พวกน้องๆ ที่ทำงานด้วยกัน มักจะชอบแกล้งอำผมด้วยการทำท่าทำทางล้อเลียน
ผมเป็นคนประเภทที่ชอบเผลอทำมือทำไม้เวลาตั้งใจพูดอะไรจริงจัง เช่น เมื่อต้องอธิบายความคิดอะไรออกมาในที่ประชุม มักจะต้องออกท่าทางมือไม้เปะปะไปโดยไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็ตอนโดนอำและเห็นคนอื่นหัวเราะคิกคัก ผมไม่เข้าใจว่าหัวเราะอะไรกัน จนพวกเขาเฉลยว่ากำลังทำท่าเลียนแบบผมอยู่
มันมีอยู่ด้วยกันสองท่า ท่าแรกคือการยกมือข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมา ทำเหมือนกำลังถือประคองวัตถุอะไรสักอย่างอยู่ในอุ้งมือ แล้วหมุนมันไปในทิศตามเข็มนาฬิกา คล้ายกับตอนที่เราเปลี่ยนหลอดไฟบนเพดาน กับท่าที่สองที่เผลอทำบ่อยพอๆ กัน ก็คือการยกมือทั้งสองขึ้นมาวางไว้บนโต๊ะตรงหน้า กางนิ้วโป้งออกให้เป็นมุมสี่สิบห้าองศากับอีกสี่นิ้วที่เหลือ แล้วเลื่อนมันมาประชิดเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมตรงหน้า
ทุกครั้งที่เรามาประชุมกัน ในฐานะที่เป็นพี่ใหญ่ของทีม ผมเหมือนมีหน้าที่ต้องช่วยทีมในการค้นหาข้อสรุปบางอย่างร่วมกัน โดยการรวบรวมข้อมูลและไอเดียหลากหลายเข้ามา จับประเด็นหลักออกมาชูให้เห็นเด่นชัด แล้วเรียบเรียงให้กลายเป็นเรื่องราวเนื้อหา พวกเขาบอกว่า ผมมักจะเผลอทำท่าทางแบบนี้เสมอ
มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ อาจเป็นเพราะสมองกำลังใคร่ครวญความคิดที่เป็นนามธรรมล่องลอย และต้องการจะนำออกมาแสดงเป็นรูปธรรมสู่ภายนอก ส่วนหนึ่งก็ด้วยระบบภาษาที่เราใช้พูดจาสื่อความกัน และอีกส่วนหนึ่งพร้อมๆ กันนั้น มันก็แสดงออกผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย
คนส่วนใหญ่น่าจะเผลอๆ เป็นแบบเดียวกันนี้ เพียงแต่ทำท่าทางแตกต่างกันไป บางคนอาจจะเป็นการชี้มือชี้ไม้ หรือโบกมือไม้ปัดป่ายไปมา สำหรับผมชอบเป็นรูปทรงหรือรูปแบบบางอย่าง พอย้อนคิดทบทวนดูก็รู้สึกแปลกใจ ที่เวลาทำท่าทางแบบนี้แล้วมันช่วยให้สมองทำงานได้ง่ายขึ้น ความคิดลื่นไหล คล้ายเรากำลังได้หยิบจับความคิดที่ล่องลอยเหมือนอากาศ ให้กลายเป็นชิ้นส่วนของวัตถุสสารมาวางเรียงอยู่ตรงหน้า
ผมนึกถึงเกมปริศนาที่ชอบเล่นตอนเด็กๆ จำไม่ได้ว่าตอนนั้นใครเป็นคนซื้อมาไว้ที่บ้านเรา มันชื่อว่าเกมแทนแกรม
แทนแกรมเป็นเกมง่ายๆ ประกอบด้วยชิ้นส่วนรูปเรขาคณิต สามเหลี่ยมมุมฉากขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ สี่เหลี่ยมด้านขนาน สี่เหลี่ยมคางหมู สี่เหลี่ยมจัตุรัส รวมทั้งหมด 7 ชิ้น กติกาการเล่นคือ ให้นำชิ้นส่วนทั้งหมดมาวางเป็นรูปแบบต่างๆ โดยมีหนังสือคู่มือการเล่นเล่มหนาๆ ภายในมีรูปแบบกำหนดเป็นโจทย์ให้เล่นตามเป็นร้อยเป็นพันแบบ เช่น รูปคนวิ่ง รูปคนตกปลา เรือใบ ปราสาท เรื่อยไปจนถึงรูปแบบพื้นฐาน สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ฯลฯ
มันก็เป็นเหมือนเกมปริศนาอื่นๆ คือสำหรับคนที่ไม่ได้เล่น ก็จะไม่เข้าใจว่ามันสนุกตรงไหน แค่การวางชิ้นส่วนเรขาคณิตให้เป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการ โดยแทบไม่มีอุปกรณ์อะไรหรูหราหรือกราฟิกอะไรสวยงาม แต่ถ้าใครเคยเล่นก็จะรู้ว่ามันเสพติดมากๆ ไม่แพ้เกมเททริสและเกมงู
รูปแบบที่มีเรื่องราวและความหมายชัดเจนนั้นถือเป็นโจทย์ที่ง่าย อย่างรูปคนวิ่ง รูปคนตกปลา เพราะโครงขอบของรูปเป็นเส้นหยักไปมา ทำให้เราพอมองออกว่าตรงจุดนั้นต้องวางชิ้นส่วนใด ในขณะที่รูปแบบที่เป็นรูปเรขาคณิตพื้นฐาน อย่างสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมนั้น ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยาก เพราะโครงขอบของรูปโจทย์นั้นตัดตรงและพื้นผิวของรูปก็มืดดำ จนแทบมองไม่ออกเลยว่าจะนำแต่ละชิ้นส่วนมาวางเรียงอย่างไร
ตอนเด็กๆ ผมเล่นมันแบบเป็นวันๆ ตามประสาเด็กที่ชอบเล่นคนเดียว เล่นไปจนชำนาญถึงขั้นที่ไม่ต้องใช้ชิ้นส่วนทั้งเจ็ดนั้นจริงๆ แค่พกหนังสือคู่มือติดตัวไว้ตลอดเวลา ระหว่างนั่งรถเมล์ไปไหนมาไหน ก็เปิดออกมาแล้วมองดูรูปแบบที่เป็นโจทย์เหล่านั้นไปสักพัก ก็เห็นเป็นภาพของชิ้นส่วนย่อยๆ เหล่านั้นวางเรียงกันอยู่ภายในโครงขอบนั้น
เกมแทนแกรมน่าจะมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของผมอย่างมาก มันทำให้ผมชอบอยู่คนเดียว ขับเคี่ยวกับความคิดของตัวเอง หยิบชิ้นส่วนที่แตกต่าง หลากหลาย กระจัดกระจาย มาวางเรียงตรงหน้า แล้วหมุนสลับมุมไปมา พลิกด้านซ้ายขวา วางเรียงเข้าด้วยกันจนกลายเป็นภาพที่มีเรื่องราวและความหมาย
ทุกครั้งที่เขียนหนังสือและนั่งประชุม ผมจึงมักเผลอทำมือเหมือนกำลังหมุนชิ้นส่วนความคิดไปรอบๆ แล้วนำมาวางในกรอบรูปสามเหลี่ยมสี่เหลี่ยม ที่สอบเข้ามา แคบเข้าๆ และชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
จำได้ว่า โตมร ศุขปรีชา หัวหน้าเก่าของผม บอกว่าผมเป็นคนประเภทที่ถนัดลงไปทำงานตักไขมันในท้องวาฬ มากกว่าจะเป็นคนที่พาเรือออกไปผจญท้องทะเล เขาอ้างอิงถึงตัวละครในนิยายเรื่อง โมบีดิก (Moby-Dick) หมายความถึงรูปแบบการทำงานภายใต้กรอบจำกัดของโจทย์และข้อจำกัดของทรัพยากรเท่าที่มี
ในการเขียนหนังสือ ผมใช้วิธีคิดแบบเดียวกันนี้ ผู้อ่านหลายคนเข้าใจสไตล์ของผมดี ว่าไม่ใช่การออกเดินทางไกลเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ แต่คือการหยิบจับสิ่งต่างๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกันบ้าง ไม่เกี่ยวข้องกันบ้าง นำมาวางเรียงสลับไปมาจนกลายเป็นบทความที่มีประเด็นแคบๆ เพียงหนึ่งเดียว
ในการประชุมก็เช่นกัน ไอเดียไม่ได้มาจากการที่ผมสั่งการให้ทุกคนมุ่งหน้าไป แต่มันมาจากความแตกต่างหลากหลายของทุกคนในทีมเรา เปรียบเหมือนชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นประเด็นเดียวกัน เวลาน้องๆ จะไปสัมภาษณ์หรือทำสกู๊ปเรื่องอะไร ผมถามเขาก่อนเสมอว่าประเด็นหลักคืออะไร ขอแค่หนึ่งเดียวที่คุณจะต้องระบุมันออกมาให้ได้
ผมเพลิดเพลินกับการทำงานแบบนี้ มันเหมือนตอนเด็กๆ ที่นั่งอยู่บนรถเมล์ แล้วเปิดดูหนังสือคู่มือเกมแทนแกรมไปเรื่อยๆ ตลอดทาง ชิ้นส่วนรูปทรงเรขาคณิตทั้งเจ็ดถูกจับเคลื่อนย้ายไปมาในจินตนาการ พร้อมกับสองมือที่เคลื่อนไหวไปมาโดยไม่รู้ตัว