เวลามีเทศกาลวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน พอถึงวันเปิดทำงาน ก็มักจะเห็นเพื่อนฝูงหลายคนโอดครวญว่าอยากหยุดต่อ ไม่อยากกลับไปทำงาน ราวกับนี่เป็นความรู้สึกร่วมกันของยุคสมัย พอพูดถึงขึ้นมา ทุกคนต่างก็เข้าใจและเห็นใจ มันสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตและการทำงานในปัจจุบันได้ดี บางทีความเกลียดกลัวการทำงานจะทำให้ตลอดช่วงวันหยุดนั้นน่าหดหู่ไปเลย เพราะเราต้องคอยนั่งนับถอยหลังว่าวันหยุดกำลังหมดลงไปทีละวัน ทีละวัน
ตอนปลายปีที่แล้ว ก่อนวันหยุดยาวในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทีมเรามานั่งประชุมกันเพื่อสรุปภาพรวมและวางเป้าหมายสำหรับปีใหม่กันไว้แต่เนิ่นๆ ผมพูดกับน้องในทีมว่าเป้าหมายสูงสุดของผมในฐานะหัวหน้า คือการทำให้เราทุกคนรู้สึกตื่นเต้นอยากให้ถึงวันเปิดงานเร็วๆ กลับมาเจอกันใหม่ในปีหน้า ถ้าปิดงานไปแล้ว พอถึงวันหยุดวันสุดท้าย มีใครรู้สึกเศร้าซึมในใจ อาลัยอาวรณ์วันหยุด นั่นแปลว่าการทำงานและทีมเวิร์กของเราอาจจะมีปัญหา
ความรู้สึกของเราในวันหยุดงานวันสุดท้ายจึงเปรียบเหมือนบารอมิเตอร์วัดความกดอากาศ หรือมาตรวัดบรรยากาศโดยรวมในชีวิตของเรา ว่าเรามีความคิดกับมันอย่างไร มันไม่เกี่ยวกับว่างานหนักหรืองานยาก มันเกี่ยวกับช่องว่างที่อยู่ระหว่างกลางของชีวิต ซึ่งมักจะถูกแบ่งแยกให้ห่างออกจากกัน วันหยุดเป็นวันที่เราได้มีชีวิตอย่างที่คาดหวัง ในขณะที่วันทำงาน เป็นวันที่เรากำหนดความคาดหวังบางอย่าง เป็นเป้าหมายของงานที่จะต้องบรรลุไปให้ถึง ซึ่งมันไม่สอดคล้องกัน
ผมเคยแปลหนังสือแนวฮาวทูของ ไบรอัน เทรซี สองเล่ม คือเรื่อง ‘หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ!’ และ ‘อยากคว้าแต้มใหญ่ ต้องเล็งให้ตรงกลางเป้า’ ทำให้พอจะเข้าใจแนวคิดหลักๆ ของเขาว่าคือการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ชัดมากขนาดที่มองเห็นภาพและรู้สึกได้ว่าเมื่อไปถึงเป้าหมายนั้นแล้วชีวิตเราจะเป็นอย่างไร แล้วเขาบอกให้เราจดมันลงสมุด กำหนดเงื่อนเวลา แจกแจงออกมาเป็นแผนการทีละข้อๆ เพื่อจะได้เดินหน้าทำไปตามเป้าหมาย
เมื่อเดือนก่อน ผมได้ไปร่วมคอร์สเรียนการพัฒนาตัวเองกับ มิสเตอร์ไมเคิล โบลดัก ผู้เป็นศิษย์ เพื่อนร่วมงาน และผู้ช่วยของ ไบรอัน เทรซี นอกจากการกระโดดโลดเต้นตามจังหวะดนตรีเร้าใจเพื่อสร้างพลังกายพลังใจ เขายังบอกเล่าเรื่องที่น่าประทับใจให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งตอนร่วมเดินทางโดยเครื่องบินไปบรรยายที่ต่างประเทศ เขางีบหลับไประหว่างไฟลต์ พอตื่นขึ้นมาเห็น ไบรอัน เทรซี กำลังเขียนหนังสืออย่างขะมักเขม้น เขาชะโงกไปดูว่าเขียนอะไรอยู่ ไบรอันบอกว่ากำลังเขียนเป้าหมายอยู่
ทุกวัน ไบรอันเขียนเป้าหมาย จะว่าไปแล้ว ไบรอัน เทรซี น่าจะเป็นบิดาแห่งการตั้งเป้าหมายของชีวิตเลยก็ว่าได้ เขาเขียนมันซ้ำๆ เพื่อให้ระบบภาษามากำหนดสมองและจิตใจของตัวเองว่าจะต้องไปทางไหน วิธีคิดแบบตะวันตกมักจะเป็นแบบนี้ คือ Set Goal แล้วก็ Achieve Goal หนังสือฮาวทูระดับตำนานส่วนใหญ่ที่วางขายในแผนกหนังสือจิตวิทยา มักจะสอนเราเรื่องนี้เหมือนๆ กัน ทุกคนได้อ่านเรื่องนี้ รู้เรื่องนี้ แต่มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของตัวเองได้ คำถามคือทำไม
ในความเห็นของผม เราส่วนใหญ่โฟกัสไปที่ความสุขเมื่อบรรลุถึงเป้าหมายได้สำเร็จ เป้าหมายยิ่งใหญ่เท่าไรก็ยิ่งจะให้ความสุขแก่เรามากเท่านั้นเป็นการตอบแทน ในขณะที่เราอีกส่วนยังไม่แน่ใจเลยด้วยซ้ำว่าเป้าหมายคืออะไร กำหนดเป้าหมายไว้แต่ยังลังเลสงสัย วิตกกังวล มันคือเหตุผลว่าทำไมหนังสือฮาวทูจึงขายดีตลอดทั้งปีทั้งชาติ เราส่วนใหญ่ซื้อมาอ่านเล่มแล้วเล่มเล่า ด้วยความคาดหวังว่าสักวันชีวิตจะไปถึงเป้าหมาย และมันก็คือเหตุผลว่าในระหว่างทางนั้น ทำให้เรารู้สึกซึมเศร้าหดหู่ในวันหยุดวันสุดท้าย
ผมบอกน้องในทีมเสมอๆ ว่า วิธีแก้โรคเกลียดวันจันทร์ คือให้หยิบงานขึ้นมาทำให้ตั้งแต่บ่ายวันอาทิตย์ ช่องว่างกึ่งกลางระหว่างเป้าหมายยิ่งใหญ่กับชีวิตจริงที่เป็นอยู่ จะไม่น่าหวาดวิตกเท่าไหร่ถ้าเราก้มหน้าก้มตาทำอะไรสักอย่างไปเรื่อยๆ มันอาจจะช่วยให้ช่องว่างนี้เล็กลง หรือมันอาจจะไม่ได้ช่วยอะไร ช่องว่างกว้างเท่าเดิมนั่นแหละ เพียงแต่เราให้ความหมายกับมันเสียใหม่
บางทีนี่อาจจะเป็นวิธีคิดแบบตะวันออก เวลาเราดูหนังกำลังภายใน หรือดูวิธีฝึกฝนมวยของ บรูซ ลี ผมเองก็ไม่รู้ว่าเขาขี้โม้แค่ไหน ตอนแสดงเพลงมวย One Inch Punch ที่สามารถปล่อยหมัดอันทรงพลังในระยะทางสั้นๆ เพียงแค่หนึ่งนิ้วฟุต ในขณะที่เราส่วนใหญ่เคยคิดว่าหมัดหนักๆ นั้นต้องเงื้อง่ามาแต่ไกล อาศัยระยะทางเพื่อช่วยเพิ่มความเร็ว และเพิ่มโมเมนตัมตอนหมัดเข้าปะทะเป้า
ถ้าใครเคยดูหนัง Kill Bill Vol. 2 คงจะพอจำได้ ฉากที่เดอะไบรด์โดนผู้ร้ายจับใส่โลงแล้วฝังดินไว้ปล่อยให้ตายทั้งเป็น ในโลงศพที่มืดมิดและคับแคบ มองไม่เห็นอนาคตเลย มีแต่ตายกับตายแค่นั้น หลังจากดิ้นรนฟูมฟายอยู่พักใหญ่จนรู้ว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร เดอะไบรด์ยกมือขึ้น วัดระยะห่างแค่ช่วงแขนกับฝาโลง กำหมัด แล้วก็ชกไปเรื่อยๆ ชกแบบมืดบอดอยู่อย่างนั้นเอง ผมคิดว่าสิ่งสำคัญเท่าๆ กับการมองเห็นเป้าหมายที่ปลายทางไกลๆ ก็คือความมุ่งมาดปรารถนาที่จะทำอะไรสักอย่างตรงหน้าใกล้ๆ
“
บรูซ ลี เคยพูดว่า เขาไม่กลัวคนที่เตะได้พันท่า แต่เขากลัวคนที่ฝึกเตะท่าเดียวอยู่อย่างนั้นมาพันครั้ง
”
บอกตรงๆ ว่าไม่มีใครรู้หรอกว่า บรูซ ลี กับ ไบรอัน เทรซี ใครขี้โม้กว่ากัน ถ้าเรานำแนวคิดสองแบบมาวางเทียบบนระนาบเดียวกัน ระหว่าง NLP กับกำลังภายใน ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก แนวคิดไหนที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นความจริงมากกว่ากัน? หนังสือฮาวทูเล่มแล้วเล่มเล่า หนังกำลังภายในเรื่องแล้วเรื่องเล่า เราตามเสพมาเพื่อปลุกกำลังใจให้ข้ามผ่านชีวิตแต่ละช่วงๆ
มันอาจจะจริงหรืออาจจะไม่จริงทั้งคู่ จะเงื้อหมัดมาแต่ไกล หรือจะชกแค่ใกล้ๆ ผมไม่รู้ สิ่งที่จริงแท้ขึ้นอยู่กับเราเองว่าเราให้ความหมายกับมันอย่างไร บารอมิเตอร์คือวันหยุดวันสุดท้าย มันแสดงให้เห็นภาพรวมว่าเราคิดอะไรและรู้สึกอย่างไรกับชีวิต