ทุกครั้งที่ล้างรถ ผมจะนึกถึงหนังเรื่อง The Karate Kid ไม่ใช่ฉบับรีเมกที่เพิ่งฉายโรงไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน แต่เป็นฉบับดั้งเดิมสุดคลาสสิกตั้งแต่ปี 1984 ที่ผมเคยดูตั้งแต่ตอนเป็นเด็กๆ ยังเรียนอยู่ชั้นประถมอยู่เลย มันเป็นหนังวัยรุ่นแบบป๊อปๆ ทั่วไป ไม่ได้มีความโดดเด่นในด้านศิลปะอะไรมากมาย ทุกอย่างดำเนินไปตามสูตรสำเร็จของฮอลลีวูด แต่กลับฮิตระเบิดเถิดเทิง ทำรายได้ถล่มทลายในยุคนั้น
ด้วยโครงเรื่องซ้ำซากของเด็กหนุ่มในโรงเรียนมัธยม เป็นเด็กแบบ underdog ในโรงเรียนหน่อยๆ พ่ายแพ้ ล้มเหลว สาวเมิน และถูกเพื่อนแกล้งในตอนต้น เขาตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคนานา ฝึกฝนวิชาคาราเต้ แล้วก็ได้รับชัยชนะบนสังเวียน แล้วก็มีความสุขความสำเร็จตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภาพจำติดตาติดใจและผมนึกขึ้นมาทุกครั้งเมื่อนึกถึงหนังเรื่องนี้ คือฉากอาจารย์คาราเต้ให้พระเอกมาช่วยงานลงแวกซ์ขัดสีรถไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มือขวาถูวนไปทางขวา มือซ้ายถูวนไปทางซ้าย แล้วท่องในใจว่า… Wax on… Wax off… Wax on… Wax off… ทำซ้ำอยู่แบบนั้นทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ จนกระทั่งรถทั้งคันเงางามเป็นประกาย
ตอนซื้อรถมาใหม่และกำลังเห่อ ผมไปซื้อแวกซ์กระปุกละหลายร้อยมาลองทำแบบนั้นด้วยตัวเอง พอล้างรถเสร็จ รีบเช็ดให้แห้ง แล้วก็เอาฟองน้ำควักแวกซ์ในกระปุกมาโปะลงบนตัวถัง ขัดวนไปทางซ้ายทีทางขวาทีเป็นชั่วโมงตามอย่างที่เคยเห็นในหนัง ใครที่เคยทำเองจะรู้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่งานสบายด้วยสองมือเปล่า กว่าครีมสีขาวข้นเหนียวหนืดจะหลอมรวมกลายเป็นชั้นฟิล์มใสเคลือบรถทั้งคันไว้ ตั้งแต่หลังคารถยันลงมาถึงขอบสเกิร์ตรอบคัน สองแขนก็หมุนวนไปแบบนั้นเป็นร้อยเป็นพันรอบจนเมื่อยล้าสุดจะทานทน เวลาวันหยุดต้องสูญเปล่าไปครึ่งค่อนวัน หลังจากนั้นมาแวกซ์แพงๆ ที่ซื้อมาแต่ใช้ไปแค่ครั้งหรือสองครั้งกระปุกนั้นก็กองอยู่ในห้องเก็บของ
ผมเรียนรู้ว่ามันสบายกว่าและได้ผลลัพธ์ดีกว่า ที่ในช่วงต้นเดือน เมื่อเงินเดือนออก เราต้องไปจับจ่ายข้าวของเข้าบ้านอยู่แล้ว ก็เอารถไปจอดที่ร้านคาร์แคร์ในลานจอดของศูนย์การค้าด้วยเลย แล้วจ่ายเงินเพื่อซื้อความสบายและเวลาด้วยบริการล้างขัดสีเพียงไม่กี่ร้อย ทางร้านสมัยนี้เขาไม่ได้ใช้คนขัดกันแล้ว แต่ใช้เครื่องจักรพลังสูงมาแทน พอเราซื้อของเสร็จก็ไปรับรถเงาวับขับกลับบ้าน นอนตีพุงเปิดซีรีส์เรื่องใหม่ดูได้สบาย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภาพการขัดแวกซ์รถในหนัง The Karate Kid ย้อนกลับเข้ามาในห้วงคำนึงอีกครั้ง ตอนที่ผมกำลังนอนสไลด์หน้าจอมือถือไปเรื่อยๆ แล้วเห็นคลิปโฆษณาซีรีส์เรื่องใหม่ Cobra Kai ของค่ายยูทูบเรด มันเป็นภาคต่อของหนังเรื่องนี้ เมื่อเวลาผ่านไปสามสิบสี่สิบปีตามท้องเรื่อง และตามเวลาในชีวิตจริงของผู้ชมตั้งแต่ยุค 80s ตัวละครในเรื่องนั้นได้ดำเนินชีวิตไปบนหนทางที่มีความเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปอย่างไร พระเอกที่เป็นผู้ชนะในวันนั้นกลายเป็นนักธุรกิจร่ำรวยประสบความสำเร็จ ในขณะที่ผู้ร้ายในวันนั้นซึ่งพ่ายแพ้บนสังเวียน กลับตาลปัตรกลายเป็นชายวัยกลางคนผูู้ล้มเหลวสิ้นท่า
“
สังคมนี้มันให้รางวัลแต่กับผู้ชนะเท่านั้น เมื่อใครได้เริ่มต้นด้วยชัยชนะสักครั้ง มันจะนำพาชีวิตเขาให้ชนะต่อไปได้เรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม เมื่อมีผู้ชนะก็ต้องมีผู้แพ้ มันเป็นเหมือนเกมที่ผลรวมทั้งหมดเท่ากับศูนย์ ชัยชนะของใครสักคนหนึ่งก็จะเท่ากับความพ่ายแพ้ของใครอีกคนหนึ่งเสมอ
”
เมื่อใครได้เริ่มแพ้ไปแล้วในตอนต้น ผลก็คือเขามีแนวโน้มที่จะแพ้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะสภาพแวดล้อมจากสังคมภายนอกจะจำกัดหนทางชีวิตให้น้อยลง
แน่นอนว่าใครจะชนะหรือแพ้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง แนวคิดแบบโลกสมัยใหม่สอนให้เราปักใจเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ จะผลักภาระเรื่องความสุขและความสำเร็จว่าขึ้นอยู่กับปัจเจกชนหรือตัวเราแต่ละคน แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด ความรับผิดชอบต่อการกระทำของเราเองนั้นคือส่วนหนึ่ง แต่มันมีอีกบางส่วนที่อยู่นอกเหนือไปจากนั้น
ลองนึกภาพตาม หลังจาก The Karate Kid ภาคแรก เราถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวอบอุ่น มีอาหารดีๆ การศึกษาดีๆ เริ่มต้นทำงานต่อเนื่องมาจนมีฐานะมั่นคง มีเงินมากพอที่จะซื้อรถใหม่ จ่ายค่าบริการคาร์แคร์ และกลับมานอนตีพุงดูซีรีส์ที่บ้าน นั่นหมายความว่ามีใครบางคน ที่ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าเขาต้องผ่านชีวิตมาแบบไหนบ้าง จนต้องรับจ้างทำงานล้างรถและขัดรถคันนั้นแทน และกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงว่าอีกไม่นาน การงานของเขาอาจจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้นไปเรื่อยๆ ค่าบริการคาร์แคร์ที่ถูกลงเรื่อยๆ และชีวิตสมบูรณ์พูนสุขของเราขึ้นไปเรื่อยๆ
บนสังเวียนคาราเต้ที่ต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ ในสังคมที่เปรียบเหมือนเกมที่ผลรวมทั้งหมดเท่ากับศูนย์ ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความขาดแคลนจนทุกคนรู้สึกว่าต้องต่อสู้แย่งชิง แต่ละวันเราต้องประชันขันแข่งกันทุกเรื่อง แม้กระทั่งบนหน้าจอเล็กๆ บนฝ่ามือ ในโลกที่เพียงแค่โพสต์อะไรไป แล้วมีคนเห็นน้อย ไลก์น้อย แชร์น้อย เราก็รู้สึกพ่ายแพ้ แล้วเราจะชีวิตอยู่อย่างไร
มีฉากหนึ่งในหนัง The Karate Kid พระเอกถามอาจารย์ว่าเขาเป็นนักคาราเต้ระดับไหน เคยได้สายดำหรือเปล่า? อาจารย์ชี้ไปที่หัวแล้วบอกว่า “คาราเต้อยู่ตรงนี้” แล้วเขาก็ชี้มาที่หัวใจพร้อมกับบอกว่า “คาราเต้อยู่ตรงนี้” แล้วเขาก็ชี้มาที่เอว โดยบอกว่า “คาราเต้ไม่ได้อยู่ตรงนี้” บนสังเวียนชีวิตที่เราทุกคนต้องเผชิญหน้ากันแบบรายวัน รายชั่วโมง หรืออาจจะรายวินาที อาจารย์สอนว่าชัยชนะของแต่ละคนไม่ได้อยู่ที่อันดับชั้นที่เราไต่เต้าขึ้นไปจนได้สายเข็มขัดสีอะไร แต่มันอยู่ที่ความคิดและจิตใจของเราแต่ละคนว่าจะให้ความหมายกับชีวิตของตัวเราเองว่าอย่างไร
ในช่วงแห่งการผลัดเปลี่ยนฤดูกาล พายุฤดูร้อนพัดถล่มกรุงเทพฯ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา วันคืนล่วงไป ฤดูกาลผันผ่าน ดอกตะแบกเบ่งบานตลอดเส้นถนนหน้าบ้าน ร่วงหล่นบนทางเท้ากลายเป็นพรมสีม่วงแซมขาว ตัวเลขอายุเพิ่มมากขึ้นอีกปี ด้วยถ้วยรางวัลและบาดแผลที่ได้รับมาตลอดสามสิบกว่าปี จาก The Karate Kid ในวัยเด็ก ผมเฝ้ารอดูซีรีส์ภาคต่อด้วยความกระตือรือร้น
จุดไคลแม็กซ์ของชีวิตไม่ใช่เสี้ยววินาทีของท่าเตะนกกระเรียนแบบในหนัง มันเพียงแค่ทำให้คนหนึ่งชนะและอีกคนหนึ่งแพ้ แต่อีกทั้งชีวิตที่เหลือหลังจากนั้นคืออะไร ถ้าไม่ใช่การธำรงรักษาจิตวิญญาณของการเคี่ยวกรำตัวเอง ยืนหยัดกับงานที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร
ผมไปรื้อเอาแวกซ์ขัดสีรถกระป๋องนั้นออกมาจากห้องเก็บของ สุดสัปดาห์นี้หลังจากไปพบปะผู้อ่านในงานสัปดาห์หนังสือฯ ผมกะว่าจะล้างและขัดรถด้วยตัวเองอีกครั้ง