Outrage Porn

ในแต่ละวันเราเสพ Outrage Porn มากเกินไปหรือเปล่า? เราปากคอเราะร้าย และโกรธอะไรสักอย่างตลอดเวลาหรือเปล่า?

เราเสพอารมณ์เพื่อความบันเทิงเริงใจ ไม่ใช่แค่เรื่องความใคร่หรือความกระหายอยาก แต่ยังรวมถึงความโกรธแค้นชิงชัง

เหมือนกับยุคแรกๆ ที่อินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมีภาพโป๊เปลือยเป็นตัวเร่ง ต่อมาเรายังใช้คอนเทนต์ Porn ในรูปแบบอื่นๆ อย่างเช่นภาพอาหาร ภาพสัตว์เลี้ยงน่ารัก ภาพบีบสิว หรือภาพอุบัติเหตุเสียวไส้ทั้งหลาย และตอนนี้เรานิยมเสพ Outrage Porn กันมากขึ้น

     Outrage Porn ก็คือพวกมีม ไวรัล และคอนเทนต์ที่แชร์กันในโซเชียลมีเดีย ข่าว บทความ รูปภาพ วิดีโอ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่กระตุ้นอารมณ์โกรธแค้น เดือดดาล โดยส่วนใหญ่จะขัดแย้งกับหลักคุณค่าที่เราและเพื่อนๆ ของเรายึดถือ อย่างเช่น คลิปอันธพาลทำร้ายคนอื่น คลิปคนทะเลาะกันบนท้องถนน มนุษย์ป้ามนุษย์ลุงทำตัวไร้มารยาท ฯลฯ และอีกส่วนหนึ่งของคอนเทนต์แนวนี้คือที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแบบเลือกข้าง

     Outrage Porn ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการสร้างอารมณ์ให้กับผู้เสพ รู้สึกโกรธแค้น เกลียดชัง หมั่นไส้ อธิบายง่ายๆ ก็คือดูแล้วหัวร้อนนั่นแหละ เราจะอ้างอิงตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในนั้น รู้สึกเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำ สร้างความน่าสงสาร น่าเห็นใจ น้อยเนื้อต่ำใจให้กับตัวเอง

     เราเสพ Outrage Porn ทั้งๆ ที่บางทีเราก็รู้ตัวว่าเรื่องไร้สาระ ไม่มีประโยชน์อะไร เป็นข่าวมโนสาเร่รายวัน แต่ทุกๆ วันเราอดรนทนไม่ได้จริงๆ ที่จะไม่เปิดอ่านคอนเทนต์ที่ท่วมท้นไปด้วยความโกรธเกรี้ยวของอินฟลูเอนเซอร์ แล้วก็กดแชร์ส่งต่อมันให้แพร่หลายออกไป เป็นการสื่อสารแบบลอยๆ กระทบกระเทียบใครสักคนอย่างจงใจ เพื่อด่า เสียดสีเหน็บแนม หรือประจานใครอีกคนที่เราไม่รู้จัก

     เหตุผลที่เราเสพติด Outrage Porn ก็เพื่อชดเชยบางสิ่งบางอย่าง เพราะเรามีความรู้สึกบางอย่างที่อัดอั้นอยู่ภายในใจ คำถามคือ อะไรล่ะคือความรู้สึกเหล่านั้น

     1. ความกลัว – อินฟลูเอนเซอร์เป็นผู้ปั่นความหวาดกลัวให้กับฝ่ายตัวเอง คอนเทนต์ที่สร้างความโกรธแค้นฝ่ายตรงข้าม ทำให้ผู้เสพรู้สึกปลอดภัยและมีพวกพ้องมารวมตัวกัน

     2. ไม่สามารถควบคุมชีวิตตัวเอง – คนส่วนใหญ่ไร้พลัง และรู้สึกมืดมนกับปัญหาในชีวิตของตัวเอง ปัญหาสังคมรอบตัวก็ดูยิ่งใหญ่ สลักสำคัญ และมีผลกระทบมากขึ้น ในขณะที่ตัวเราควบคุมมันไม่ได้เลย การแชร์คอนเทนต์คนที่ทำความเลว ผิดศีลธรรม หรือนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม จะทำให้เรารู้สึกว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง

     3. โกรธและเกลียดใครสักคน – เราทุกคนมีใครสักคนที่เกลียดชัง แต่เราไม่สามารถทำอะไรเขาได้ อารมณ์นี้จึงนำมาระบายภายนอกตัวเอง หาแพะรับบาปแบบรายวัน รู้สึกว่าคนอื่นๆ ล้วนเลวทรามและทำอะไรก็ไม่ถูกใจเราทั้งนั้น

     4. ถูกเพิกเฉย รู้สึกไร้ค่า ไร้ความสำคัญ – ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง ความมั่นใจในตัวเอง ทำให้เราต้องเรียกร้องความสนใจ หาเรื่องชวนคนอื่นมาทะเลาะด้วยกันแบบรายวัน เพื่อจะได้รู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นบุคคลสำคัญขึ้นมา

     5. โลกนี้ช่างยุ่งเหยิงเสียจริง – มองโลกในแง่ร้าย และคิดว่ามีทฤษฎีสมคบคิดบางอย่างอยู่เบื้องหลัง เชื่อว่ามีคนหรือกลุ่มบุคคลที่ยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหลังความเลวร้ายทั้งปวง และพวกมันกำลังนำพาโลกไปสู่วิกฤต

     6. ความสัมพันธ์ในชีวิตจริงล้มเหลว – เราทุกคนแท้จริงแล้วภายในแตกสลาย และต้องการไขว่คว้าหาความสัมพันธ์ไม่ว่ารูปแบบใดเข้ามาใส่ตัวตลอดเวลา คนที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดมักจะเป็นคนที่ทำร้ายจิตใจเรามากที่สุด คนส่วนใหญ่จึงโกรธและโทษตัวเอง และระบายออกมาโดยไม่รู้ตัวด้วย Outrage Porn

     7. รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม – ตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม น้อยเนื้อต่ำใจ โดนเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้ในสิ่งที่ควรได้ ดังนั้น จึงมีแต่พวกเราเท่านั้นที่จะต้องลุกขึ้นต่อสู้กับพวกมัน

 

     และเมื่อเสพ Outrage Porn จากสื่อเข้าไปมากๆ เราจะสะสมความโกรธแค้นชิงชังไว้ในตัวมากๆ อัตตาจะโป่งพองขึ้นเรื่อยๆ หลงคิดว่าตัวเองดีงาม สูงส่ง และเป็นผู้ทรงธรรม คอยตัดสินหรือพิพากษาเรื่องราวต่างๆ รอบตัว มันพาเราเข้าไปมีส่วนร่วมในการโต้เถียงเรื่องการเมืองแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

     พอเวลาผ่านไปนานๆ เข้า เราจะยิ่งเสพติดความโกรธแค้น อาการเสพติดจะส่งผลกระทบต่อชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง รวมถึงบุคลิกภาพและความรับรู้เกี่ยวกับตนเอง

     ลองสังเกตจากสิ่งที่ตัวคุณเองโพสต์หรือแชร์ในโซเชียลมีเดีย ในแต่ละวัน

     1. ความเห็นสุดโต่ง – แสดงถึงความเห็นสุดลิ่มทิ่มประตูไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง

     2. ชวนทะเลาะ – มีเจตนายั่วโทสะคนอื่นแบบลอยๆ พยายามกระตุ้นเร้าให้มีใครสักคนมาโต้เถียงด้วย เพื่อจะได้เอาชนะคะคาน

     3. ไม่มีประสบการณ์ – โพสต์วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่คุณเองไม่ได้มีประสบการณ์ตรง

     4. ไม่ได้รู้จักกัน – วิพากษ์วิจารณ์คนที่คุณไม่รู้จัก และเขาก็ไม่รู้จักคุณ

     5. ดูหมิ่นเหยียดหยาม – วิพากษ์วิจารณ์ด้วยท่าทีและน้ำเสียงดูหมิ่นเหยียดหยามกว่าปกติ

     6. เรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับคุณ – คุณไม่ได้มีความรู้เรื่องนั้นจริง ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

     7. แล้วคุณก็ไม่ได้ช่วยอะไร – แค่นั่งอยู่หลังคีย์บอร์ด และก็ด่าๆ ไป โดยโพสต์หรือแชร์ของคุณไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหา

    8. โกรธ – สังเกตว่าตัวเองรู้สึกโกรธตลอดเวลา ไม่รู้ทำไม

     9. นอตหลุด – ตัวตนจริงๆ กับตัวตนในโลกออนไลน์กลายเป็นคนละคนกัน เวลาอยู่ในออนไลน์จะปากกล้า แต่ในโลกแห่งความจริงจะเป็นคนเรียบร้อย

     10. ตอบโต้ – ตอบโต้อย่างฉับพลันกับเรื่องโน้นเรื่องนี้เกินกว่าเหตุ ไม่ว่ามีเหตุการณ์ข่าวสารอะไรเข้ามา คุณก็แสดงความเห็นอย่างรุนแรงต่อเรื่องนั้นได้ทันที

 

     Outrage Porn เติมเต็มความต้องการบางอย่างที่แฝงลึกๆ ในใจ ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ลองสังเกตดูพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของตัวเองว่าในแต่ละวันใช้เวลากับ Outrage Porn มากเกินไปหรือเปล่า สังเกตจิตใจของเราเองด้วยว่าเราปากคอเราะร้ายและ รู้สึกว่าโกรธอะไรสักอย่างอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า

 


*หมายเหตุ: เรียบเรียงมาจาก 7 Reasons why we engage in ‘outrage porn’ และ 10 symptoms you are addicted to ‘Outrage Porn’