เมื่อสี่ปีก่อน ผมกับ ‘บุ๊ย’ – มนตรี บุญสัตย์ เคยไปสัมภาษณ์ ‘แสตมป์’ – อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข เราบุกไปถึงห้องทำงานแบบเบดรูมสตูดิโอ ซึ่งเป็นแหล่งเร้นกายเพื่อซุ่มทำงานเพลง ในช่วงที่เขากำลังทำอัลบั้ม Stamp Sci-fi ใกล้จะเสร็จ ขะมักเขม้นกับการเรียบเรียงแต่ละเพลงให้สมบูรณ์ เขาลองเปิดแต่ละเพลงให้เราฟังไปสลับกับการพูดคุยไปเรื่อยๆ
มีการสนทนาอยู่ช่วงหนึ่งที่ไม่ใช่ใจความสลักสำคัญของการทำต้นฉบับสัมภาษณ์ และไม่ใช่ช่วงที่เป็นคำคมที่น่าจดจำใดๆ เป็นช่วงการพูดคุยเรื่อยเปื่อย แต่มันมีประเด็นน่าสนใจและมักจะย้อนกลับเข้ามาในหัวของผมบ่อยครั้ง
อย่างตอนขณะที่กำลังดูหนังเรื่อง Guardians of the Galaxy ที่พระเอกซูเปอร์ฮีโร่ของเราใช้เครื่องซาวนด์อะเบาต์เก่ากึ้ก เล่นเพลงจากเทปคาสเส็ต Awesome Mix Vol.1 ที่เขาอัดเพลงเก่าๆ เป็นเพลงป๊อปยุค 70s-80s ฟังคุ้นหู เพลงซาวนด์แทร็กเหล่านี้ช่วยทำให้หนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องนี้มีความพิเศษขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ
คำถามคือ ทำไมเพลงเก่าๆ จึงทำให้อะไรๆ ดูดีขึ้นมาได้เสมอ?
ในการสนทนากัน แสตมป์เล่าว่าพวกเพื่อนร่วมงานในรายการประกวดร้องเพลงในทีวี เคยมาบอกกับเขาว่า นักแต่งเพลงเป็นอาชีพที่น่าอิจฉา เพราะเพลงหนึ่งเพลงสามารถคงอยู่ได้ตลอดไป เพลงยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่า เพลงยิ่งฟังไปนานๆ จะยิ่งรู้สึกดี ยิ่งติดหู คนฟังได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่เคยเบื่อ มันจะถูกนำกลับมาร้องคัฟเวอร์ใหม่ได้ซ้ำๆ นำกลับมารวมอัลบั้มขายไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบ
เพลงจึงเป็นคอนเทนต์ที่แตกต่างและพิเศษจากคอนเทนต์ชนิดอื่นๆ อย่างพวกทำหนังและหนังสือ ไม่ว่าดีเลิศขนาดไหนก็ตาม คนได้ดูหรือได้อ่านไปซ้ำสักสองสามรอบก็จะเบื่อแล้ว
ยิ่งถ้าเป็นรายการทีวี เมื่อรายการแพร่ภาพออกไปในแต่ละอาทิตย์ๆ มันก็จบกันไป ไม่มีใครมาเปิดดูซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายรอบ ยกเว้นว่าเป็นรายการเพลงเท่านั้น อย่างเช่น รายการคอนเสิร์ตการแสดง หรือการประกวดร้องเพลง ที่จะมีคนกลับไปเปิดฟังอีกเรื่อยๆ
ผมเองสงสัยก็เลยลองถามแสตมป์ว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น แสตมป์บอกว่าเขาก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แค่เดาว่าเสียงเพลงทำงานกับสมองของเราในรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่คอนเทนต์อื่นๆ ทำงานกับประสาทสัมผัสอื่นๆ โดยสรุปคร่าวๆ จากการสนทนา แสตมป์อธิบายไว้ประเด็นที่น่าสนใจว่า
1. เพลงเกี่ยวข้องกับความทรงจำภายในหัว เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์ เราสามารถรับฟังเสียงและฟังจังหวะได้ก่อนสัมผัสอื่นๆ คือเรารับรู้เสียงเพลงตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่
2. เพลงเกี่ยวข้องกับสถานที่รอบตัวภายนอก อย่างเช่น เวลาเขาจะแต่งเพลงใหม่ เขาจะเอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่หนึ่งๆ เพื่อให้เกิดทำนองและคำร้องผุดขึ้นมาในหัวของเขา
คำอธิบายของแสตมป์ทำให้ผมนึกถึงเพลงเก่าๆ ของเขา เพลง ‘ความคิด’ ที่มีเนื้อร้องว่า …ยังเดินผ่านทุกวัน ที่ที่เราพบกันเมื่อก่อน ยังจำซ้ำๆ ได้ทุกตอน ราวกับใครมาหมุน ย้อนเวลา…
เสียงเพลง สถานที่ ความทรงจำ ทั้งสามอย่างนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกัน และส่งผลกระทบต่อเนื่องกันอย่างลึกซึ้ง
โดยส่วนตัว ผมเดาว่าเสียงเพลงทำงานกับประสาทสัมผัสสองอย่างของเราไปพร้อมกัน คือเสียงที่ลอยเข้ามาในหูตลอดเวลา และสายตาที่มองออกไปข้างหน้า บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสตูดิโออัลบั้มเดี่ยวของเขา Gran Turismo ว่าเขาตั้งชื่ออัลบั้มแบบนี้เพราะต้องการให้เปิดฟังทั้งอัลบั้มตอนที่กำลังขับรถ
เพลงจึงทำงานกับสมองทั้งสองซีกของเราพร้อมๆ กัน สมองซีกจินตนาการจะสร้างสถานที่นามธรรมขึ้นมาในใจ ในขณะเดียวกัน สมองซีกความทรงจำจะดึงเอาความทรงจำเก่าๆ กลับคืนมา
ดังนั้น เมื่อเราได้ยินเพลงเก่าๆ ภาพของสถานที่ในอดีตมักจะผุดขึ้นมา พร้อมๆ กับความทรงจำที่พรั่งพรู เพลงเก่าจึงเป็นเหมือนกุญแจไขกล่องเก็บความทรงจำของเราให้เปิดออก
นี่คือเหตุผลว่าทำไมเพลงจึงคงอยู่ได้นานกว่าคอนเทนต์อื่น ทำไมเราจึงฟังเพลงได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้เบื่อ ทำไมเพลงเก่าจึงซาบซึ้งกินใจเราเสมอ ทำไมเมื่อเพลงเก่าดังขึ้น เราจึงมีภาพความทรงจำมากมายผุดขึ้นมาในใจ และทำไมมันจึงจับใจมากขึ้นไปอีกระดับ เมื่อเปิดฟังตอนที่กำลังขับรถไปกับคนรัก
แสตมป์เล่าว่า เขาเพิ่งมีรถคันใหม่ ช่วงนี้ไปไหนมาไหนด้วยรถคันนี้ประจำ การนั่งรถแล้วเปิดเพลงฟัง ทำให้เขาได้กลับไปฟังเพลงอย่างลึกซึ้ง คนรักของเขาจะช่วยขับรถให้ แล้วเขาจะฟังเพลงไปเรื่อยๆ และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ให้เขาทำอัลบั้มเพลงใหม่อย่างตั้งอกตั้งใจ เพื่อให้แฟนเพลงได้ฟังอย่างลึกซึ้งจริงๆ
หนังสักเรื่องเมื่อมีเพลงเก่าใส่เข้าไปอย่างถูกจังหวะ และถูกกลุ่มเป้าหมายคนดู มันจะกลายเป็นหนังถล่มบอกซ์ออฟฟิศได้ไม่ยาก เช่นเดียวกัน เพลงเก่าที่คุ้นหู เมื่อเปิดฟังบนรถกับคนที่รัก ก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับเราได้ดีมากๆ อย่างน่าประหลาดใจ
*บทความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อปี ค.ศ. 2014