งานอาสา

งานอาสาที่ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทุกคนเพียงแค่อยากช่วย อยากทำ

1.

สองสามปีที่ผ่านมา ผมไปเป็นอาสาสมัครให้กับกลุ่ม TEDxBangkok ในฐานะของคิวเรเตอร์ ทำให้มีโอกาสได้ร่วมงานกับคนรุ่นใหม่ไฟแรงมากหน้าหลายตา มาในปีนี้ ผมน่าจะมีส่วนเข้าไปช่วยเขาทำคอนเทนต์ออนไลน์บ้างนิดหน่อย ก็หวังว่าน่าจะได้พบปะและร่วมงานกับอีกหลายคน

     การได้ร่วมงานกับคนกลุ่มนี้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากไปกว่าเดิม ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างชัดเจนผ่านมุมมองและแนวคิดของผู้คนเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกวงการสื่อและเป็นคนต่างรุ่น ต่างยุคสมัย ความแตกต่างที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือมุมมองที่มีต่อชีวิตและการงาน

     ในงาน TEDxBangkok เมื่อสองปีก่อน ที่หลังเวที ผมคุยกับเพื่อนคิวเรเตอร์คนอื่นๆ เราตั้งคำถามกันว่า ทำไมงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่จัดโดยอาสาสมัครล้วนๆ ถึงได้ออกมาดีแบบนี้?

     ผมตอบกลับไปว่า เพราะนี่คืองานอาสาสมัครล้วนๆ มันจึงออกมาดี

     พวกเราลองช่วยกันคำนวณบวกลบคูณหารต้นทุนการจัดงาน ว่าถ้าเราร่วมกันเปิดบริษัทรับจัดงานอีเวนต์ทอล์กแบบนี้ ใช้เวนิวใหญ่ขนาดนี้ มีซัพพลายเออร์มากมายขนาดนี้ ใช้สปีกเกอร์เป็นคนมีชื่อเสียงระดับนี้ และมีทีมงานอีกเป็นร้อยๆ คน เราจะต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และต้องหาสปอนเซอร์ให้ได้มากกว่านี้อีกกี่เท่าถึงจะจัดงานแบบนี้ได้

     คำตอบคือมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ในโลกแห่งความจริง เราจัดงานแบบนี้ไม่ได้ การทำงานในโลกแห่งความจริงแตกต่างจากนี้ราวฟ้ากับเหว

 

2.

     บางทีสิ่งที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับ TED เท่าไหร่ เพราะมันก็แค่เป็นนอนโปรฟิตออร์แกไนเซชันที่ปล่อยไลเซนส์มาให้ใครก็ได้ไปใช้จัดงานในรูปแบบทอล์กคล้ายๆ กันนี้ สิ่งที่ผมกำลังจะเขียนถึงน่าจะเกี่ยวกับทีมงานและการวางระบบการทำงานของทีมนี้มากกว่า

     สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกก็คือ โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป จนทำให้คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยออกมาไม่ยอมเดินต่อไปบนเส้นทางเดิมๆ เงินทองและความมั่นคงไม่ใช่คำตอบสำหรับคนรุ่นใหม่ หรือถึงแม้คนรุ่นใหม่จะยังคงอยากได้เงินทองและความมั่นคงอยู่ แต่พวกเขาคิดว่ามีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่านั้น

     แล้วอะไรที่กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ทำงาน ถ้าไม่ใช่เงินทองและความมั่นคง

     ในหนังสือ The Upside of Irrationality ของ แดน อาเรียลี อธิบายถึงผลงานกับค่าตอบแทน เขาบอกว่าการกระตุ้นการทำงานด้วยการให้รางวัลกับการลงโทษไม่ได้ให้ผลลัพธ์ชัดเจนทุกกรณี เพราะมนุษย์มีความคิดซับซ้อนกว่านั้น งานแบบซ้ำซากจำเจและใช้ทักษะต่ำจะตอบสนองได้ดีกับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น แต่งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือทักษะเฉพาะเจาะจงจะไม่ตอบสนองกับข้อเสนอเรื่องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น

     ดังนั้น พวกผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเงินเดือนมากกว่าพนักงานระดับล่างหลายสิบเท่า ถึงแม้จะได้เงินโบนัสประจำปีในเรตเดียวกับพนักงานทุกคน เขาก็ไม่ได้บริหารธุรกิจได้ดีขึ้นในอัตราเดียวกัน รวมถึงผลงานของนักคิด นักเขียน ครีเอทีฟ ฯลฯ งานแบบนี้จึงไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยค่าตอบแทน

     แล้วงานเหล่านี้ถูกกระตุ้นด้วยอะไรล่ะ?

     แดเนียล เอช. พิงก์ อธิบายถึงสิ่งที่กระตุ้นให้คนทำงานที่แท้จริง ในหนังสือ Drive คนทำงานต้องการสามสิ่งสำคัญ ประกอบด้วย

     1. Autonomy หมายถึงการมีอิสระที่เขาสามารถควบคุมตัวเอง สั่งการหรือกำหนดการทำงานด้วยตัวเอง

     2. Mastery หมายถึงการที่เขาได้ใช้ความสามารถพิเศษหรือความถนัดเฉพาะตัวอย่างเต็มที่ในการทำงาน

     3. Purpose งานนั้นให้จุดมุ่งหมายที่สำคัญและสูงส่งขึ้นไปกว่าตัวคนทำงาน

     เรื่อง Purpose นี้คล้ายกับคอนเซ็ปต์ Start With Why ของ ไซมอน ซินเนก ที่บอกว่าผู้นำองค์กรจะต้องเริ่มต้นคิดด้วยคำถามว่า ‘Why’ คือต้องถามว่าทำไมเราจึงมาทำงานนี้ ทำไมจึงมีองค์กรนี้ แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาลงในรายละเอียดการทำงาน ว่าจะทำอย่างไร คือ ‘Why’ และทำอะไร คือ ‘What’ ในขณะที่องค์กรแบบเก่ามักจะเริ่มต้นที่จะทำสินค้าอะไร จะผลิตออกมาอย่างไร แล้วค่อยหาคำอธิบายมาใช้เพื่อโฆษณาว่า ‘ทำไม’ ลูกค้าจึงควรอุดหนุนเรา

     คนรุ่นใหม่จะรู้สึกอยากทำงานให้คุณหรือไม่? มันขึ้นอยู่กับว่าเขาสนใจ ‘Why’ ของคุณหรือเปล่า คุณเองในฐานะผู้นำองค์กรหรือทีมงาน มี Why แล้วหรือยัง? งานนี้มีจุดมุ่งหมายหรือ Purpose ที่สำคัญและสูงส่งแค่ไหน เขาจะยิ่งรู้สึกว่ามันท้าทายที่จะมุ่งไปทางนั้น ด้วยการแสดงฝีมือ ความถนัด หรือ Mastery ของเขาออกมาอย่างเต็มกำลัง และต้องการให้คุณเปิดโอกาสให้เขามีอิสระในการทำงาน หรือ Autonomy อย่างเต็มที่

     ผมคิดว่าอาสาสมัครทีมนี้ตอบโจทย์นี้ทุกข้อ สโลแกนว่า Idea Worth Spreading เป็นนามธรรมลอยๆ มากพอที่จะเป็น Why หรือ Purpose ให้กับคนหนุ่มสาวที่เข้ามาร่วมงาน มันเปิดกว้างให้ทุกคนตีความให้สอดคล้องกับตัวเอง ว่าเขาจะมีจุดประสงค์อะไรในการเข้ามาทำ เขาอยากทำอะไร และเขาจะทำอะไรได้บ้าง

     โดยไม่เกี่ยวว่าจะมีเงินทองหรือความมั่นคงอะไรให้เลยด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่เวลาพวกเรานัดประชุมกัน แต่ละคนช่วยกันควักเงินค่ากาแฟเพื่อต่อเวลาเช่าห้องโคเวิร์กกิ้งสเปซไปเรื่อยๆ ไม่มีใครยอมให้การประชุมจบลงง่ายๆ เพราะว่ามันสนุก ท้าทาย

     ทุกคนนำ Mastery ของตัวเองออกมาแสดงให้เพื่อนประจักษ์ บางคนมีเน็ตเวิร์กรู้จักผู้คนกว้างขวาง บางคนเชี่ยวชาญการสร้างเส้นเรื่อง บางคนคิดแบบคอนเซปชวล คอยจับประเด็นเนื้อหาทั้งหมด บางคนที่รู้เรื่อง Design Thinking ก็จะช่วยนำการประชุมไป

     ในที่ประชุม ไม่มีลำดับขั้น ไม่มีหัวโต๊ะ ไม่มีคนเคาะ มีแค่โพสต์อิต ไม่มีคำสั่งการ เพราะมันเป็นงานอาสาสมัครไม่ได้เงินแบบนี้ จึงไม่มีใครกล้าสั่งใคร มีแค่คำขอร้องจากเพื่อนว่ามาช่วยกันหน่อยนะ และทุกคนก็จะมีอิสระ มี Autonomy ที่จะรับผิดชอบส่วนงานของตัวเองไป จนกระทั่งการค้นหาสปีกเกอร์และเพอร์ฟอร์เมอร์ครบถ้วน สคริปต์สำเร็จเสร็จสิ้น ดำเนินการซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่า และปรากฏให้เห็นเป็นผลพวงของแรงงานอาสาสมัครนับร้อยในวันงานจริง

 

3.

     คำถามต่อไป แล้วถ้ามีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเกิดอะไรขึ้น? สมมติว่าไลเซนส์โฮลเดอร์ออกมาประกาศว่าผลประกอบการในปีที่ผ่านมาเราดีเยี่ยม มีเงินกำไรสะสมต่อเนื่องไปสู่การจัดงานปีหน้าล้นเหลือ ทำให้อาสาสมัครทุกคนในปีหน้าจะได้รับเงินเดือน

     คำตอบคือ มันจะไม่เกี่ยวกับผลงานเลย มันจะไม่ได้ทำให้คนที่อยู่กันตอนนี้ทำงานออกมาได้ดีกว่านี้ และก็ไม่ได้จูงใจให้คนหน้าใหม่เข้ามาทำงานนี้มากนัก แถมมันอาจจะทำให้สปิริตบางอย่างในทีมเปลี่ยนแปลงไป

     ในหนังสือ The Upside of Irrationality อ้างถึงโครงการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ในตอนแรกคนในเมืองนี้โหวตให้การสนับสนุนมากกว่า ต่อมาเมื่อทางการประกาศว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชยความเดือดร้อนให้ ผลโหวตในตอนหลังกลับมีผู้สนับสนุนลดลง

     คนส่วนใหญ่อยากเสียสละและทำอะไรเพื่อคนอื่น ถ้ามันไม่เหลือบ่ากว่าแรงมากนัก แต่ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตีค่าทุกอย่างเป็นเงินที่นำมาแลกเปลี่ยนกัน และมันก็ทำให้เราสูญเสียสปิริตนี้ไปในที่สุด

     เมื่อปีที่แล้ว หัวหน้าทีมคิวเรเตอร์ถามผมในฐานะอาสาสมัครที่อายุมากที่สุดในทีม ว่าประทับใจอะไรมากที่สุดกับการมาทำงานนี้ ผมบอกว่าผมชอบสปิริตของการให้ ชอบการทำงานอาสาสมัคร มันเป็นสิ่งที่ผมหาแทบไม่ได้ และมันเลือนรางเต็มทีในโลกการทำงานในชีวิตจริง

     สปิริตของทีมทำให้ผมนึกถึงตอนยังเป็นเด็กนักศึกษา เวลาเราไปค่ายอาสาฯ เราจะช่วยกันแบกข้าวของ ช่วยกันทำงาน มีงานเข้ามา เราจะแย่งกันเข้าไปช่วย ไม่มีใครเกี่ยง ไม่มีใครถามถึงค่าแรง ทุกคนแค่อยากช่วย อยากทำ

     ผมชอบความรู้สึกที่ว่า เมื่อเรามีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรเข้ามา เมื่อเรามีงานหนักหนาอะไรเข้ามา แล้วทุกคนในทีมจะเข้ามารุมช่วยกัน ช่วยได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีใครโกรธกัน เพราะนี่มันคืองานอาสาสมัคร นี่คืองานในอุดมคติ

     เท็ดเป็นโลกการทำงานในอุดมคติ มีหลายคนมีหน้าที่การงานประจำที่ดี พอมารับทำงานอาสาสมัครที่นี่ แล้วสักพักก็กลับไปลาออกจากงานประจำ จนเรามีแฮชแท็กตลกๆ ประจำกลุ่มเรา ว่า #ทำเท็ดลาออก

     ในขณะที่เด็กๆ ที่เพิ่งเรียนจบแล้วมาทำงานอาสาสมัคร ก็เริ่มตั้งคำถามกับหน้าที่การงานของตัวเอง จนทำให้หลายคนยอมเป็นฟรีแลนซ์ไปยาวๆ เพื่อเลือกรับงานที่เหมาะกับตัวเองเท่านั้น หลายคนยอมว่างงานโดยสมัครใจ แล้วไปหาประสบการณ์ทำงานอะไรก็ได้ ได้หรือไม่ได้ค่าตอบแทนก็ได้ เพียงแค่ต้องการความท้าทายแปลกใหม่กว่าจะเดินเข้าระบบเก่า หลายคนไปทำงานในองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม หรือในองค์กรเล็กๆ ที่ไม่ได้เน้นความมั่นคงหรือรายได้ ไม่ใช่อาชีพการงานแบบเดิมๆ ที่คนรุ่นก่อนคุ้นเคยกัน

     นี่คือปรากฏการณ์ที่ผมสังเกตเห็นกับคนรุ่นใหม่ พวกเขาให้คุณค่ากับเรื่องงานในแบบที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า นอกจากเรื่องเงินทองและความมั่นคง ผมรู้ว่ามีสิ่งอื่นที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน