วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | เวลาชีวิตยุ่งเหยิงมากๆ บางเรื่องบางสิ่ง เราไม่ต้องไปอะไรกับมันมากนักก็ได้

เวลาชีวิตยุ่งเหยิงมากๆ เจอปัญหามากมายประเดประดัง ผมมักจะนึกถึงหนังเรื่อง The Weather Man หนังเก่าเมื่อปี 2005 ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ไม่ค่อยมีใครเคยดู ทั้งที่มันกำกับโดย กอร์ เวอร์บินสกี้ ผู้กำกับหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Pirates of the Caribbean แถมยังนำแสดงโดยดาราดังอย่าง นิโคลัส เคจ

     ฉากสำคัญในหนังเรื่องนี้มักจะแวบเข้ามาในห้วงคำนึงเสมอเวลาที่เจอเรื่องสับสน ฉากที่พ่อพระเอกสอนเขาตรงๆ ว่า This shit life we must chuck some things. บางเรื่องบางสิ่ง เราไม่ต้องไปอะไรกับมันมากนักก็ได้ มองหาสิ่งที่สำคัญจริงๆ แล้วก็โฟกัสแน่วแน่อยู่กับเรื่องนั้น ไปให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ พวกคนอาวุโสที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากๆ น่าจะเรียนรู้เรื่องนี้มาเหมือนกัน

     พอดีว่าช่วงนี้งานยุ่งไปหน่อย และมีธุระครอบครัวให้ต้องจัดการ ผมเคยเขียนบล็อกเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ไว้เมื่อหลายปีก่อน โดยยังไม่ได้นำไปเผยแพร่ที่ไหนอีก จึงอยากจะขอนำมาลงรีรันในบทบรรณาธิการนี้

 

     The Weather Man เป็นหนังฟอร์มเล็กๆ แนวดราม่า ดูเรื่อยๆ เฉื่อยๆ ปกติแล้วผมไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะดูหนังแบบนี้เท่าไหร่นอกจากว่าจะว่างจริงๆ ไม่มีอะไรทำ แล้วเหลือแผ่นดีวีดีหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายในบ้านที่ยังไม่ได้หยิบมาดู ก็จะลองดูมันซะหน่อย แต่ไปๆ มาๆ กลับชอบมันมากเลยทีเดียว

     ประเด็นหลักใน The Weather Man คือการก้าวผ่าน Mid-life Crisis ของตัวพระเอกในเรื่อง เคจเล่นเป็นคนอ่านข่าวพยากรณ์อากาศ อายุน่าจะประมาณ 30-40 และกำลังมีปัญหาต่างๆ รุมเร้าเข้ามา ทั้งเรื่องงานที่กำลังมีปัญหา น่าเบื่อหน่าย และเขากำลังมองหางานใหม่ที่ดีกว่า โอกาสดีกว่า เงินเดือนมากกว่า เรื่องเมียที่หย่ากันไปแล้ว แต่เขายังคงตามหึงหวงไม่ยอมปล่อย เรื่องลูกชายและลูกสาวที่มีปัญหาเรื่องเพื่อนและการเรียน รวมถึงเรื่องพ่อที่แก่มากแล้ว และกำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง

     The Weather Man จึงเล่น juggle ลูกบอลกับทุกส่วนในชีวิตตลอดเวลา ความเครียดทวีขึ้นเรื่อยๆ กับการที่ต้อง juggle ไปนานๆ แล้วก็เริ่มอ่อนล้าและลนลานมากขึ้น พอลูกบอลลูกหนึ่งเสียทิศทางหรือน้ำหนักไป ก็ยิ่งส่งผลต่อลูกบอลลูกอื่นไปหมด

 

     ผมชอบอารมณ์และท่าทีของหนังเรื่องนี้ ที่แสดงออกต่อเรื่องความเครียดในชีวิตของผู้ชายวัยกลางคน คือไม่ได้แสดงออกมาระทมทุกข์ บ้าคลั่ง หรือดราม่าฟูมฟาย แต่เขาแสดงออกแบบนิ่งๆ แห้งๆ ตลกแบบเย้ยหยันและหน้าตาย เวลาดูไปแล้วก็จะหัวเราะหึๆ เป็นระยะ ไม่ถึงกับหัวเราะก๊ากหรือเศร้าจนน้ำตาไหล ถ้าคุณยังนึกภาพไม่ออก ก็ลองนึกถึงหนังของ บิลล์ เมอร์เรย์ หลายๆ เรื่อง อย่าง Lost in Translation และ Groundhog day ที่เขาชอบเดินเอื่อยๆ ทำหน้านิ่งๆ แล้วก็ไปเจอแต่เรื่องซวยๆ ตลอดเวลา

     สำหรับเคจในหนังเรื่องนี้ สิ่งที่ทำให้หัวเราะหึๆ ได้อย่างน่ารักที่สุด ก็คือตอนที่เขาโดนปาฟาสต์ฟู้ดใส่เป็นระยะๆ แฮมเบอร์เกอร์บ้าง บิ๊กกัลฟ์บ้าง ตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงเกือบจบเรื่อง คนที่ปาเป็นแฟนรายการข่าวพยากรณ์อากาศของเขาที่เห็นเขาเป็นตัวตลก เพราะปกติแล้วข่าวพยากรณ์อากาศเป็นข่าวไม่ค่อยสลักสำคัญอะไร แต่มีให้ดูกันทุกวัน ดูกันแบบผ่านๆ ไม่สนใจ ไม่มีค่า เช่นเดียวกับตัวพระเอกเรานั่นแหละ

     ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้คือการยิงธนู ผู้กำกับคงจงใจจะบอกใบ้ให้คนดูเข้าใจตรงจุดนี้ ด้วยการทำภาพโปสเตอร์หนังเป็นรูปพระเอกสะพายธนู เดินอยู่ท่ามกลางฝูงชนในเมืองใหญ่ ฉากสำคัญของหนังอยู่ตรงที่พระเอกกำลังนั่งปรับทุกข์กับพ่อในรถยนต์

     พ่อเขาบอกว่า This shit life… we must chuck some things.

     หมายความว่า ให้เขาปล่อยวางชีวิตเสียบ้าง ไม่ต้องซีเรียสไปกับปัญหาทุกเรื่อง เผื่อว่าอะไรๆ ก็จะได้ดีขึ้น พระเอกไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อนักหรอก เขาพยายามคาดคั้นให้ลูกสาวคนเล็กมีงานอดิเรกทำ พาลูกไปเล่นสเกตซ์แล้วก็ไม่เวิร์ก ลูกสาวบอกว่าอยากยิงธนู เขาก็พาไปซื้ออุปกรณ์มากมาย แล้วพาไปสมัครเรียน ปรากฏว่าลูกสาวไปเรียนยิงธนูไปหนเดียวแล้วก็เลิก เขาก็ยิ่งหงุดหงิดกับลูกมากขึ้นไปอีก จนท้ายที่สุด เมื่อปัญหาทุกอย่างรุมเร้าจนเขาแก้ไขอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง เมียก็กำลังมีคนรักใหม่ พ่อก็กำลังจะตาย งานใหม่ก็ยังไม่ประกาศผลการสมัคร ลูกชายก็ถูกครูที่โรงเรียนลวนลามทางเพศ ลูกสาวก็ถูกเพื่อนล้อว่าอ้วน ชีวิตชายวัยกลางคนกำลังล่มสลาย

     เขาเลยคว้าอุปกรณ์ยิงธนูของลูกสาวแล้วไปหัดยิงเล่นๆ ยิงไปยิงมาสักพัก เขาค่อยๆ เรียนรู้ปรัชญาจากการยิงธนู

     มันเป็นจริงอย่างที่พ่อเขาว่าไว้ ว่าคนเราควรจะหัดปล่อยวางเสียบ้าง ไม่ต้องไปซีเรียสกับทุกปัญหาหรอก ไม่ควรใช้ชีวิตแบบ juggle ลูกบอลหลายลูกพร้อมกัน แต่ควรจะคิดโฟกัสทีละปัญหา แล้วค่อยๆ แก้ไขไป เหมือนกับการยิงธนู ที่พุ่งโฟกัสไปตรงกลางเป้าจุดเดียว แล้วปล่อยลูกธนูให้พุ่งออกไป ถ้าพลาดเป้าก็ยิงใหม่ มันก็แค่นั้นเอง

     หลังจากงานศพของพ่อ เขาก็ค่อยๆ ปล่อยวางปัญหาอื่นๆ ย้ายที่ทำงานใหม่ ตั้งใจทำงานอ่านข่าวพยากรณ์อากาศของสถานีทีวีใหม่ไปสักพัก แล้วก็ค่อยกลับมาเจอหน้าลูกเมีย อย่างน้อยที่สุดเขาก็พบว่าเขามีความสุขกับการทำงานมากขึ้น จากแต่เดิมที่เขาทำงาพยากรณ์อากาศอยู่แต่ในห้องส่ง โดยมีฉากหลังเป็นบลูสกรีน เอาไว้แปะภาพกราฟิกแผนที่ งานจึงดูน่าเบื่อและแห้งแล้ง เขาเริ่มออกไปทำข่าวพยากรณ์อากาศนอกสถานที่ มีฉากหลังเป็นงานเทศกาลรื่นเริง

 

     สุดท้ายพระเอกบอกว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีใครปาของใส่ผมอีกแล้ว อาจจะเพราะผมถือธนูอยู่ ผมดูแล้วหัวเราะหึๆ เพราะว่าบทหนังเรื่องนี้มันคมคายมากจริงๆ