Seize the day

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | เราคว้าวันเวลาเอาไว้ หรือเวลาคว้าเราเอาไว้? จาก Dead Poets Society ถึง Boyhood

‘You know how everyone’s always saying seize the moment? I don’t know, I’m kinda thinking it’s the other way around. You know, like the moment seizes us.Boyhood (2014)

     Carpe diem คำคมจากหนัง Dead Poets Society เมื่อปี ค.ศ. 1989 ที่แปลว่า seize the day ในฉากหนึ่งของเรื่อง คุณครูคีตติ้ง หนึ่งในบทบาทที่ดีที่สุดของ โรบิน วิลเลียมส์ นักแสดงผู้ล่วงลับ บอกกับนักเรียนของเขาว่า

     ‘คุณสุภาพบุรุษทั้งหลาย คนเหล่านี้กำลังเป็นปุ๋ยให้กับดอกแดฟโฟดิล แต่ถ้าพวกคุณเงี่ยหูฟังให้ดีๆ ก็จะได้ยินพวกเขากระซิบบอกเล่าตำนานของพวกเขา มาสิ… เงี่ยหูฟัง… ฟัง… ได้ยินไหม? คาร์… เป… อะไรนะ? คาร์เปเดี้ยม จงฉวยวันเวลาไว้ ใช้ชีวิตของพวกคุณให้วิเศษสุดๆ

     ผู้ใหญ่หลายคน เมื่อมองย้อนกลับไปสมัยยังเป็นหนุ่มสาว พวกเขาไม่ชอบยุคทศวรรษ 80 เพรามันเป็นยุคที่ไม่ค่อยมีเสน่ห์เฉพาะตัว วงการหนัง เพลง และป๊อปคัลเจอร์ต่างๆ ล้วนมีแต่เรื่องธุรกิจนำหน้า ทุกสิ่งทุกอย่างจึงดูเรียบร้อย อยู่ในร่องในรอย พร้อมเพรียง และดำเนินไปในทางเดียวกัน เหมือนปั๊มออกมาจากแม่พิมพ์ในสายพานโรงงานอุตสาหกรรม อย่างพวกนักร้องลิปซิงก์ ซาวนด์อิเล็กทรอนิกส์ซ้ำซาก แอ็กชันฮีโร่ที่เล่นหนังกี่เรื่องๆ พล็อตก็เหมือนกันไปหมด และมิวสิกวิดีโอในช่องเอ็มทีวีที่เปิดวนเวียนทั้งวัน

     เทียบกับยุคก่อนหน้านั้น ในทศวรรษ 60-70 พวกบุปผาชน หรือ Hippies ทำให้โลกมีสีสันฉูดฉาดไปด้วยมวลดอกไม้ในอุดมคติ แต่ในยุค 80s โลกถูกครองโดย Yuppies หรือ Young Urban Professional สภาพสังคมโลกที่กลับสู่ความสงบสุขหลังจากสงครามที่ยืดเยื้อ เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวและเริ่มเข้าสู่วัฏจักรฟองสบู่ ทุกคนมั่งคั่ง ร่ำรวย สุขสบาย สนใจแต่เรื่องบันเทิงเริงรมย์ หนังยอดฮิตในยุคสิ้นสุด 70s ก็คือหนังเต้นรำอย่าง Saturday Night Fever (1977) หรือไม่ก็หนังเชิดชูความฝันชาวอเมริกันอย่าง Rocky (1976)

 

     Dead Poets Society ออกฉายในปี ค.ศ. 1989 เป็นปฏิกิริยาตอบโต้กับสังคมที่น่าเบื่อและกรอบธุรกิจคับแคบของยุคนั้น มันปลุกวิญญาณขบถของคนหนุ่มสาวให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากสูญหายไปนานเกือบทศวรรษ ด้วยฉากจบเรื่องที่น่าตื่นตะลึงและเร้าอารมณ์

     O Captain! My Captain! มาจากกวีของ วอลต์ วิตแมน เมื่อปี ค.ศ. 1865 เปรียบเทียบประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านสงครามกลางเมืองอันแสนเศร้ามาหมาดๆ ว่าเป็นเหมือนเรือรบที่เพิ่งเอาชัยชนะกลับมาได้อย่างสะบักสะบอม แต่ตัวกัปตันเรือดันมาด่วนเสียชีวิตไปอย่างน่าเศร้า ก่อนที่เขาจะพาเรือกลับเข้าถึงฝั่ง กัปตันเรือก็เปรียบถึง อับราฮัม ลินคอล์น ที่เพิ่งถูกลอบสังหารไปนั่นเอง

     ตัวละครคุณครูคีตติ้งจึงคลิกและลงล็อกสุดๆ เขากลายเป็นไอคอนแห่งยุคสมัย ผู้มายุติความน่าเบื่อของยุค 80s และมาจุดประกายยุค 90s นำพาคนหนุ่มสาวให้เดินไปสู่ทางเลือกอื่นๆ หรือ Alternatives มีความเป็นปัจเจกชนที่บูชาความแตกต่าง ความเป็นตัวของตัวเอง ไม่อยู่ในกระแสหลักเหมือนคนอื่นๆ หรือที่เรียกว่า Independent

     นิตยสารทางเลือก ค่ายเพลงอินดี้ หนังนักเรียน หนังสือทำมือ ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างของปฏิกิริยาหลังจากยุค 80s ในบ้านเรา สิ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ผลิตผลงานออกมาโดดเด่นในช่วงนี้ ส่วนใหญ่อ้างอิงถึงคุณครูคีตติ้ง หนัง Dead Poets Society และตำนานของ โรบิน วิลเลียมส์ ด้วยกันทั้งนั้น ราวกับเป็นต้นธารของความคิดอ่านของคนรุ่นนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์ใหญ่ที่ยังคงดำเนินไปตลอดยุคสมัยของมัน
นอกจาก O Captain! My Captain! แล้ว ยังมีบทกวีของ วอลต์ วิตแมน อีกชิ้นหนึ่งที่ถูกนำมาอ้างอิงในหนัง เพื่อให้คนหนุ่มสาวหันมาสนใจเรื่องจิตใจภายใน ความดีและความงาม 

     ในฉากที่ครูคีตติ้งบอกถึงความสำคัญของบทกวีว่า

เราไม่ได้อ่านหรือเขียนบทกวีเพราะมันน่ารัก เราอ่านและเขียนบทกวีเพราะเราเป็นมนุษย์ และมนุษย์นั้นเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก การแพทย์ กฎหมาย ธุรกิจ วิศวกรรม ล้วนเป็นสายงานทรงเกียรติและจำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่บทกวี ความงาม ความโรแมนติก ความรัก …เหล่านี้ต่างหากที่เรามีชีวิตอยู่เพื่อ (สำนวนแปลโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์, ไบโอสโคป)

     Carpe diem หรือ Seize the Day เป็นโมทีฟ (motif) ของหนังทั้งเรื่อง ทุกคนจะจำวลีนี้ได้เมื่อเดินออกจากโรง มันปลุกเร้าให้เราขบถ และทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม และนี่เป็นสุนทรียะแบบหนึ่งของยุคนั้น เป็นหน่ออ่อนของคนหนุ่มสาวนับล้านที่เจริญเติบโตงอกงามอย่างดี ในทศวรรษ 90 และหลังสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา

 

     พอเวลาผ่านไป 25 ปี ยุคสมัย ผู้คน และอะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ในหนัง Boyhood เมื่อปี 2014 เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวสองคนที่เพิ่งเรียนจบไฮสกูล กำลังจะก้าวเข้าสู่ชีวิตมหาวิทยาลัย นั่งคุยกันระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในช่วงหยุดพักของชีวิต พวกเขาคุยกันว่า The Moment Seizes Us

     ทุกคนเข้าไปดู Boyhood โดยมีข้อมูลเบื้องต้นว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายทำนานถึง 12 ปี ด้วยทีมงานและนักแสดงชุดเดิมทั้งหมด ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลหลักๆ ที่คนส่วนใหญ่ยกมาแสดงความชื่นชมหนังเรื่องนี้

     เราอยู่กันมาจนถึงยุคสมัยที่ไม่มีใครสามารถอดรนทนรออะไรได้เลย แค่คิดอะไรในหัวแวบเดียว มีคำคมผุดขึ้นมาเพียงประโยคสองประโยค หรือโกรธเกลียดเครียดเรื่องอะไรขึ้นมาปุ๊บ ก็ต้องรีบโพสต์สเตตัสบอกคนอื่น การที่เพิ่งได้มารู้ว่ามีใครสักคนอดทนทำงานคราฟต์ๆ ชิ้นเดียวมานาน 12 ปี มันจึงกลายเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน

     ความเนิบช้า ความเนิ่นนาน กลายความสุนทรีย์ในยุคสมัยแห่งความเร่งรีบ เวลาคือความหรูหราฟุ่มเฟือยแบบใหม่ ในยุคสมัยที่เราใช้เทคโนโลยีมาขยายศักยภาพออกไป จนสามารถเอาชนะขีดจำกัดแทบทุกเรื่อง ยกเว้นเพียงเรื่องเดียว …คือเวลา

     เราทุกคนยังมีเวลาเท่าเดิม และมีเท่ากัน ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางอย่างเรา ต้องแข่งกันประหยัดเวลาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน แต่สำหรับ Boyhood เป็นโลกของชนชั้นสูงอย่างแท้จริง พวกเขาปล่อยเวลาทิ้งขว้างไป เพื่อช่วยเพิ่มสุนทรียภาพของงาน

     สุนทรียะแบบเดียวกับ Boyhood เริ่มพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ รอบๆ ตัวเรา และมันน่าจะเป็นเทรนด์ใหญ่ของคอนเทนต์ทั้งหลายทั้งปวงที่แสดงออกถึงความคราฟต์ โดยไม่ต้องเร่งรีบทำงาน เร่งรีบนำมาโพสต์อวดกัน เร่งรีบเรียนรู้สัจธรรมและปรัชญายิ่งใหญ่ เร่งรีบรวบรวมและขยายใหญ่ เพื่อเชิดชูความสำเร็จ

     ผมดู Boyhood แล้วนึกถึง Kinfolk ไม่ใช่เพราะโทนสีและคอมโพซิชันในภาพมันเหมือนกัน แต่เพราะมันให้ความรู้สึกแก่ผู้เสพถึงความรุ่มรวยเวลาเหมือนกัน เวลาใน Kinfolk แสดงออกผ่านทางโทนสีภาพแบบ daylight สะท้อนให้เห็นไลฟ์สไตล์ของคนที่อยู่ในภาพนั้น ว่าสามารถใช้เวลาตอนกลางวันที่ควรเป็นเวลางาน ไปกับกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจ แสงแฟลร์เมื่อพระอาทิตย์อยู่ระดับต่ำในเวลาเช้าและเย็น แปลว่าคนในภาพนั้นไม่ต้องเร่งร้อนออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้าครึ่งเพื่อไปทำงาน และสามารถกลับถึงบ้านได้ในตอนเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งแน่นอนว่าคนแบบนี้ต้องร่ำรวยและสุขสบายกว่าเรา พวกเขาดริปกาแฟ และทำขนมปังคราฟต์ ทำงานฝีมือ

     ดังนั้น ไม่ว่า Boyhood จะน่าเบื่อแค่ไหน แก่นสารจะเบาบางอย่างไร แต่เราก็อดชื่นชมมันไม่ได้ เราต้องแสดงออกว่าสามารถอภิเชษฐ์ความหรูหราของเวลา 12 ปีในการถ่ายทำ และคนดูต้องใช้เวลานั่งดูอย่างเมื่อยล้าเกือบ 3 ชั่วโมง โดยไม่มีฉากใดดูน่าสนุก ตื่นเต้น เพียงเพื่อจะได้รู้ว่าชีวิตก็เท่านี้

     The Moment Seizes Us หมายความว่าชีวิตเราก็แค่ดำเนินไปตามจังหวะเวลาในแต่ละช่วงวัย ไม่มีอะไรมากกว่านั้น หนุ่มสาวรักกันจนแต่งงาน มีลูกมีครอบครัว ต่อมาก็เลิกกัน พ่อแม่เลี้ยงลูกเดี่ยว เด็กชายโตเป็นหนุ่ม เด็กหญิงโตเป็นสาว ดูดบุหรี่ กินเหล้า มีเซ็กซ์ เข้ามหาวิทยาลัย แล้วก็วนกลับไปลูปเดิม

     เราไม่ได้คว้าวันเวลาเอาไว้ วันเวลาต่างหากล่ะ ที่คว้าเราไว้ – ประโยคหนึ่งซึ่งน่าจะคมคายที่สุดแล้วในหนังเรื่องนี้ ซึ่งแทบจะหามาอีกไม่ได้เลย 12 ปีที่ใช้เวลาถ่ายทำ ความมหัศจรรย์ที่แท้จริงที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์มคือความมหัศจรรย์ตามธรรมชาติของร่างกายนักแสดง ที่เติบโต เปลี่ยนผ่าน และร่วงโรยไป มันไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

     ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับ Seize the day ที่สอนให้เราเป็นองค์ประธาน เป็นผู้ส่งแรงกระทำ และเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภายนอก อีกทั้งยังขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับขนบของคอนเทนต์ทั้งปวงที่ต้องรวดเร็ว ต้องคมคาย ต้องยิ่งใหญ่อลังการ และต้องบอกประเด็นแก่นสารอะไรพิเศษๆ ให้กับผู้เสพ

     ผมไม่ได้จะตัดสินว่ามันผิดหรือถูก มันแค่แสดงถึงสภาวะของยุคสมัย ที่เราตกอยู่ท่ามกลางไอเดียที่เปลี่ยนแปลง แสดงถึงปฏิกิริยาที่มีต่อยุคสมัยก่อนหน้ามัน และมันก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 


หมายเหตุ: เรียบเรียงใหม่จากหลายบทความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อปี ค.ศ. 2014