค่าอะไรเลย และคำตอบของปัญหานี้คือ เราวิ่งไปทันเต่าที่ระยะ 11.11 หลากว่าๆ เป็นคำตอบสำหรับโลก Physical ที่เราทุกคน เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วก็กลายเป็นศูนย์ไป

     แต่สำหรับคนที่ยังไม่ทันแก่ชรา พวกเขายังเยาว์วัยและต้องรีบจากโลกนี้ไป พวกเขาต้องการคำตอบแบบ Metaphysical มากกว่า คำตอบอยู่บนเสื้อยืดของเด็กสาวที่เธอเลือกใส่มาในวันนี้ มันสกรีนเป็นรูปช้อน พร้อมตัวอักษรว่า ce n’est pas une cuillere แปลว่า ‘นี่ไม่ใช่ช้อน’

     ฉากสำคัญอีกฉากของเรื่อง ต้องย้อนกลับไปเล็กน้อยก่อนเธอจะมาพบกับนักเขียน เธอเจาะจงเลือกใส่เสื้อยืดตัวนี้ในวันนี้ เพราะมันเป็นเสื้อแบบเดียวที่ตัวละครในนิยายใส่ แม่ของเธอถามว่ามันหมายความว่าอย่างไร เธออธิบายว่า นี่คือภาพช้อน แต่เขียนคำบรรยายว่ามันไม่ใช่ช้อน หมายความว่ามันเป็นเพียงแค่ภาพแทน แต่มันไม่ใช่ช้อนจริงๆ การรับรู้ของเราจำกัดเพียงแค่ภาพแทนที่เห็น แต่เราไม่ได้เข้าถึงช้อนจริงๆ

 

     ก่อนที่โลกของเราจะมีวิชาฟิสิกส์ และวิชาคณิตศาสตร์ที่ว่าด้วยลำดับ อนุกรม และลิมิต ย้อนกลับไปหลายพันปีในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นักปรัชญาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณที่นอกเหนือจากพวกยุคลิดหรือพีทาโกรัส ยังมีพวกที่ครุ่นคิดด้วยเหตุผลแบบนิรนัย เพื่อหาความจริงที่ไปไกลกว่านั้น เซโน (Zeno of Elea) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เขายกตัวอย่างเรื่องการวิ่งแข่งกับเต่า เพื่อแสดงให้เห็นว่า ด้วยพลังของการคิด ทำให้ค้นพบว่าการเคลื่อนที่ไม่มีอยู่จริง การเคลื่อนที่จากจุด A ไปยังจุด B ซึ่งดูเหมือนเป็นระยะทางที่จำกัด ภายในเวลาที่จำกัด แท้จริงแล้วภายในนั้นมีความไม่จำกัดอยู่อย่างอเนกอนันต์ คือเราจะต้องวิ่งตามเต่าไปด้วยระยะทาง 10/100 + 10/101 + 10/102 + 10/103 + 10/104 + … ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น การเคลื่อนที่ที่เราเห็นจึงเป็นเพียงแค่ภาพมายา เหมือนกับภาพช้อนที่ไม่ใช่ช้อนจริงๆ

 

     แล้วความจริงในทัศนะของเซโน เป็นอย่างไร?

     คำตอบคือ เซโนเชื่อตามนักปรัชญาอีกคนหนึ่ง ชื่อว่า พาร์เมนิดีส (Parmenides) เขาเป็นผู้ที่มาก่อนโสกราตีส เพลโต อริสโตเติล คนในสำนักนี้เชื่อว่าความจริงดำรงอยู่อย่างคงที่และดำเนินไปเป็นนิรันดร์ สิ่งที่เรารับรู้นั้นเป็นเพียงแค่ภาพมายา ซึ่งดูเหมือนว่าเพลโตเอง ก็ได้รับอิทธิพลนี้ต่อเนื่องมา จนกลายเป็นแนวคิดเรื่องโลกของแบบและถ้ำของเพลโต

     นั่นแปลว่าช้อนมีอยู่จริง คงที่ และเป็นนิรันดร์ ถึงแม้เสื้อยืดสกรีนรูปช้อนตัวนี้จะถอดไปซัก แล้วฉีกขาด หรือสูญหายไป แต่ช้อนก็ยังคงอยู่ตลอดไป

     ถ้าเปรียบเต่าของเซโน กับชีวิตคนเรา คุณอยากจะวิ่งแข่งกับเต่าด้วยโลกทัศน์แบบไหน แบบที่วิ่งไปทันเต่าตรงจุด 11.11 หลา แล้วก็ล้มตายสูญสลายจากโลกนี้ไป หรือแบบที่คุณสามารถวิ่งไล่ไปได้เรื่อยๆ ในระยะทางและระยะเวลาเป็นอนันต์ เพราะชีวิตของคุณคือความเป็นนิรันดร์

 

     ด้วยการเปลี่ยนโลกทัศน์ เด็กสาวข้ามผ่านความกลัวตาย เผชิญหน้าวาระสุดท้ายด้วยความสงบ

     จากตอนต้นเรื่อง ในฉากแฟลชแบ็กเห็นภาพเธอกำลังป่วยหนักตอนยังเป็นเด็ก แล้วแม่ร้องห่มร้องไห้อยู่ข้างเตียง แม่บอกว่า “โอ้พระเจ้า ฉันจะไม่ได้เป็นแม่ของเธออีกต่อไปแล้ว” คำคร่ำครวญของแม่ทำให้เธอคิดว่าความตายทำให้ทุกอย่างสิ้นสุด จนในตอนท้ายเรื่อง เมื่อเธอได้รู้ว่าแม่จะไปทำงานสังคมสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือเด็กป่วยด้วยโรคมะเร็งคนอื่นๆ เธอจึงรู้สึกโล่งอก ที่รู้ว่าเมื่อเธอตายไปแล้ว ความเป็นแม่ลูกกันก็ยังคงอยู่เป็นนิรันดร์ โดยแม่จะนำประสบการณ์การรักษาตัวเธอไปช่วยเหลือเด็กคนอื่นๆ ต่อไป

     แฟนหนุ่มของเธอพูดในชมรมเด็กป่วยด้วยโรคมะเร็ง เมื่อถูกถามว่าในชีวิตนี้เขากลัวอะไรมากที่สุด เขาตอบว่า I fear oblivion แปลว่า “ผมกลัวที่จะถูกลืม” ในฐานะของหนุ่มหล่อ บ้านรวย และเป็นนักกีฬา เขาน่าจะมีชีวิตเพียบพร้อมทุกด้าน สามารถเติบโตไปเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่จดจำของคนทั้งโลก แต่เมื่อป่วยด้วยโรคมะเร็ง ต้องตัดขา และกำลังจะตาย การเกิดมาแล้วด่วนตายไป โดยไม่ถูกจดจำอะไรไว้เลย ทำให้ชีวิตนี้ช่างไร้ค่า จนกระทั่งเขาและเธอมาพบรักกัน แล้วก็พบว่าการมีกันและกัน ทำให้เกิดอนันตกาลขึ้นมากลางชะตาชีวิตที่ถูกจำกัด ชีวิตของเรา เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความไม่เที่ยงแท้ เปลี่ยนแปลง สูญสลาย เป็นเพียงภาพมายา ภายในความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามา มีความเป็นนิรันดร์อยู่ในนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่เด็กสาวไปจะคาดคั้นนักเขียนเพื่อถามหาตอนจบของหนังสือ เพราะหนังสือเล่มนั้นยังคงอยู่สืบไป ถึงแม้เด็กสาวตายไปแล้ว ก็ต้องมีคนอื่นมาเปิดอ่าน และค้นพบความจริงแท้แบบเดียวกันนี้

     The Fault in Our Stars บอกเราว่า เมื่อเกิดมาแล้ว ชีวิตเรามีความหมาย คนเราเมื่อเกิดมาแล้ว ก็เหมือนกับหนังสือที่ถูกเปิดอ่านแล้ว ถ้าคุณคิดว่ามันจบ มันก็จบ แต่ถ้าคุณคิดว่ามันดำเนินต่อไป มันก็เป็นนิรันดร์ ทุกสิ่งที่เราทำ ทุกอย่างที่เราเป็นจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงคนอื่น คนที่ยังมีชีวิตต่อไป

 

     เราจึงเป็นนิรันดร์ของคนอื่น เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่มาก่อนเรา ล้วนเป็นนิรันดร์ของเรา