หลังจากดู Mindhunter ซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์รวดเดียวจบทั้งซีซัน ก็ทำให้ผมตั้งคำถามว่า อะไรคือความปกติ และอะไรคือความเบี่ยงเบน
ตอนแรกนึกว่ามันเป็นทีวีซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนตามจับฆาตกรต่อเนื่อง แต่พอดูไปดูมาสักพักก็ค่อยๆ จับทางได้ว่ามันคือดรามาแนวจิตวิทยา ที่แอบเอาเนื้อหาในหนังสือเรียนวิชาสังคมวิทยา 101 ตอนมหาวิทยาลัย มาใส่ไว้ในเนื้อหาแบบเนียนๆ เพื่อตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วภายในตัวเรานั้นคือใครกันแน่
เจ้าหน้าที่เอฟบีไอหนุ่มหล่อ ไฟแรง ทะเยอทะยาน มีความรู้ความสามารถ เริ่มต้นทำวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อค้นหารูปแบบชีวิตของบรรดาฆาตกรต่อเนื่อง ว่าอะไรคือแรงขับให้พวกเขากล้าฆ่าคนด้วยวิธีแปลกประหลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขากับเพื่อนเอฟบีไอคู่หูร่วมกันขับรถตระเวนไปตามคุกในรัฐต่างๆ เพื่อสัมภาษณ์ฆาตกรต่อเนื่องชื่อดัง ถามถึงเรื่องราวชีวิตในวัยเด็ก ความรู้สึกภายในใจ และจุดพลิกผันในชีวิตที่ผลักดันให้ลงมือฆ่าเป็นครั้งแรก ฯลฯ
เรื่องราวจากคำบอกเล่าของเหล่าฆาตกรต่อเนื่องถูกบันทึกเสียงไว้ แล้วนำมาถอดความเรียบเรียง ส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่าลึกๆ ภายในใจของแต่ละคนนั้นมีความเบี่ยงเบนไปจากปกติ มีความรักความชอบที่แตกต่างไป รสนิยมและนิสัยแปลกๆ การเลี้ยงดูจากสภาพครอบครัวที่ไม่ปกติ โดยรวมแล้วมันมีหลากหลายปัจจัยทั้งจากภายในตัวและภายนอกตัว ที่หลอมรวมกันเข้าจนในที่สุดพวกเขาก็ลงมือฆ่า
ภายในคุกทุกแห่งที่เข้าไปนั้นเต็มไปด้วยคนเบี่ยงเบนที่น่าหวาดกลัว ตำรวจสองคนในชุดสูทหล่อเนี้ยบถือเป็นความปกติจากโลกภายนอก ที่กลับกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมและแทรกผ่านเข้าไปตามทางเดินระหว่างห้องขัง ดูแล้วให้ความรู้สึกอึดอัด ขยะแขยง และต้องคอยระแวงระวังตลอดเวลา เหมือนกับฉากที่เอฟบีไอสาว ใน The Silence of the Lamb เข้าไปในคุกเพื่อหา ดร. ฮันนิบาล เล็กเตอร์ เมื่อจบการสัมภาษณ์ฆาตกรแต่ละคน พวกเขาเก็บข้าวของแล้วรีบออกมาภายนอกคุก เพื่อสูดลมหายใจของความปกติอีกครั้ง ราวกับว่าในสังคมของเราได้จัดแบ่งพื้นที่สำหรับความเบี่ยงเบนและความปกติเอาไว้อย่างชัดเจนด้วยซี่ลูกกรงและกำแพงปูน
ฮอลลีวูดมักจะผลิตซ้ำความคิดเดิมๆ เกี่ยวกับความปกติและความเบี่ยงเบน ผ่านหนังเขย่าขวัญเกี่ยวกับการตามจับฆาตกรต่อเนื่องเรื่องแล้วเรื่องเล่า ว่าฆาตกรผู้เบี่ยงเบนได้มาทำลายระเบียบและความปกติสุขของสังคม เอฟบีไอและตำรวจจึงต้องตามจับคนร้ายพวกนี้ให้ได้ ด้วยองค์ความรู้ที่สั่งสมมายาวนานว่า ฆาตกรเหล่านี้มีรสนิยมและนิสัยแปลกประหลาดอย่างไร เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูที่ผิดปกติอย่างไร แล้วในที่สุดสังคมก็กลับสู่ระเบียบและความปกติสุขอีกครั้ง เมื่อพวกฆาตกรถูกจับโยนเข้ากรงขังไป โลกสมัยใหม่เป็นโลกของการจัดระเบียบ แบ่งแยกประเภท และใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจ
แต่ Mindhunter ไม่ได้เดินตามแนวทางฮอลลีวูดแบบนั้น ไม่มีฉากการไล่ล่าฆาตกร มีแต่ฉากการสัมภาษณ์ฆาตกรที่ส่วนใหญ่ก็พูดจาเหมือนคนปกติอย่างเราๆ มันฉายให้เห็นสภาวะของโลกหลังสมัยใหม่ที่กรอบการแบ่งแยกพร่าเลือน สังคมเข้าสู่ความไร้ระเบียบ คาดเดาหรือกะเก็งอะไรไม่ได้ด้วยการใช้เหตุผล คำให้การของฆาตกรต่อเนื่องไม่ได้เปิดให้เห็นความเบี่ยงเบนในตัวเขา แต่กลับสะท้อนมาให้เห็นความเบี่ยงเบนในตัวของเราด้วยเช่นกัน ภายในหัวของเราเองไม่ได้สะอาดใสไร้มลทิน และเมื่ออยู่ในที่รโหฐาน เราก็ไม่ได้เป็นปกติอย่างที่เคยปกติ
เอฟบีไอในชุดสูทเรียบกริบ วางมาดกร้าวแกร่งเอาการเอางาน แต่เมื่อเก็บของหิ้วกระเป๋าเดินพ้นกำแพงคุกออกมา กลับอ่อนปวกเปียกหมดเรี่ยวแรง เมื่อมาอยู่ในปริมณฑลของการทำงาน เขากลายเป็นเบี้ยล่างให้กับเพื่อนร่วมงานเลสเบี้ยนที่มีบุคลิกกร้าวแกร่งกว่า และเมื่อเขากลับถึงบ้านเจอหน้าแฟนสาวสวยหุ่นร้อนแรง เธอพ่นคำลามกสกปรกออกมาเพื่อปลุกอารมณ์ทางเพศ และบอกให้เขาก้มหน้าก้มตาทำออรัลเซ็กซ์ให้ในช่วงตอนจบของแทบทุกเอพิโสด คนทั่วไปที่ส่วนใหญ่เสพสื่อจากฮอลลีวูด เมื่อเห็นฉากเซ็กซ์ที่เบี่ยงเบนไปจากปกติก็จะรู้สึกอึดอัด ตะขิดตะขวงใจ ราวกับว่าตัวเองไม่เคยทำแบบนั้น ราวกับว่าตัวเองเป็นคนปกติ
ความปกติคืออะไร ความเบี่ยงเบนคืออะไร แล้วพวกเราทุกคนที่อยู่นอกกำแพงคุกตอนนี้เป็นคนปกติจริงๆ เหรอ หรือว่าจริงๆ แล้วเราล้วนเบี่ยงเบนไปไม่มากก็น้อย เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้ฆ่าคนตายเท่านั้นเอง และถึงที่สุดแล้วตัวตนที่แท้จริงของเราคืออะไรกันแน่?
ถ้าเรามองว่าปรากฏการณ์ทุกอย่างเรียงอยู่ในระนาบเดียวกันหมด ไม่มีระบบภาษาเข้าไปกำกับคุณค่าว่าปกติหรือเบี่ยงเบน แต่มีเพียงความแตกต่างหลากหลายเรียงต่อกันเป็นแนวเหมือนสเปกตรัมของแสงขาว เมื่อผ่านวัตถุหักเหแสงก็จะแตกกระจายออกเป็นสีรุ้ง ไม่มีสีไหนดีกว่าสีไหน ขึ้นอยู่กับว่าใครชอบอะไร หรือนำสีนั้นๆ ไปใช้ในบริบทใด ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ได้มีแค่เจ็ดสีด้วย ในบริเวณขอบของแต่ละสีนั้นยังมีเฉดที่แตกต่างกันอีกเป็นแสนเป็นล้านระดับ ที่เราไม่สามารถรับรู้เชิงประจักษ์และไม่สามารถใช้เหตุผลเข้าไปทำความเข้าใจ
หลายปีก่อนเคยมีรายการทีวี ‘พื้นที่ชีวิต’ มาสัมภาษณ์ผมว่าด้วยเรื่องตัวตน บทสนทนากับ น้องเอ๋ นิ้วกลม พาผมไปถึงจุดที่พูดเปรยขึ้นมาว่า แท้จริงแล้วชีวิตของเราคือการแสดง ตื่นเช้าลุกจากเตียงเราก็เป็นคนหนึ่ง ตอนแก้ผ้าเข้าห้องน้ำนั่งส้วมเราก็เป็นคนหนึ่ง ออกจากบ้านมาทำงาน และตอนมานั่งหน้ากล้องทีวี เราก็กลายเป็นอีกคนหนึ่ง ตัวตนของเราคือบทบาทการแสดง บทบาทก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่และเวลาที่เข้าไปยึดครองในแต่ละขณะจิต เสื้อผ้าหน้าผมของเราก็คือคอสตูม โลกทั้งใบคือโรงละครที่เราทุกคนกำลังแสร้งแสดงบทบาทของความปกติ โดยพยายามเก็บซุกความเบี่ยงเบนอันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงที่สุดของเราแต่ละคนเอาไว้
ไม่ว่าจะอยู่ในคุกหรือนอกคุก เราก็ไม่สามารถพบเสรีภาพที่แท้จริงได้ ถ้าไม่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย และไม่เข้าใจว่าความเบี่ยงเบนคือธรรมชาติ การสืบค้นเข้าไปในจิตใจของฆาตกร ช่วยสะท้อนให้เราเห็นภายในใจของตัวเอง